คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) ม. 86 เบญจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5817/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีการค้าล่วงหน้าขัดต่อกฎหมาย หากเจ้าพนักงานมิได้ตรวจสอบความถูกต้องของแบบแสดงรายการเสียภาษี
โจทก์ประกอบกิจการค้าประเภทการขายของชนิด 1(ก) ผลิตสังกะสีแท็งก์น้ำ ซึ่งไม่อยู่ในข่ายต้องกำหนดรายรับขั้นต่ำตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจแห่งประมวลรัษฎากร และภาษีการค้าในช่วงเวลาพิพาทส่วนใหญ่ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2527 ถึงเดือนเมษายน 2529) เป็นภาษีการค้าที่ถึงกำหนดก่อนที่มาตรา 86 เบญจ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 มาตรา 25ใช้บังคับ ตามบทบัญญัติมาตรา 87(ทวิ) ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ประกอบการค้าสำหรับภาษีที่ถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 เดือนละไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2527เป็นต้นไป เป็นการกำหนดรายรับล่วงหน้าก่อนที่จะถึงกำหนดที่โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าเพื่อเสียภาษีการค้า โจทก์ยื่นคัดค้าน เจ้าพนักงานจึงกำหนดรายรับขั้นต่ำใหม่เมื่อวันที่12 พฤศจิกายน 2528 เป็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 67,000 บาทโดยให้มีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2527 เป็นต้นไป และกำหนดใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นเดือนละไม่ต่ำกว่า 51,000บาท โดยให้มีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2528 เป็นต้นไป การกำหนดรายรับขั้นต่ำใหม่สองครั้งหลังนี้แม้จะเป็นการกำหนดหลังจากเวลาที่ต้องยื่นแบบสำหรับเดือนพฤศจิกายน 2527 ถึงเดือนธันวาคม 2528ได้ผ่านพ้นไปแล้วก็เป็นกรณีที่เกิดจากการโต้แย้งของโจทก์เกี่ยวกับจำนวนรายรับที่กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง การกำหนดรายรับขั้นต่ำในแต่ละช่วงของเจ้าพนักงานจึงเป็นการกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าทั้งสิ้น อันเป็นการกำหนดที่ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายการที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าของโจทก์เพราะโจทก์ยื่นแบบแสดงรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าไว้ต่ำกว่ารายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้แต่ละช่วง มิใช่เกิดจากการตรวจสอบแล้วพบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดอย่างอื่นซึ่งทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย