พบผลลัพธ์ทั้งหมด 71 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินอากรขาเข้าเพิ่มเติมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียภาษีมีสิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่ได้ประเมินจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เงินประกันค่าอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้การฟ้องแย้งเรียกค่าอากรขาเข้าคืนจึงมิใช่การฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 การที่จำเลยเรียกคืนเงินอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไปตามที่โจทก์ประเมินและแจ้งให้ชำระเพิ่มนั้น มิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสุดท้าย แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินและแจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) และการนับอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปอายุความสิทธิเรียกร้องเงินค่าอากรขาเข้าคืนของจำเลยจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 ที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยนำคดีมาฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535ยังไม่พ้น 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เรียกเก็บไปในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสุดท้าย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ทวงถามและโจทก์ผิดนัดหรือไม่ แต่จำเลยขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงให้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ขอ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ: แยกพิจารณาตามลักษณะการผิดสัญญาของผู้เช่า
คดีที่ผู้ให้เช่าจะต้องฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 หมายถึงกรณีที่ผู้เช่าปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้เช่าโดยทั่วไปแต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์พิพาทกับค่าเสียหายที่โจทก์ขายรถยนต์พิพาทได้ไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมที่ใช้อยู่ในขณะโจทก์บังคับสิทธิเรียกร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับเงินเดือนซ้ำซ้อนขัดกฎหมาย และอายุความการเรียกคืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่ชอบ
คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกเงินเดือนซึ่งจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ในระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2518 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2521 คืนโดยได้แจ้งจำนวนยอดรวมทั้งหมดแล้ว ถือว่าชัดแจ้งพอที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้ ถ้ายอดจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องมานั้นมากกว่าที่จำเลยได้รับ จำเลยก็ชอบที่จะต่อสู้มาในคำให้การได้โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้รับเดือนละเท่าใด หักภาษีแล้วเท่าใด เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม การที่จำเลยได้รับเงินเดือนทั้งจากโจทก์และกรุงเทพมหานครเป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปีบำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2505 ซึ่งกำหนดให้จำเลยรับเงินเดือนได้เพียงตำแหน่งเดียว เป็นกรณีที่จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันเป็นลาภมิควรได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยรับไปจากโจทก์คืนได้ คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนซึ่งเงินเดือนที่จำเลยได้รับจากโจทก์นั้นเกินกว่าสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเป็นคำให้การชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความแล้วการที่จำเลยได้รับเงินจากโจทก์อันปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เข้าลักษณะลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 จำเลยจึงจำต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่สิทธินั้นได้มีขึ้นดังนั้นเงินที่จำเลยได้รับไปนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเกินสิบปีจึงขาดอายุความ จำเลยจำต้องคืนเงินที่จำเลยได้รับไปเฉพาะส่วนที่นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกินสิบปีเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องผิดสัญญาจ้าง: ใช้ 10 ปี ไม่ใช่ 1 ปี หากสัญญาตกลงเรื่องการแก้ไขงานชำรุด
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าจ้างที่โจทก์จะต้องจ้างผู้อื่นทำการซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของสิ่งก่อสร้างตามที่โจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันไว้เป็นเรื่องฟ้องให้รับผิดตามข้อสัญญาที่ผูกพันกันอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความหนึ่งปีตาม มาตรา 601 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประเด็นความรับผิดจากละเมิดของลูกจ้างต่อนายจ้าง และการผูกพันคำพิพากษาในคดีก่อน
จำเลยให้การว่า ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้ จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องเคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าใครเป็นคนครอบครองเงิน เงินสูญหายอย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบจำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินสดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาทโจทก์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการสอบสวนผลการสอบสวนไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการที่เงินสดสูญหายไป แต่จำเลยยอมรับว่าเงินสดที่ขาดบัญชีอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยเป็นคนครอบครองเงินเงินสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งจำเลยก็ให้การว่าเงินได้ขาดหายไปขณะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการและสมุห์บัญชี ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อหรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานที่ดีของโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจากเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดแล้ว ยังเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดหน้าที่ที่จำเลยต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดอายุความเกี่ยวกับการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี แม้คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้รับจำเลยกลับเข้าทำงานหรือใช้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไปจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย แต่เหตุที่จำเลยอ้างในคดีก่อนว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมคือ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยจำเลยมิได้กระทำผิด ซึ่งโจทก์ก็ให้การในคดีดังกล่าวว่า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยเพราะจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นปัญหาเดียวกันว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปหรือไม่ แม้คดีก่อนจำเลยจะเป็นฝ่ายฟ้องโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องจำเลย แต่โจทก์จำเลยในคดีทั้งสองก็เป็นคู่ความเดียวกัน จำเลยจึงเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องฟังว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไป สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม หมายถึง โจทก์จะเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งนับถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี แล้วไม่ได้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างส่งก่อนวันฟ้องนับย้อนหลังไปไม่เกิน5 ปี โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องได้ หาใช่ว่าถ้าโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแล้ว สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งจะขาดอายุความไปทั้งหมดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องหนี้จากบัญชีเดินสะพัด และการให้การลอยๆ ของจำเลย
จำเลยได้เบิกเงินเกินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งจำเลยเปิดบัญชีไว้กับโจทก์เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2519 โจทก์ได้หักทอนบัญชีของจำเลยและบอกเลิกสัญญากับจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2523นับแต่วันที่โจทก์หักทอนบัญชีถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันฟ้อง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดยังไม่เกิน10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกิน 10 ปีโดยไม่มีสิทธิ และไม่มีรายละเอียดอื่นใด จึงเป็นการให้การลอย ๆไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2013/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยในสัญญารับสภาพหนี้ที่ไม่ใช่การกู้ยืมเงิน และอายุความฟ้องเรียกค่าแชร์
มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมอยู่ในมูลหนี้ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มูลหนี้เดิมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าแชร์ การชำระหนี้ด้วยเช็คเช่นนี้ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงอาศัยมูลหนี้เดิมตามสัญญาการเล่นแชร์หาได้ฟ้องให้รับผิดตามเช็คไม่ อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ใหม่) เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้าย และเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องร้องหนี้สัญญา กู้ยืม และการรับฟังพยานหลักฐาน ศาลมีอำนาจรับฟังได้หากมีเหตุผลความจำเป็น
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้เงิน2 ฉบับ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2518 ไม่มีกำหนดเวลาชำระเงินคืนมีจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่2 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันชี้สองสถาน จำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพิ่มข้อต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปี ดังนี้เห็นได้ว่าวันที่โจทก์ยื่นฟ้องและวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ปรากฏอยู่ในฟ้องแล้ว และจำเลยทั้งห้าทราบมาแต่แรกที่ได้รับสำเนาฟ้องแล้วว่าการกู้เงินตามที่กล่าวในฟ้องเป็นการกู้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระเงินคืน ซึ่งอายุความฟ้องร้องย่อมเริ่มนับทันทีที่โจทก์ให้กู้ไป จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพื่อเพิ่มเติมข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความได้ก่อนวันชี้สองสถาน แม้จำเลยทั้งห้าจะยังไม่ได้รับสำเนาสัญญากู้เงินจากโจทก์ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่จำเลยอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความก็ปรากฏอยู่ในคำฟ้องก่อนวันชี้สองสถานแล้ว จำเลยทั้งห้าหาจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องจากสำเนาสัญญากู้แต่อย่างใดไม่ทั้งเรื่องที่ขอแก้ไขคำให้การนี้ก็ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพื่อให้มีข้อต่อสู้เกี่ยวกับอายุความภายหลังวันชี้สองสถาน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง (เดิม) ตามฟ้องโจทก์ปรากฏอยู่แล้วว่า โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งห้าตามสัญญากู้เงิน 2 ฉบับ เป็นเงิน 544,600 บาท และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วคงค้างอยู่ในวันคิดบัญชีคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531เป็นต้นเงิน 164,000 บาท และดอกเบี้ย 150,564.09 บาทดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแจ้งชัดแล้วว่า หนี้ต้นเงินจำนวน164,600 บาท ที่ค้างชำระคิดมาจากยอดหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับดังกล่าว และการกล่าวถึงดอกเบี้ยก็เข้าใจได้อยู่แล้วว่าหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินที่ค้างชำระอยู่ดังกล่าวโดยนับถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531 นั่นเองส่วนรายละเอียดในการคิดบัญชีนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วจึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ได้แสดงความจำนงอ้างสัญญากู้เป็นพยานโดยยื่นบัญชีระบุพยานตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคแรกแล้ว แต่ในการสืบพยาน โจทก์มิได้ส่งสำเนาสัญญากู้ดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าก่อนวันสืบพยานอย่างน้อย 3 วันดังที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว ก็ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าแก้ไขคำให้การในข้อที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นเรื่องอายุความตามที่จำเลยทั้งห้าฎีกาขึ้นมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี, สัญญาค้ำประกัน, อายุความ, การคิดดอกเบี้ยทบต้น, ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดโดยไม่ได้ตกลงกันว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกัน และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 858,859 โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2527 และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ผู้ค้ำประกันย่อมต้องรับผิดตามสัญญาเพียงเท่าที่ตนยอมค้ำประกันเท่านั้น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 20,000 บาท ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันว่า จำเลยที่ 1กลับมาเป็นลูกหนี้โจทก์อีกครั้งในวันที่ 26 พฤษภาคม 2518 เป็นเงิน611.94 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันนี้ วิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้ผู้ค้ำประกันรับผิดนั้นต้องดูรายการที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่ค้ำประกันเป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้น จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินค้ำประกันเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2518 เป็นเงิน 20,078.24บาท จึงให้ถือเอาวันที่ 29 กรกฎาคม 2518 เป็นวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงิน 20,000 บาท จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2530ซึ่งเป็นวันครบกำหนดบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้อันเป็นวันที่บัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลง ต่อจากนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามปกติไม่ทบต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 784/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายสินค้าผิดคุณลักษณะ การบอกเลิกสัญญา และอายุความเรียกร้องค่าเสียหาย
การที่เจ้าหนี้ประกาศแจ้งความประกวดราคาสินค้าที่ต้องการซื้อโดยได้กำหนดตามลักษณะเฉพาะของสินค้าอันเป็นสาระสำคัญที่จะนำมาใช้งานไว้ด้วยเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดบ. เสนอราคาของสินค้าโดยมีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามที่เจ้าหนี้ผู้ซื้อได้กำหนดไว้และเจ้าหนี้ตกลงซื้อแล้ว การซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นการซื้อขายธรรมดาอันเกิดจากการเสนอและสนองรับตรงกัน หาใช่เป็นการซื้อขายตามตัวอย่างหรือตามพรรณาไม่ เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดบ. ส่งมอบสินค้าที่มีคุณลักษณะไม่ตรงตามสัญญากับใบเสนอราคา และไม่ตรงตามที่เจ้าหนี้กำหนด ห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.จึงเป็นผู้ผิดสัญญาซื้อขายเจ้าหนี้ย่อมเสียหาย และชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้ลูกหนี้ที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. จึงต้องร่วมรับผิดคืนเงินค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินกรณีสัญญาซื้อขายเลิกกันไม่มีกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม หาใช่1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 504 ไม่