พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5619-5620/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือตัดทายาทโดยธรรมที่ทำต่อหน้าผู้รักษาราชการมีผลสมบูรณ์ ผู้ถูกตัดสิทธิไม่มีส่วนได้เสียในการเป็นผู้จัดการมรดก
หนังสือตัดทายาทโดยธรรมมิให้รับมรดกเจ้ามรดกได้ทำต่อหน้าช. ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิตซึ่งอยู่ในฐานะรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดุสิตแสดงว่าขณะนั้นผู้อำนวยการเขตดุสิตไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่แต่มีช. ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดุสิตรักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตดังนั้นช. ย่อมมีอำนาจและหน้าที่กระทำการแทนได้เพราะเป็นผู้รักษาราชการแทนซึ่งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนและข้อบังคับในการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อผู้มีอำนาจกระทำการไม่อยู่ก็ต้องมีผู้รักษาการกระทำการแทนได้ไม่ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวเสียไป เจ้ามรดกแสดงเจตนาชัดแจ้งตัดผู้ร้องมิให้รับมรดกแล้วการที่จะตั้งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกเป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของกองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาเจ้ามรดกประกอบด้วยเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้ที่มิได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากกองมรดกเพราะถูกตัดและตามหนังสือตัดทายาทโดยธรรมดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์บังคับได้ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6135/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผู้จัดการมรดก, การตัดทายาท, การเพิกถอนพินัยกรรม และผลของการทำหนังสือตัดทายาท
ตามคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ร้องมีทรัพย์สินจะต้องจัดการถึง7 รายการ แม้ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเฉพาะบางรายการให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้ว ก็ยังมีทรัพย์สินอื่นนอกพินัยกรรมที่จะต้อง จัดการอยู่อีก ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 จึงมีสิทธิที่จะเป็น ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ หนังสือตัดทายาทโดยธรรมระบุนามสกุลผู้คัดค้านที่ 1 ว่า สกุล"ธรรมรัตน์"เป็น"ธรรมรักษ์" ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ไม่ ทำให้หนังสือตัดทายาทโดยธรรมเสียไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกตัดจากการเป็นทายาทโดยธรรม โดยไม่วินิจฉัยชี้ชัดว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาท จริงหรือไม่นั้น การวินิจฉัยชี้ขาดว่าเป็นทายาทหรือไม่เป็นทายาท ของผู้ตายไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปปัญหาข้อนี้เป็นอุทธรณ์ที่ ไร้สาระศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1695 ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจหมายความว่า ต้องเพิกถอนด้วยการฉีก ทำลาย หรือทำให้หมดสิ้นจนใช้การไม่ได้ หรือขีดฆ่าลงบนพินัยกรรมนั้นเพื่อให้เห็นว่า ผู้ทำพินัยกรรมไม่มีเจตนาจะให้มีผลเป็นพินัยกรรมต่อไป ดังนั้น เพียงแต่บันทึกไว้ในช่องหมายเหตุในทะเบียนพินัยกรรมของ ที่ว่าการอำเภอว่า ขอถอนพินัยกรรม และบันทึกในใบรับพินัยกรรมว่า ขอถอน 14 มี.ค. 20 จึงยังไม่ถือว่าผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาทำลาย พินัยกรรม พินัยกรรมจึงยังมีผลสมบูรณ์.