คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 164 เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 71 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการรับรองตั๋วแลกเงิน: สัญญาผูกพันเกิดจากคำขอรับรองและเจตนาของเจ้าหนี้ ทำให้มีอายุความ 10 ปี
เจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับถัดจากวันที่ตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 แต่คำขอของลูกหนี้ที่ 3 ที่ขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงินในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 และ วันที่ 5 ธันวาคม 2534 กำหนดใช้เงินในวันที่ 7 มกราคม 2535 วันที่ 19 มกราคม 2535 และ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2535 ให้แก่บริษัทซ. ซึ่งแต่ละฉบับทำขึ้นในวันเวลาเดียวกันกับที่ลูกหนี้ได้ออกตั๋วแลกเงิน แม้ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อแต่ฝ่ายเดียว ก็ถือได้ว่าเป็นคำเสนอขอให้เจ้าหนี้ รับรองและยินยอมต่อเจ้าหนี้ ให้เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ ตามจำนวนเงินตามตั๋วแลกเงินที่ได้สั่งจ่ายแต่ละฉบับตามคำขอให้เจ้าหนี้รับรองตั๋วแลกเงิน และลูกหนี้ยังได้เสนอให้สิทธิต่อเจ้าหนี้จะยอมชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้จนครบถ้วน ถ้าหากเรียกคืน ตามตั๋วแลกเงินที่ยังขาดอยู่พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ย นอกเหนือจากตั๋วแลกเงิน ตลอดจนลูกหนี้ยินยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายใดๆที่เจ้าหนี้ต้องจ่ายเงิน ไปเกี่ยวกับการที่เจ้าหนี้ต้องรับผิดแทนลูกหนี้ ทั้งยังยินยอมให้เจ้าหนี้หักเงินจากบัญชีเงินฝาก ของลูกหนี้ ถ้ามีเงินฝากอยู่กับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้า ครั้นเมื่อครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันออกตั๋วแลกเงินแต่ละฉบับเจ้าหนี้ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทซ. ตามที่ลูกหนี้ ขอให้เจ้าหนี้จ่ายเงิน ถือได้ว่าเจ้าหนี้ตกลงหรือยินยอมปฏิบัติตามคำขอของลูกหนี้ เป็นการสนอง ความประสงค์ของลูกหนี้แล้ว จึงเกิดเป็นสัญญาผูกพันกันตามที่ตกลงนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะปฏิเสธว่าคำขอให้รับรองตั๋วแลกเงินของลูกหนี้ ไม่มีความผูกพันหรือเป็นเพียงเอกสารประกอบ การขอให้รับรองตั๋วแลกเงินโดยสิ้นความผูกพันไปพร้อมกับอายุความ 1 ปี ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่ได้ สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำขอให้รับรอง ตั๋วแลกเงินที่ลูกหนี้ได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) หรือมาตรา 193/30(ใหม่)คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1) (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2541)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเครื่องหมายการค้า: การใช้ก่อนจดทะเบียน & อายุความฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียน
แม้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบด้วยอักษรโรมันสีขาวคำว่า "Kyuta" อยู่ในกรอบวงรีวางอยู่เหนือกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งมีเส้นทึบตามแนวกรอบบริเวณเส้นทึบด้านล่างมีอักษรโรมันสีขาวคำว่า "KYUTACHEM.," บริเวณกลางของกรอบสี่เหลี่ยมมีกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวซ้อนอยู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมันสีขาวคำว่า "Kyuta" อยู่ในกรอบวงรี แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยอาจทำให้สาธารณชนทั่วไปที่มิได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนสับสนหลงผิด เมื่อเห็นคำว่า "Kyuta" ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้แม้ว่าโจทก์จะได้จะทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก อันได้แก่ เคมีวัตถุสำหรับใช้ในการหัตถกรรมการถ่ายรูปหรือการค้นหาความรู้ทางฟิสิกส์ และใช้เป็นยากันผุเสีย ส่วนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก อันได้แก่ วัตถุที่ใช้เป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องปรุงอาหารก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2523 กับสินค้าเคมีภัณฑ์ประกอบอาหารและจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตอาหารเพื่อนำไปปรับสภาพอาหารให้คงอยู่ได้นาน อันมีลักษณะเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่มีลักษณะครอบคลุมถึงสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 ด้วย และเมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี2529 แล้วก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมา ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" กับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 มาก่อนจำเลยหลายปี โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ตามคำขอจดทะเบียน สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 ดีกว่าจำเลย โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" มาตั้งแต่ปี2523 เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2529 โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมา และโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก เมื่อโจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าวันที่ 24 มีนาคม 2530 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ จำเลยโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta"ดีกว่า อันเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม หรือมาตรา 193/30 ใหม่ ซึ่งกำหนด10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่มนับอายุความขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม หรือมาตรา 193/12 ใหม่ คือนับตั้งแต่วันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้จัดการสหกรณ์ต่อความเสียหายของสินค้า และขอบเขตความรับผิดของประกันจำนอง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างเป็นผู้จัดการของโจทก์ตามสัญญาจ้างผู้จัดการ โดยสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1รับชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินต่อโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ระหว่างจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์ สินค้าโจทก์ขาดบัญชีไป จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีดังกล่าวตามข้อตกลง เป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามข้อตกลงที่มี ข้อตกลงที่มีต่อกันตามสัญญาที่ทำกันไว้ และอายุความในกรณีนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องมีอายุความ10 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่าสินค้าโจทก์ขาดบัญชีตามมาตรา 169 เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ สัญญาจ้างฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างได้รับทราบและตกลงที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการตามระเบียบข้อบังคับ ของร้านสหกรณ์และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะ มอบหมายให้ ถ้าผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นต่อผู้จ้างไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้รับจ้างยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆ โดยสิ้นเชิงให้แก่ผู้จ้างตามที่ผู้จ้างจะเรียกร้อง และข้อบังคับของ โจทก์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการระบุว่า ผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับบรรดากิจการค้าของสหกรณ์ รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของสหกรณ์ จัดการวางระเบียบเกี่ยวกับการปกครองและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรทั้งนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ตรวจตราดูแลสถานที่ สำนักงานร้าน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาสินค้าของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย ดังนั้น เมื่อสินค้าของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ขาดบัญชีไปและไม่ปรากฏว่าที่สินค้าขาดบัญชีไปดังกล่าวเกิดจากการ กระทำของผู้อื่น ย่อมเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการ ทำให้สินค้าของ โจทก์ที่อยู่ในความครอบครองสอดส่องดูแลของตนขาดบัญชีไปโดยประมาทเลินเล่อและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่จำเลยที่ 1 อาจเป็นผู้ก่อในวงเงินจำนวน 200,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนจำกัด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าวงเงินที่จำนองที่ดินเป็นประกัน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทน และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบนั้น ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8339/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแย้งกรณีสินค้าไม่ตรงตามสัญญา ไม่ใช่ความรับผิดชำรุดบกพร่อง อายุความ 10 ปี
การเรียกคืนเงินส่วนที่ชำระเกินในกรณีโจทก์ส่งมอบ สินค้าไม่ถูกต้องตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายเป็น เรื่องที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริง แห่งมูลหนี้ หาใช่เป็นเรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งมีอายุความ 1 ปี ไม่ และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติ เรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะอายุความจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย - การผิดสัญญา - การซื้อสินค้าจากผู้อื่น - ค่าปรับ - อายุความ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์อันเป็นอุปกรณ์ของโรงแยกก๊าซจำนวน 3 กลุ่ม รวม 499 รายการตามรายการละเอียดแนบท้ายสัญญา รวมราคาทั้งสิ้น 3,788,109 บาทตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยส่งมอบผลิตภัณฑ์ไม่ครบถ้วนขาดส่งจำนวน 160 รายการ คิดเป็นเงิน 1,122,478 บาทตามสำเนาบันทึกข้อความการตรวจรับพัสดุเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์ได้จัดให้มีการประกวดราคาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าจำนวน 160 รายการอันเป็นผลิตภัณฑ์ ชนิด คุณสมบัติลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่จำเลยมิได้ส่งมอบ และโจทก์ได้ตกลงจัดซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ชนะการประกวดราคา ตามสำเนาสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าเอกสารท้ายฟ้องรวม 119 รายการ เป็นเงิน 8,824,320 บาท และมีคำขอบังคับ เอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องซึ่งปรากฏรายละเอียดแห่งสินค้ามาด้วย จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมไม่จำต้องบรรยายว่าสินค้าที่โจทก์ซื้อมาใหม่เป็นสินค้าอะไรบ้าง และเป็นสินค้าชนิดและประเภทเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ เหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หมายถึง เหตุใด ๆอันจะเกิดขึ้นหรือจะให้ผลพิบัติไม่มีใครอาจป้องกันได้ แต่การ ทำสัญญาขายสินค้าที่มีการแจ้งความประกวดราคา เป็นหน้าที่ ของผู้เสนอราคาโดยตรงที่จะต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตน โดยจะต้องพิจารณาด้วยตนเองว่าสินค้าตามใบแจ้งความประกวดราคา นั้นตนเองสามารถจะจัดหามาและสู้ราคาได้หรือไม่ เมื่อจำเลย ผู้เสนอราคาได้พิจารณารายละเอียดของสินค้าตามที่โจทก์แจ้งความประกวดราคามานั้นว่าสามารถที่จะจัดหามาได้ และเมื่อโจทก์สนองรับซื้อแล้วซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์และจำเลยจะทำ สัญญากัน จำเลยก็ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ครั้งแรกจำนวน 322 รายการ แล้วต่อมาจำเลยยังลงลายมือชื่อในสัญญาตาม สัญญาซื้อขาย ซึ่งมีรายละเอียดของสินค้าระบุไว้ชัดเจนและ เป็นเวลาภายหลังจำเลยส่งสินค้าครั้งแรกถึง 4 เดือนเศษจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะอ้างว่าไม่สามารถส่งสินค้าด้วยเหตุสุดวิสัยหรือสำคัญผิดในคุณสมบัติของสินค้า แม้โจทก์จะทำสัญญากับจำเลยล่าช้า แต่เมื่อจำเลยยอมลงลายมือชื่อในสัญญาอันเป็นการรับรองว่าสัญญาถูกต้อง จำเลยย่อมไม่อาจยกข้อบกพร่องของสัญญาขึ้นมาอ้างต่อไปอีกได้ และแม้โจทก์จะยอม รับสินค้าที่จำเลยส่งมา 2 ครั้งบางรายการ โดยส่งมาก่อน และหลังทำสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์แสดงเจตนาว่าสินค้าที่ จำเลยยังไม่ส่งมาเกิดจากข้อบกพร่องของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่า โจทก์ยอมรับว่าสินค้าที่จำเลยยังมิได้ส่งมาเกิดจากเหตุ สุดวิสัย ดังนี้ สัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย ตามหนังสือขอให้ยกเลิกสัญญาบางส่วนและขอให้ชำระหนี้ที่จำเลยมีถึงโจทก์ มีใจความว่า ขอให้โจทก์ยกเลิกสัญญาบางรายการที่ไม่อาจจัดส่งให้ได้อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยแต่เมื่อตามสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน ไม่ปรากฏข้อความให้จำเลยมีสิทธิยกเลิกสัญญาด้วยเหตุเช่นนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยและโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังนี้ จำเลยจะบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยยกขึ้นมาเองโดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยหาได้ไม่ เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจึงจะนับเวลาที่โจทก์ต้องจัดซื้อสินค้าที่จำเลยขาดส่งภายใน 6 เดือนตามสัญญา นับแต่จำเลยบอกเลิกสัญญาหาได้ไม่ และเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการประกวดราคาจัดซื้อสินค้าที่จำเลยผิดนัดไม่ได้ส่งซึ่งไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาข้อดังกล่าว ที่ตกลงกันว่าหากจำเลยส่งสินค้าไม่ครบทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์มีสิทธิริบหลักประกันกับเรียกค่าเสียหายในส่วนที่จัดซื้อสินค้าจากบุคคลอื่นเป็นราคาเพิ่มขึ้น โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีจำเลยผิดสัญญาซื้อขายไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา มิได้ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดกรณีส่งมอบสินค้าให้โจทก์ชำรุดบกพร่อง ดังนี้ จะนำอายุความ 1 ปี กรณีข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474มาใช้บังคับหาได้ไม่ และกรณีเรียกร้องให้จำเลยรับผิดไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในกรณีเช่นนี้จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (193/30 ใหม่) ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังที่จำเลยบอกเลิกสัญญานานถึง 5 เดือน เป็นการประมาทเลินเล่อไม่ใช้สิทธิภายในเวลาอันสมควรย่อมหมดสิทธิที่จะร้องเรียกเอาแก่จำเลยนั้นเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในข้อนี้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่มีประเด็นนำสืบ ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เลือกใช้สิทธิริบหลักประกันตามสัญญาข้อ 8 แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยในอัตราร้อยละ 0.2 ตามสัญญาข้อ 9 อีกนั้น เมื่อปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การและมิได้ประเด็นพิพาทจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ต้องยื่นภายใน 3 ปี ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร แม้มีบทบัญญัติอื่น
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2532โจทก์ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 3 เตรสแห่ง ประมวลรัษฎากร เมื่อมาตรา 3 เตรส บัญญัติให้นำประมวลรัษฎากรมาตรา 63 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการและกำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมการขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 3 เตรส แม้ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ก็ต้องอยู่ในบังคับมาตรา 63 ดังกล่าว กล่าวคือ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษีเกินไปในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่30 มิถุนายน 2532 ประกาศกระทรวงถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวนเงิน 2,384,806.31 บาท แต่โจทก์ประกอบการมีผลขาดทุนสุทธิ 6,137,459.23 บาท อันเป็นผลให้ไม่มีเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย จำนวนดังกล่าวคืนโดยโจทก์ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2532 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งปีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย กล่าวคือ ต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2535 แต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2536 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายแก่โจทก์ เมื่อกรณีของโจทก์มีบทบัญญัติมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติให้นำกำหนดเวลาขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 มาใช้บังคับโดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำอายุความหรือกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม) หรือมาตรา193/30(ปัจจุบัน) และประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรีซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้กับกรณีทั่วไปมาใช้บังคับได้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำฟ้องและคำให้การจำเลยประกอบข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลเพียงพอต่อการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทแล้วการที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงชอบที่จะกระทำได้ และหามีผลทำให้คำวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทไม่เป็นไปโดยเที่ยงธรรมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1744/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินราคาศุลกากร ต้องใช้ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ไม่สามารถอ้างอิงราคาสูงสุดภายใน 3 เดือนได้
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้ากรณีที่โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่ในคดีนี้ที่โจทก์ได้ชำระภาษีอากรเฉพาะตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่ม โจทก์ยังมิได้ชำระแต่ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่อาจต้องชำระเพิ่มเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินเพิ่มในภายหลังอันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112ได้บัญญัติไว้ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรเพิ่ม โจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน การชำระอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคห้า การที่โจทก์ชำระอากรเพิ่มให้จำเลยตามที่เรียกเก็บเช่นนี้แม้โจทก์จะทราบดีอยู่ก่อนยื่นใบขนสินค้าแล้วว่าอาจต้องถูกประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและต้องชำระอากรเพิ่มขึ้นและมิได้โต้แย้งหรือได้แย้งหรือได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อการขอคืนอากรของโจทก์ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มภายหลังแม้จะมิได้ฟ้องขอคืนภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และตามพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามมาตรา 164 เดิม และมาตรา 193/30 ใหม่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าของโจทก์โดยอาศัยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดเดียวกันโดยใช้ราคาสูงสุดที่มีผู้นำเข้าก่อนรายของโจทก์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนั้น แม้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งทั่วไปของจำเลยที่ 8/2530 และ 47/2531 แต่หลักเกณฑ์ตามคำสั่งดังกล่าวก็เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่านั้นหาเป็นเกณฑ์ตายตัวว่าราคาสินค้าที่นำเข้าจะต้องมีราคาอันแท้จริงตามนั้นไป ในระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าวราคาสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางต่ำลงก็ได้ แต่จำเลยกลับถือเอาราคาสูงสุดเป็นเกณฑ์ประเมิน ราคาที่จำเลยนำมาเปรียบเทียบและประเมินตามคำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามความหมายแห่งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9186/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ: ราคารถส่วนที่ขาด, ค่าขาดประโยชน์, ค่าติดตามยึดรถ มีอายุความ 10 ปี
โจทก์ฟ้องเรียกราคารถส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งไม่ใช่ค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้ชำรุดบุบสลายอันจะต้องนำอายุความ6 เดือน ในลักษณะเช่าทรัพย์มาใช้บังคับ ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถก็เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถระหว่างที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาและภายหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วก่อนที่จะยึดรถคืนมาได้ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและสำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถคืนเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและไม่ส่งมอบรถคืน การฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นล้วนมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าจากตัวแทน และการโต้แย้งสิทธิโดยการทวงถามหนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้มอบสินค้าให้จำเลยไปขายแทนโจทก์ จำเลยก็รับว่าได้รับสินค้าของโจทก์ไว้ขายจริงดังนี้ ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นเรื่องตัวแทนโจทก์ในฐานะตัวการฟ้องเรียกเงินที่จำเลยได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนของจำเลย ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษจึงต้องใช้อายุความทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้อง ซึ่งมีกำหนด 10 ปี บังคับ เมื่อนับตั้งแต่โจทก์มอบสินค้าให้จำเลยไปขายแทนจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์มิได้เรียกร้องให้จำเลยคืนค่าสินค้าที่ฝากให้จำเลยขายเสียก่อนจำเลยจึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์นั้น ข้อนี้แม้จำเลยมิได้ให้การไว้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสองและศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยให้ได้ปัญหานี้โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบเงินค่าสินค้าที่ฝากให้จำเลยขายส่วนที่ยังเหลืออยู่ภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามหนังสือนั้นให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจนำคดีนี้มาฟ้องจำเลยให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ กรณีธนาคารจ่ายเงินผิดพลาด
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้จากการกระทำละเมิดและการผิดสัญญาฝากทรัพย์เพราะจ่ายเงินของโจทก์ให้ผู้อื่นไปโดยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคารอันเป็นอาชีวะของจำเลย จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม ที่ใช้ขณะเกิดเหตุ
of 8