คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันบุคคลภายนอก-การฉ้อฉล-การซื้อขายที่ดิน
การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยโจทก์มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ที่ดินเป็นเหมืองผลิตถ่านหิน อันเป็นกิจการภายในอำนาจหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์มีอำนาจ กระทำการซื้อที่ดินได้โดยลำพังไม่จำต้องออกเป็นกฎหมายเวนคืน แม้บริเวณที่ที่ดินที่จะซื้อตั้งอยู่ได้เคยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขต ที่ดินที่จะเวนคืน และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้หมดอายุไปแล้วก็ตาม หามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะซื้อที่ดินไม่ เพราะแม้ตาม พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ มาตรา 21 บัญญัติว่าเมื่อมีความจำเป็น ที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในระบบการผลิต ขยายระบบการผลิตหรือการจำหน่ายพลังงาน ให้ดำเนินการเวนคืน ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ก็ตามแต่มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้ความหมายของคำว่า การเวนคืนว่าหมายถึง การบังคับเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ และตามมาตรา 5 บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งรัฐต้องการ เพื่อกิจการใด ๆ อันจำเป็นเพื่อการเป็นสาธารณูปโภค... ฯลฯ ... หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ... ฯลฯ ... เมื่อมิได้ตกลงใน เรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้เวนคืนตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงมิได้เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ที่บังคับโดยเด็ดขาดว่า โจทก์จะได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพียง ทางเดียวด้วยการออกกฎหมายเวนคืนการที่จะออกกฎหมายเวนคืนที่ดินจะ กระทำแต่เฉพาะในกรณีที่มิได้มีการตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็น อย่างอื่นเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมากลับไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2เพราะได้ราคาสูงกว่าและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลอย่างรีบร้อนและมีพิรุธโดยมีเจตนาไม่สุจริตสมรู้กันทำการฉ้อฉลโจทก์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะได้รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1เสียเปรียบ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลตกลงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในอีกคดีหนึ่งนั้นไม่ใช่คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงไม่อาจใช้ยันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ดังนี้ ไม่จำต้องเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาตามยอมในคดีดังกล่าว.