พบผลลัพธ์ทั้งหมด 98 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9015/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมอบอำนาจให้รับฟังคำพิพากษาแทนโจทก์: อำนาจยังคงอยู่จนกว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น แม้มีการเลื่อนนัด
ใบมอบฉันทะของโจทก์ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ว. ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาลในคดีนี้โดยมิได้ระบุว่าให้ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในวันเวลาใด การมอบฉันทะดังกล่าวก็เพื่อให้ ว. มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แทนโจทก์จนเสร็จการนั้นเอง ตราบใดที่ยังไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว. ก็ยังมีอำนาจฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อยู่จนกว่าโจทก์จะถอนหรือยกเลิกใบมอบฉันทะดังกล่าว การที่ ว. มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 16.15 นาฬิกา หลังจากที่ศาลมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 10 นาฬิกา ให้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นวันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา และออกหมายจับจำเลยรวมทั้งปรับนายประกันแล้วเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบฉันทะจากโจทก์ มิใช่กระทำโดยพลการตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ ว. ฟังก็ต้องถือว่าได้อ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้โจทก์ฟังโดยชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8872/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่มาศาลตามนัด แม้มีเหตุพนักงานอัยการป่วย ศาลไม่ยกฟ้อง เหตุโจทก์ละเลยการมอบหมายสำนวน
โจทก์เคยขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยอ้างเหตุไม่มีพยานมาศาล เพราะโจทก์ยังไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นอาศัยหลักประโยชน์แห่งความยุติธรรมอนุญาตให้เลื่อนคดี เมื่อถึงวันนัดซึ่งโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ก็ยังไม่มาศาลอีก โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน นอกจากนี้ศาลชั้นต้นได้ให้เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกโจทก์หลายครั้งตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา จนถึง 11.50 นาฬิกา และยังให้เจ้าหน้าที่ติดตามโจทก์ตามห้องพิจารณาต่าง ๆ อีกตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกา ถึง 11.50 นาฬิกา ทั้งยังได้โทรศัพท์แจ้งโจทก์ถึงเหตุที่ไม่มาศาลเพื่อให้โจทก์ดำเนินการอย่างไรต่อไปกับคดีนี้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด แต่โจทก์ก็ยังไม่มาศาล แม้โจทก์จะอ้างว่า ก. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนเจ็บป่วยซึ่งโดยพยาธิสภาพของ ก. ทำให้หลงลืมที่จะมอบสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการคนอื่นดำเนินการแทน กรณีเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องมอบหมายสำนวนให้พนักงานอัยการผู้อื่นดำเนินคดีแทน ซี่งสามารถกระทำได้ เพราะวันดังกล่าว ก. ยังมาทำงานที่สำนักงานอัยการอยู่ ถ้าป่วยเจ็บจนถึงขนาดไม่สามารถมาศาลเพื่อสีบพยานโจทก์ได้ ก็น่าจะมอบหมายให้พนักงานอัยการผู้อื่นทำหน้าที่แทนหากกลับบ้านไปพักรักษาตัว แต่ก็หาได้กระทำไม่ อันเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลเพราะไม่สนใจต่อเวลานัดของศาลและไม่ได้มาศาลตามกำหนดนัด หาใช่ไม่ได้มาศาลเพราะมีเหตุอันสมควรไม่ จึงไม่มีเหตุจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แม้ความผิดบางประเภทไม่อาจยอมความได้ แต่โจทก์สามารถถอนฎีกาได้หากมีการตกลงกัน
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ บริษัท ม. และบริษัท ข. ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์ บริษัท ม. บริษัท ข. และจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้องไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อกันอีก ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถอนฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารกับถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8684/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่นำเงินค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ ทำให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 229 เป็นบทบังคับทั้งคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์มิได้นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลแล้วศาลก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที เพราะมิใช่เรื่องของการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ซึ่งศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ การที่ศาลอุทธรร์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 229
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีใหม่และการสิ้นสุดสิทธิอุทธรณ์ฎีกาภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 19)
โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ภายหลังจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 19)ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 207 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 199 เบญจ มาใช้บังคับโดยอนุโลม คดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8523/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชิงทรัพย์โดยใช้กำลังทำร้ายร่างกายจนผู้เสียหายหมดสติ ไม่เข้าข่ายความผิดตาม ม.340 ตรี
การที่จำเลยกับพวกนำรถจักรยานยนต์มาที่บริษัทผู้เสียหายในครั้งแรกนั้นก็เพื่อให้ผู้เสียหายจัดไฟแนนซ์รถจักรยานยนต์ให้ จึงมิใช่เป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำความผิด ต่อมาหลังจากจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายแล้วล้วงเอาเงินในกระเป๋าเสื้อของผู้เสียหายไป จากนั้นจำเลยใช้มีดแทงหลังกับจับศีรษะผู้เสียหายกระแทกกับโถส้วมหลายครั้งจนผู้เสียหายหมดสติไป การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8445/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำหน่ายยาเสพติดแม้ยังไม่รับเงินก็เป็นความผิดฐานจำหน่ายได้
การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สิบตำรวจโท ธ. เป็นการขาย จ่ายแจก แลกเปลี่ยนให้ ตามความหมายของคำว่า "จำหน่าย" ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ อันเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว แม้สิบตำรวจโท ธ. จะยังมิได้ชำระเงินให้แก่จำเลยตามที่ตกลงกันก็เป็นเพียงยังมิได้ชำระราคาค่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8380/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีแพ่งหลังคดีอาญา: ผลกระทบจากการพิพากษาถึงที่สุดและการซื้อขายสินค้า
แม้ในวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก คดีของโจทก์จะยังถือว่าไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เนื่องจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแขวงพิษณุโลกเป็นคดีอาญาฐานยักยอกก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลแขวงพิษณุโลกให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุด คดีของโจทก์จึงต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสี่ ซึ่งอายุความในการฟ้องคดีแพ่งของโจทก์จะต้องเป็นไปตามบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. เมื่อนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นการซื้อขายสินค้า อายุความที่โจทก์เรียกร้องค่าสินค้าหรือส่งมอบสินค้าคืน จึงมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) โจทก์ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งนับจากระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองรับสินค้าไปจากโจทก์และครบกำหนดส่งสินค้าที่เหลือคืน เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