คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (13)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6704/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหุ้นในเครือเพื่อช่วยเหลือผู้ถือหุ้นและผลกระทบทางภาษี: ผลขาดทุนจากการขายหุ้นไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
บริษัทส. และโจทก์เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีผู้ถือหุ้นและกรรมการชุดเดียวกัน ขณะซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้น บริษัทส.ขาดทุนสะสมมากมายจนทำให้หุ้นของบริษัทส.ไม่มีมูลค่าหุ้นแล้ว แต่โจทก์ก็ยังยอมรับซื้อในราคาหุ้นละ 50 บาท และวิธีการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นในบริษัท ส.ก็กระทำโดยขายหุ้นของโจทก์เป็นการตอบแทนให้แล้ว การซื้อขายหุ้นของโจทก์ ดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อช่วยเหลือผู้ถือหุ้นของบริษัทส. ให้ได้รับเงินลงทุนคืน เพราะบริษัทโจทก์ดำเนินกิจการมีกำไร ทำให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทส.ซึ่งเปลี่ยนมาถือหุ้นของบริษัทโจทก์มีโอกาสได้รับเงินปันผลเป็นการตอบแทนเพื่อชดเชย การลงทุนที่ขาดทุนในบริษัทส. ส่วนบริษัทโจทก์นั้นก็มิได้ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทส. เพราะโจทก์ได้ตอบแทนค่าหุ้นเป็นหุ้นของบริษัทโจทก์ และโจทก์ก็มีกำไร จากการซื้อขายหุ้นโดยซื้อในราคา 50 บาท และขายในราคา 100 บาท ทั้งโจทก์ยังคาดว่าโจทก์จะนำยอดเงินที่อ้างว่า ขาดทุนจากการขายหุ้นที่ซื้อมาให้แก่บริษัทส.มาหักเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ ทำให้ โจทก์กำไรน้อยลงอันมีผลทำให้โจทก์เสียภาษีเงินได้น้อยลงไป โจทก์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะซื้อหุ้นของบริษัทส.เพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทส.ให้ก้าวหน้าและมีผลกำไรทั้งมิได้มุ่งหากำไรจากมูลค่าของหุ้นหรือจากการดำเนินกิจการ ของบริษัทส. โจทก์คงมีความมุ่งหมายเพียงเพื่อจะช่วยเหลือผู้ถือหุ้นของบริษัทส. และในเวลาเดียวกันก็จะนำผลขาดทุนมาหักเป็นรายจ่ายของโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ ขายหุ้นที่ซื้อมาให้บริษัทอ. ซึ่งโจทก์ตั้งขึ้นมาใหม่ในปีเดียวกับที่โจทก์ซื้อหุ้นมาจากบริษัทส.โดยบริษัทอ.ประกอบกิจการและมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับบริษัทส. ทั้งยังตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันด้วย แม้การขายหุ้นให้แก่บริษัทอ.ดังกล่าวทำให้ขาดทุนจริง ผลขาดทุนดังกล่าวก็มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13) ที่โจทก์อุทธรณ์รายจ่ายค่าหุ้นที่โจทก์ซื้อเป็นต้นทุนในรอบระยะ เวลาบัญชีปี 2527 มิใช่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 นั้น แม้โจทก์จะกล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง แต่เมื่อศาลภาษีอากรมิได้กำหนด ประเด็นพิพาทข้อดังกล่าวไว้ในชั้นชี้สองสถานและโจทก์มิได้ โต้แย้งคำสั่งกำหนดประเด็นพิพาทของศาลภาษีอากรดังกล่าวไว้ จึงต้องถือว่าโจทก์ได้สละประเด็นพิพาทในข้อนี้แล้ว อุทธรณ์ ข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและ วิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ใช้วิธีการและชั้นเชิงอันแยบยล ในการช่วยเหลือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทส.และในเวลาเดียวกันก็พยายามทำให้กำไรสุทธิของโจทก์ลดลงเพื่อจะได้เสียภาษีเงินได้ น้อยลง แม้กระนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ยังลดเบี้ยปรับให้โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย นับได้ว่าเป็นคุณ แก่โจทก์มากอยู่แล้ว และแม้ต่อมาในภายหลังโจทก์จะได้ให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบไต่สวนก็ตามก็ไม่สมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้ลดลงอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6693/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากการขายทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาด และประเด็นการขายขาดทุนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
มติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติอ้อย ที่ให้มีการปรับปรุงน้ำตาลทรายที่ขาดเหลือหรือเกินบัญชีได้ตามความเป็นจริง กล่าวคือ สำหรับน้ำตาลทรายดิบหรือโควต้า ข. นั้น ให้มีการปรับปรุงคลาดเคลื่อนให้ตรงต่อความจริงได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของปริมาณการผลิตแต่ละปีส่วนน้ำตาลทรายขาวหรือโควต้า ก. ให้มีการปรับปรุงคลาดเคลื่อนให้ตรงต่อความจริงได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 ของปริมาณการผลิตแต่ละปีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานต่าง ๆ มิให้ผลิตมากหรือน้อยเกินไปจากโควต้าที่ได้รับอนุมัติจนอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ มติดังกล่าวมิใช่มีไว้สำหรับกรณีที่โรงงานน้ำตาลผลิตน้ำตาลทรายได้ปริมาณเท่าใดแล้ว โรงงานน้ำตาลนั้นสามารถทำการปรับปรุงสต๊อคเพิ่มหรือลดจำนวนลงได้ตามอัตราที่มติดังกล่าวกำหนด โจทก์ประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาลทรายจำนวนมากจำหน่ายมาเป็นเวลานานแล้วหากมีการสูญเสียหรือเสียหายของน้ำตาลทรายเกิดขึ้นจริงโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าการสูญเสียหรือเสียหายของน้ำตาลทรายเป็นจำนวนเท่าไร จึงควรที่โจทก์จะต้องบันทึกเป็นหลักฐานไว้เพื่อแสดงถึงการสูญเสียหรือเสียหายของน้ำตาลทรายตามเหตุที่กล่าวไว้ แต่โจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานการสูญเสียหรือเสียหายตามข้ออ้างดังกล่าวได้ จึงไม่อาจรับฟังตามข้ออ้างของโจทก์ โจทก์ได้นำต้นทุนน้ำตาลทรายดิบที่ยืมจากบริษัท น.และคลังสินค้า ย มาเป็นต้นทุนการขาย และนำต้นทุนกากน้ำตาลที่ให้บริษัท น. และบริษัท อ. ยืมมาหักออกจากต้นทุนการขาย ขณะเดียวกันบริษัท น. นำจำนวนเงินตามรายการยืมกากน้ำตาลจากบริษัทในเครือมาเป็นต้นทุนการขาย และบริษัท อ. นำจำนวนเงินตามรายการยืมสินค้ามาเป็นต้นทุนการขาย แสดงว่า การยืมน้ำตาลทรายดิบของโจทก์จากบริษัท น. และคลังสินค้า ย. โจทก์มีเจตนารับโอนกรรมสิทธิ์น้ำตาลทรายดิบเพราะได้นำต้นทุนสินค้า มาบวกรวมกับต้นทุนการผลิตของโจทก์เพื่อนำมาหักกับรายได้ของโจทก์ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่นเดียวกันในการให้ยืมกากน้ำตาลของโจทก์แก่บริษัท น. และบริษัท อ. โจทก์ มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์สินค้ากากน้ำตาลให้แก่บริษัททั้งสอง เพราะ บริษัททั้งสองได้นำยอดยืมสินค้ามาเป็นต้นทุนการขายและมาบวก รวมกับต้นทุนการผลิตเพื่อนำมาหักกับรายได้ของบริษัททั้งสอง ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ซึ่งมิใช่เป็นลักษณะการยืมใช้สิ้นเปลืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพราะเจตนาของผู้ยืมกากน้ำตาลคือบริษัท น. และบริษัท อ.ต้องการจะรับโอนกรรมสิทธิ์สินค้ากากน้ำตาลมาโดยเด็ดขาด เพราะบริษัททั้งสองนำมูลค่าของสินค้าที่ยืมมาบวกเป็นต้นทุนการขายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และในส่วนที่โจทก์นำกากน้ำตาลให้บริษัท น. และบริษัท อ. ยืมไปนั้นโจทก์ก็ได้นำมาเป็นต้นทุนสินค้าเพื่อหักกับรายได้ของโจทก์ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2528 ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอันมีลักษณะเป็นการลดต้นทุนการผลิตกากน้ำตาลจำนวนที่ให้ยืมลง จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องการจะโอนกรรมสิทธิ์สินค้ากากน้ำตาลให้แก่บริษัท น.และบริษัท อ. ไปอย่างเด็ดขาด เพราะมิฉะนั้นแล้วโจทก์คงจะไม่ทำการลดต้นทุนการผลิตกากน้ำตาลตามจำนวนที่ให้ยืมไปลง ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงอาหารพระ ค่าดอกไม้ ธูป เทียนค่าสิ่งของที่ใช้ในการไหว้ในวันตรุษจีนและสารทจีน ค่าสิ่งของทำบุญถวายพระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานบวชงานศพ แม้จะเป็นค่าใช้จ่าย ที่มีผลตอบแทนทางด้านจิตใจตามความเชื่อทางศาสนาก็ตาม ค่าใช้จ่าย เหล่านี้ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว เพราะ มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อการหารายได้ในการดำเนินธุรกิจการค้า ของโจทก์โดยตรง จึงถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำไปหัก เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3) ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าใช้จ่ายการเดินทางท่องเที่ยวของผู้จัดการ พักร้อน เป็นเสมือน โบนัสหรือรางวัลที่จ่ายให้แก่ผู้จัดการโรงงานเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้การทำงานให้แก่โจทก์ แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์กลับนำสืบ ว่าในการเดินทางไปดูงานของผู้จัดการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่าย เดินทางเพื่อไปดูงานเพื่อให้เกิดทักษะในการทำงาน ครั้นอุทธรณ์ ต่อศาลฎีกาโจทก์กลับอุทธรณ์ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเข้าร่วมสัมมนา ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ ว่ากล่าวกันมาในชั้นพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แม้จะฟังได้ว่าบริษัทโจทก์และบริษัท อ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากออกจากกันโดยต่างก็มีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบริษัทแยกออกจากกัน โจทก์จึงไม่สามารถอ้างว่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงิน เนื่องจากโจทก์กู้เงินจากสถาบันการเงินแล้วนำมาค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัท อ. ได้ใช้จ่ายไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์เพราะมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13) ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ให้ผู้ถือหุ้นกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ถือหุ้นสอดส่องดูแลกิจการโจทก์ตามหน้าที่ของผู้ถือหุ้น จึงเป็นกรณีการบริหารงานโจทก์โดยตรงส่วนหนึ่ง โจทก์เห็นว่าย่อมกระทำได้และสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้นั้น อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลภาษีอากรกลางศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ชำระภาษีให้จำเลยครบถ้วนแล้วแต่เจ้าพนักงานประเมินกลับกล่าวอ้างภายหลังว่าโจทก์ชำระไว้ไม่ครบ โจทก์เห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายคำนวณคลาดเคลื่อนเองและประเมินไว้สูงกว่าความเป็นจริง และเอกสารในส่วนที่กล่าวนี้อยู่กับจำเลยทั้งหมด ซึ่งจำเลยอาจใช้ความละเอียดตรวจสอบได้และต่อมาได้มีการยื่นส่งเอกสารดังกล่าวไว้ในสำนวนในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้ง จึงฟังได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง รวมทั้งไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอุทธรณ์ไว้โดยชัดแจ้งอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มนั้น ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ขอมาให้ฟ้อง อีกทั้งเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลางศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย แม้ตามสัญญาซื้อขายที่โจทก์ซื้อโรงงานน้ำตาลมาจากบริษัท พ. จะระบุราคารวมทั้งหมดไว้เป็นจำนวนเงิน 70,000,000 บาท ก็ตาม แต่ก็ได้มีการแยกระบุราคาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพิพาท ไว้ว่ามีราคา 5,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ก็ได้ยอมรับราคา เครื่องกำเนิดไฟฟ้าในราคาดังกล่าว โดยในการทำงบดุลและทำบัญชี ของโจทก์ โจทก์ก็ได้คิดคำนวณค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร ดังกล่าวจากราคา 5,000,000 บาท ลดลงมาเหลือเป็นจำนวนเงิน 4,711,021.55 บาท แต่ต่อมาในเวลาไม่ถึง 1 ปี โจทก์ได้ขาย เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวไปในราคาเพียง 1,000,000 บาท โดยโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าราคาตลาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ดังกล่าวในขณะขายมีราคาเพียงใด เพียงแต่กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวมีสภาพเก่าไม่มีผู้นิยมใช้ อีกทั้ง ต้องนำไปซ่อมแซมก่อนจึงจะนำไปใช้งานได้โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่น สนับสนุน ถือได้ว่าการที่โจทก์ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้แก่ บริษัท อ. ไปในราคา 1,000,000 บาท นั้น เป็นการโอนทรัพย์สินที่มีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีการค้าเกินกำหนด 5 ปี และการลดหย่อนเงินเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
รายจ่ายส่วนลดที่โจทก์อ้าง ผู้ซื้อที่ดินชำระเกินมาเนื่องจากที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินส่วนลดประกอบการลงบัญชีโดยให้ผู้รับส่วนลดเช็นต์ชื่อเป็นหลักฐานประกอบ จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายเองต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) รายจ่ายส่วนตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการ และของบริษัทในเครือรวมทั้งหุ้นส่วนอื่น ๆ เป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เนื่องจากเป็นรายจ่ายของบุคคลอื่น จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ส่วนรายจ่ายค่ารับรองเกินสมควรและรายจ่ายค่าธรรมเนียมที่ดินของบุคคลอื่นไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวมิใช่รายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)(4)(9)(13) และ (18) ตามที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3)(4)(9)(13) และ (18) ซึ่งโจทก์ได้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิโดยไม่ชอบ สำหรับรายจ่ายค่าการกุศลที่เกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธินั้นเมื่อโจทก์ยอมรับว่ารายจ่ายการกุศลเกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิจริงข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวต้องห้ามมิให้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (6) ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินยอมรับว่าค่าจ้างแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ในปี2518 ถึง 2520 นั้น โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ กับเบิกความยอมรับในชั้นศาลว่า โจทก์คงหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนของลูกจ้างประจำในปี 2518 ถึง 2522 และนำส่งให้แก่จำเลย ส่วนค่าแรงงานลูกจ้างรายวันนั้นโจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงยอมให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากค่าแรงงานส่วนนี้ในอัตราร้อยละ 3เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ค่าจ้างแรงงานรายวันเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราดังกล่าวตามความยินยอมของผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงถือได้ว่า โจทก์พอใจตามการประเมินนั้นแล้วโจทก์จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้อีกไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246,247 และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง พ.