คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 87 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 182 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาจากการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยการยินยอมและให้สัตยาบัน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแสดงและมิได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแนบท้ายฎีกามาด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) การที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจัดการศพ: พิจารณาความเหมาะสมตามสถานะพระภิกษุและศรัทธาของประชาชน
โจทก์บรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับพระครู อ. ซึ่งถึงแก่มรณภาพขณะบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าอาวาส และมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อพระครู อ. ถึงแก่มรณภาพ โจทก์ติดต่อขอรับสังขารของพระครู อ. เพื่อนำไปฌาปนกิจตามประเพณี แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอม จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนถึงแก่มรณภาพ พระครู อ. สั่งเสียลูกศิษย์ให้เก็บสังขารไว้ให้บรรพชนรุ่นหลังกราบสักการะ เนื้อหาแห่งคดีเป็นเรื่องสิทธิในการจัดการศพของผู้ตาย ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการศพผู้ตาย แม้ศาลชั้นต้นชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แต่การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่ อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 55 ว่าโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิจัดการศพผู้ตายหรือไม่ และในการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลต้องพิจารณาฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานทั้งมวลที่ปรากฏในสำนวนว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้มีหน้าที่จัดการศพผู้ตายหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยทั้งสองว่า ก่อนถึงแก่มรณภาพพระครู อ. มีทรัพย์สินรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นมรดกตกทอดแก่วัดจำเลยที่ 1 เนื่องจากมิได้ร้องขอแก้ไขภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มีผลเพียงว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ปรากฏขึ้นจากการกล่าวอ้างในคำให้การของจำเลยทั้งสองเท่านั้น หากศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงส่วนนี้เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ถูกต้องแท้จริงก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้ใดได้รับมรดกของผู้ตายมากที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสองมีหน้าที่จัดการศพผู้ตาย จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการชี้ขาดคดี
พระครู อ. มีทายาทเหลืออยู่เพียงคนเดียวคือโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่จัดการศพของพระครู อ. ได้ แต่เมื่อตามสถานะของผู้ตายซึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่อายุ 25 ปี และมรณภาพอายุ 75 ปี รวมเวลาที่อยู่ในสมณเพศนานถึง 50 พรรษา หลังจากพระครู อ. ถึงแก่มรณภาพแล้ว ญาติพี่น้องรวมทั้งจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดงานสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 15 วัน โดยวัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแล้วบรรจุเก็บสังขารของพระครู อ. ไว้บำเพ็ญกุศลทุกวันพระเป็นเวลา 100 วันพระ และได้ความตามรายงานการประชุมเกี่ยวกับการจัดการศพพระครู อ. ว่า มีประชาชนศรัทธามาสักการะสังขารของพระครู อ. เป็นจำนวนมาก แสดงว่าพระครู อ. เป็นพระที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา ยิ่งไปกว่านั้น การที่พระครู อ. บวชเป็นพระภิกษุตลอดมา แสดงว่าพระครู อ. มีศรัทธาอุทิศตนเพื่ออยู่ในพุทธศาสนา ซึ่งมีวัดเป็นสถานรวมกิจกรรมของสงฆ์และการประกอบพิธีทางศาสนาของประชาชน การที่โจทก์เป็นผู้จัดการศพของพระครู อ. น่าจะไม่สอดคล้องกับความศรัทธาของประชาชนผู้เลื่อมใสเคารพนับถือแก่พระครู อ. จึงเป็นการสมควรที่วัดจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับสรีระสังขารของพระครู อ. ต่อไป โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าโจทก์หรือวัดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับมรดกของผู้ตายมากที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืมได้ ศาลรับฟังใบเสร็จรับเงินประกอบพยานอื่นได้หากจำเลยมีโอกาสหักล้าง
ตามฟ้องของโจทก์นอกจากบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 106,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินให้โจทก์เป็นหลักฐานตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้บรรยายต่อไปว่า ในวันเดียวกันกับวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 เมื่อได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว ก็ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 เป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวไว้ โดยแนบสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินมาท้ายฟ้องด้วย ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด จึงเป็นกรณีที่หนังสือสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องตั้งแต่บรรยายฟ้องแล้ว เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีข้อความสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินซึ่งผู้จำนองได้กู้จากผู้รับจำนอง 106,000,000 บาท โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ทั้งยังมีข้อความในข้อ 5 ว่า ให้ถือสัญญานี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อผู้จำนองไว้ด้วย เช่นนี้ ถือได้ว่าหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมสองโฉนด เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมชิ้นหนึ่งที่โจทก์ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้นอกเหนือจากหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ กรณีจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ระบุใบเสร็จรับเงิน เป็นพยานหลักฐานในบัญชีพยานและมิได้ส่งสำเนาให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 อันต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังใบเสร็จรับเงิน เห็นว่า เมื่อโจทก์นำสืบพยานโดยเบิกความและอ้างส่งใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์เสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นเลื่อนไปสืบพยานจำเลยทั้งสองหลังจากนั้นนานถึง 2 เดือนเศษ จำเลยที่ 1 ย่อมมีโอกาสและเวลาเพียงพอที่จะตรวจสอบใบเสร็จรับเงิน และนำสืบหักล้างหรือปฏิเสธได้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 และหม่อม อ. เบิกความ ก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงิน และหม่อม อ. ลงลายมือชื่อช่องผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินจริง คดีจึงมีเหตุสมควรที่จะรับฟังใบเสร็จรับเงิน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3201/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในสัญญาซ่อมเรือ: การพิสูจน์เอกสาร Work Done Report และขอบเขตความรับผิดของตัวแทน
บัญชีระบุพยานของโจทก์ระบุเพียงต้นฉบับหรือสำเนาสัญญาซ่อมเรือพร้อมคำแปลเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับ "Work Done Report" แต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงความจำนงที่จะอ้างอิงเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานโดยชอบ ส่วนที่โจทก์ไม่ส่งสำเนาให้แก่จำเลยทั้งสองก่อน ศาลตรวจดูเอกสารฉบับนี้แล้วพบว่ามีลายมือชื่อของผู้ที่มีข้อความระบุว่าเป็นตัวแทนเจ้าของเรือลงไว้ เหนือขึ้นไปยังมีลายมือชื่อของต้นกลเรือและนายเรือด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยทั้งสองมีเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของตนอยู่แล้ว โจทก์ไม่ต้องส่งสำเนาอีก และเอกสารชิ้นนี้เป็นพยานหลักฐานสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรรับฟังเอกสารชิ้นนี้ได้
แม้โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 2 มีหน้าที่บริหารจัดการเรือเพื่อแสวงหากำไรจากจำเลยที่ 2 เอง และเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนทำสัญญาซ่อมเรือกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ดังนี้จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการขายทอดตลาด: ศาลอุทธรณ์อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรรมสิทธิ์และเจ้าพนักงานบังคับคดีละเมิดกฎหมาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10675-10676/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีที่ดิน: สิทธิการได้รับอนุญาตทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินสิ้นสุดลง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพิ่งมีมติให้เพิกถอนสิทธิของโจทก์ทั้งสองระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถระบุมติดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และมีเหตุอันสมควรที่จะขออนุญาตยื่นพยานเอกสารดังกล่าวต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสาร และพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงรับสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9742/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน (สำเนาเช็ค) ในคดีแพ่ง การพิสูจน์หนี้และการชำระหนี้
ตามบัญชีระบุพยานของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 อันดับที่ 5 และ 6 ได้ระบุถึงพยานเอกสารที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นพยานต่อศาล คือรายการยอดซื้อสินค้าและยอดชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ทั้งหมด ตลอดจนสำเนาภาพถ่ายเช็คที่โจทก์ได้นำเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทั้งหมดและได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 อันดับที่ 2 ระบุเอกสารที่อ้างเป็นยอดซื้อสินค้าและยอดชำระราคาสินค้าของบริษัทสปริงคูล จำกัด (จำเลยที่ 1) ให้กับโจทก์ 1 แฟ้ม ทั้งแนบสำเนาเช็คซึ่งเป็นหลักฐานการชำระหนี้ค่าสินค้า (ที่ตรวจพบปัจจุบัน) รวม 13 ฉบับ ท้ายคำให้การ แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นบัญชีระบุพยานและพยายามรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่จะอ้างเป็นพยานต่อศาลเท่าที่ทำได้เพื่อให้โจทก์ได้มีโอกาสตรวจสอบในเบื้องต้นเท่าที่มี จึงพอแปลได้ว่าเป็นการอ้างเหตุขัดข้องในการส่งเอกสารให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบ เมื่อพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า เอกสารทั้งหมดดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญในประเด็นแห่งคดีที่จะนำมาพิสูจน์ชี้ขาดผลแห่งคดีได้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)
แม้เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านการนำสืบว่าไม่มีต้นฉบับ ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับสำเนาเอกสารว่าถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7206/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานเอกสารที่มิได้ส่งสำเนาให้คู่ความก่อนสืบพยาน และอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87(2)
ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นระบุแต่เพียงว่า ในวันดังกล่าวมีการสืบพยานโจทก์และโจทก์อ้างส่งเอกสาร 7 อันดับ ศาลหมาย จ.1 ถึง จ.7 โดยจำเลยแถลงคัดค้านว่า แผนผังสมาชิก หนังสือเรื่องขอรับรางวัลเกียรติยศและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 โจทก์มิได้มีการจัดส่งสำเนาให้แก่จำเลยก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงบันทึกไว้ โดยมิได้มีคำสั่งใด ๆ ว่าจะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งเรื่องดังกล่าว โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องโต้แย้งเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ศาลชั้นต้นเพิ่งจะมีคำสั่งไม่รับฟังพยานเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1 โดยระบุไว้ในคำพิพากษา จึงมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา
คดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์ทำการตามแผนการตลาดที่ตกลงไว้กับจำเลยและมีสิทธิที่จะได้รับเงิน 1,250,000 บาท ตามที่ตกลงกัน ส่วนจำเลยให้การว่า ผลงานของโจทก์ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับรางวัล ประเด็นข้อสำคัญในคดีจึงอยู่ที่ว่า ผลงานของโจทก์อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับรางวัลหรือไม่ ซึ่งเอกสารหมาย จ.5 ทั้งหมด เป็นเอกสารสำคัญที่แสดงสถานะและผลงานของโจทก์ จากคำเบิกความของพยานบุคคลฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างรับฟังได้ว่า เอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารที่พิมพ์มาจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้จัดทำ ซึ่งไม่ทำให้จำเลยต้องเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4108/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานหลักฐานนอกคำให้การ การแปลงหนี้ และข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87
ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ใช้ในกรณีที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐาน แต่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานให้ถูกต้องไว้ตามมาตรา 88 และในกรณีที่คู่ความมิได้ส่งสำเนาเอกสารล่วงหน้าตามมาตรา 90 ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยาน หลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานให้ถูกต้องและมิได้นำส่งสำเนาเอกสารล่วงหน้านั้นได้
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ จำเลยให้การต่อสู้คดีโดยรับว่าทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จริงแต่ชำระแล้ว แต่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน 500,000 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ 960,000 บาท แทนสัญญากู้ฉบับเดิม จึงเป็นการนำสืบว่ามีการแปลงหนี้ใหม่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว โดยจำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ แม้จำเลยได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกคำให้การซึ่งห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยนำสืบพยานหลักฐานฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม มาตรา 88 และ มาตรา 90 เมื่อพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมายังฟังไม่ได้ว่า จำเลยชำระหนี้เงินยืมตามฟ้องแก่โจทก์แล้ว ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์นั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหุ้น, การรับฟังพยานสำเนาต่างประเทศ, การเพิกถอนการแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้น
จำเลยให้การรับว่าจำเลยดำเนินการเพิกถอนชื่อโจทก์กับพวกออกจากรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้วใส่ชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทชุดเดิมกลับเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหม่อีกครั้งโดยไม่ปรากฏว่าเป็นการทำแทนบริษัท จึงเป็นการทำโดยพลการ โจทก์ไม่จำต้องฟ้องบริษัทเข้าเป็นจำเลยด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะมิได้ระบุหนังสือแจ้งการแก้ไขการลงทุนเอกสารหมาย จ.15 ไว้ในบัญชีระบุพยาน แต่โจทก์ก็ได้นำเอกสารดังกล่าวมาประกอบการถามติงในการสืบตัวโจทก์อันเป็นการสืบพยานโจทก์ปากแรกซึ่งจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มีโอกาสอย่างเต็มที่ในการที่จะนำพยานมาสืบหักล้าง ประกอบกับจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 ก็อ้างมาตลอดว่าหุ้นเป็นของจำเลยและผู้ร้องสอดที่ 3 มิใช่ของโจทก์และจำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท ด. แต่อย่างใด เช่นนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) ส่วนที่ว่าเอกสารหมาย จ.15 เป็นเพียงสำเนานั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวได้มีการจัดทำในต่างประเทศทั้งต้นฉบับก็มิได้อยู่ในความครอบครองของโจทก์ พยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานสำคัญที่จะพิสูจน์ถึงผู้มีสิทธิในหุ้นของบริษัท ซ. กรณีจึงจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงนำสืบสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 โจทก์ก็ดำเนินการขอให้บริษัท ด. จัดทำหนังสือรับรองความมีอยู่จริงของสำเนาเอกสารหมาย จ.15 มาประกอบการพิจารณาของศาลด้วยแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับฟังเอกสารหมาย จ.15 มานั้น ชอบแล้ว
of 19