ศ. 2528 มาตรา 29 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 ไว้เกินไปกว่าจำนวนที่ปรากฎในบัญชีโจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าในปี 2520 และปี 2522แต่เจ้าพนักงานประเมินกลับประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(3) เป็นเงินเบี้ยปรับ 6,405 บาท และเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิเป็นเงินจำนวน 128,034.73 บาท จึงเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีจำนวนภาษีการค้าที่ต้องเสียเนื่องจากเหตุเสียคลาดเคลื่อนน้อยไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522แล้ว ก็ย่อมจะไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอีกเมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้นำรายรับตามที่โจทก์ลงไว้ในสมุดเงินสดไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2522 แก่จำเลยไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินคงตรวจพบแต่เพียงว่า รายรับของโจทก์สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2522 ตามสมุดเงินสดนั้น คลาดเคลื่อนต่อความจริงกล่าวคือรายรับบางส่วนเป็นรายรับของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องนำรายรับที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงรายการในแบบรายการการค้าของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แล้วประเมินภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 หาใช่เหตุที่จะมาประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จึงไม่ถูกต้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 โจทก์จึงอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวให้ดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานประเมินที่อาจจะใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินกำหนดจำนวนเงินเพิ่มตามอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 29 และ 30 ตามลำดับ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าอัตราเงินเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้ใช้ดุลพินิจกำหนดไว้และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเหมาะสมแล้ว หรือหากไม่เหมาะสมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปจำนวนมากและไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนโดยยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากค่าแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ได้ในอัตราร้อยละ 3 เป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบไต่สวนจึงมีเหตุสมควรลดเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 10 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 คงวางเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้นมิได้วางเกณฑ์ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาต่อศาลจะอ้างเหตุตามบทกฎหมายบทอื่นเพื่อชี้ว่าการประเมินภาษีการค้าสำหรับรองระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ดังนั้นโจทก์จึงยกข้ออ้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(1) ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลได้ แม้จะมิได้ยกเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แต่ต้นก็ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ตรี เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือพยานกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้ หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ทั้งมิได้กำหนดให้ทำการประเมินหลังจากออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนแล้วภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่มีประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิบัญญัติว่า การประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (1) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า (1) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้ออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนหรือไม่ การประเมินก็จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฎว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2517 ถึงปี 2521พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ (1) และมิใช่กรณีโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า อันจะทำการประเมินได้ภายในสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4011/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายกิจการ, ส่วนลดหนี้, ค่าใช้จ่ายทางภาษี: การหักค่าใช้จ่ายจากส่วนลดหนี้ที่ชดใช้ตามสัญญา
โจทก์โอนขายกิจการโดยมีข้อสัญญาว่า โจทก์ต้องชดใช้หนี้ของลูกหนี้การค้าทั่วไปที่โอนไปแล้วเรียกเก็บเงินไม่ได้ให้ผู้รับโอนการที่โจทก์ออกใบลดหนี้ของลูกหนี้การค้าทั่วไปที่สงสัยว่าจะสูญให้ผู้รับโอน จึงเป็นการปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญา มิใช่การจำหน่ายหนี้สูญ จึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิได้ รายจ่ายลดค่าเช่าซื้อที่โอนขาย เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นหนี้ค้างชำระ และหนี้ที่จะถึงกำหนดในอนาคตเป็นการคิดส่วนลด เป็นการเหมาเพราะโจทก์เลิกกิจการส่วนลดนี้จึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ส่วนลดสำหรับหนี้ที่เรียกเก็บไม่ได้ที่โจทก์ต้องชดใช้เป็นการปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญา จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี: ดอกเบี้ยเช็คลดหน้าและค่าออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เพื่อกิจการโดยเฉพาะ
โจทก์ประกอบการค้าดำเนินธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปได้ซื้อเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นจากบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายให้แก่ลูกค้า โดยบริษัท อ. ได้เครดิตชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ประมาณ 4-6 เดือน การที่บริษัท อ.ได้รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าจากโจทก์แล้วไม่รอให้เช็คถึงกำหนดวันที่สั่งจ่ายเสียก่อนกลับนำเช็คไปขายลดให้แก่สถาบันการเงินจึงเป็นรายจ่ายของบริษัท อ. มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำรายจ่ายค่าดอกเบี้ยในการขายลดเช็คของบริษัท อ. มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (13) การออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ผู้ซื้อสินค้าแต่เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงรูปแบบของสินค้า การที่โจทก์ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าโดยจ่ายค่าออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าให้บริษัท อ.ผู้ผลิต มิใช่ข้อผูกพันที่โจทก์ต้องปฏิบัติในฐานะผู้ซื้อแต่เป็นกรณีที่โจทก์จะจ่ายให้หรือไม่สุดแต่ใจของโจทก์ฝ่ายเดียวจึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นและเป็นรายจ่ายมิใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4082/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นภาษีอากร: การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล, ค่าใช้จ่ายต้องห้าม, เงินเพิ่ม, และการพิสูจน์หลักฐานทางบัญชี
ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นชอบด้วยนั้น อาจถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ กรมสรรพากรมีสิทธิจะได้รับชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อนมิฉะนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรที่กล่าวมาแล้วก็จะไร้ผล คดีนี้โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลซึ่งยังไม่ถึงที่สุด กรมสรรพากรจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ที่กำหนดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันยื่นรายการมิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องให้ชำระภาษี ในการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบภายในกำหนดเวลาเท่าใด และสิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ดังนั้น แม้จะแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบเกิน 5 ปี นับแต่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินก็ไม่ทำให้การประเมินที่ผ่านมาแล้วเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ ในการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โจทก์ได้แบ่งจ่ายให้แก่ผู้อื่นตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์บอก ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าผู้มีเงินได้ค่าลิขสิทธิ์จริงคือผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนผู้ที่มารับเงินเพียงแต่เป็นบุคคลที่เจ้าของลิขสิทธิ์บอกให้โจทก์จ่ายจึงถือได้ว่าเป็นเงินได้ที่โจทก์จ่ายให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว โจทก์ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนเช่นจ่ายเงินได้ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว ไม่ชอบที่โจทก์จะคำนวณหักภาษีณ ที่จ่ายหลังจากแบ่งค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลต่าง ๆ ที่เจ้าของลิขสิทธิ์บอกให้โจทก์จ่ายแล้วซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไม่ครบถ้วน ทั้งนี้เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นถ้ามีเงินได้มากขึ้นก็จะต้องเสียภาษีในอัตราเพิ่มมากขึ้น แม้โจทก์จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่กฎหมายกำหนดให้โจทก์ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีณ ที่จ่าย และนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อโจทก์หักและนำส่งไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง โจทก์ก็ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ขาดตามมาตรา 54 ค่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสารตามหลักฐานปรากฏว่าโรงพิมพ์ ก.ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นผู้ซื้อ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (13) ค่ากระเช้าดอกไม้ ค่าช่วยงานแต่งงาน ค่าช่วยงานบวชนาค และค่าช่วยงานศพ ล้วนมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา และเป็นการส่วนตัวของผู้มีอำนาจจ่ายเงินนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ในทางการงานหรือสังคมของตนเอง และมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้ในการดำเนินธุรกิจการค้าของโจทก์โดยตรงจึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) รายจ่ายค่าซ่อมรถซึ่งโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าเป็นค่าซ่อมรถของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม มาตรา 65 ตรี (13) ค่ารับรองและค่าพาหนะซึ่งล้วนแต่เป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวของผู้มีอำนาจจ่ายเงินยิ่งกว่าประโยชน์ทางการค้าของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม มาตรา 65 ตรี (3) ค่าขนส่ง ค่านายหน้า และค่าจ้างทำของ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (18) ค่าซ่อมแซมพื้นห้องที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าโจทก์ได้ซ่อมแซมพื้นห้องของโจทก์จริง จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม มาตรา 65 ตรี (13) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ผ่อนผันลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมายจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะงดเงินเพิ่มให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6501/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อสินค้าเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร การประเมินภาษีต้องไม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง
โจทก์กู้เงินจากบริษัทในเครือของผู้ขายในอัตราร้อยละ 90 ของราคาสินค้าเพื่อชำระค่าสินค้า การที่โจทก์มีเงินแล้วไม่ชำระหนี้เงินกู้หรือการที่โจทก์เอาเงินที่มีอยู่ในบริษัทในเครือใช้โดยไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทน หาทำให้ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์มาแต่ต้น กลายเป็นมิใช่รายจ่ายดังกล่าวไม่ โจทก์จึงนำดอกเบี้ยมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ หาใช่รายจ่ายซึ่งต้องห้ามตาม ป.รัษฎากรมาตรา 65 ตรี(13) ไม่และไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณหาดอกเบี้ยจากเงินที่โจทก์ให้บริษัทในเครือใช้ในอัตราเท่ากับที่โจทก์ต้องเสียไป แล้วนำมาหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระเพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายของโจทก์ลดลงและเงินได้สุทธิของโจทก์เพิ่มขึ้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5251/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี: การตรวจสอบบัญชี, ค่าใช้จ่ายที่หักได้, และการโต้แย้งการประเมิน
โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย อ้างว่าเสียไว้เกินเจ้าพนักงานประเมินต้องตรวจสอบว่าโจทก์ชำระภาษีเกินหรือไม่ผลจากการตรวจสอบจึงพบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงถือได้ว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจออกหมายเรียกโจทก์ไปไต่สวนได้ตามความในมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์อ้างว่าได้รับยกให้ที่ดินที่ติดจำนอง 1,000,000 บาท โจทก์ไถ่ถอนจำนองและต้องชำระดอกเบี้ยจำนวนหลายแสนบาท จะต้องถือเป็นรายจ่ายนำไปหักจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า โจทก์เสียดอกเบี้ยจริงหรือไม่และจำนวนเท่าไรเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบที่จะฟังว่าไม่มีดอกเบี้ยที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายของโจทก์ โจทก์และบริษัท ส. ต่างเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน เงินที่โจทก์นำไปชำระแก่ธนาคารแทนบริษัท ส. มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์ จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ของโจทก์มิได้ตาม มาตรา 65 ตรี(13) ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินประเมินรายได้ของ โจทก์ในการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์โดยวิธีสุ่มตัวอย่างไม่ชอบ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ประเด็นนี้ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้น โต้แย้งการประเมินต่อศาลได้อีก.