คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 87 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 182 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องจากการควบกิจการเงินทุนและข้อยกเว้นการบอกกล่าวหนี้สิน
การควบกิจการระหว่างบริษัทเงินทุน ว. กับโจกท์เป็นการรวมกิจการโดยผลของกฎหมาย มิใช่การรวมกิจการและโอนสิทธิเรียกร้องโดยทั่วไป ซึ่งมาตรา 67 ตรี วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินุทน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ฯ บัญญัติว่าเมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรี (ว่าการกระทรวงการคลัง) แล้วให้ดำเนินการโอนกิจการได้โดยการโอนสิทธิเรียกร้อง ในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่ง ป.พ.พ. แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัทเงินทุน ว. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306
ธนาคาร ส. เป็นธนาคารพาณิชย์ จึงต้องประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การพาณิชย์ฯ มาตรา 4 การเช่าซื้อมิใช่ธุรกิจที่กฎหมายให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ดำเนินการได้ ทั้งหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคาร ส. มีข้อตกลงว่า สินทรัพย์ตามประกาศกระทรวงการคลังของโจทก์และรวมตลอดถึงสินทรัพย์ที่โจทก์ได้รับโอนมาจากบริษัทเงินทุน 12 บริษัท ไม่รวมถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อและสิทธิเรียกร้องในเงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ธนาคาร ส. โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ และแม้โจทก์จะไม่ได้ระบุอ้างหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคาร ส. ไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5065/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องหลังรวมกิจการธนาคารและบริษัทเงินทุน: ผลผูกพันต่อลูกหนี้และข้อจำกัดทางกฎหมาย
พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 จัตวา วรรคแรก บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการของบริษัทใดมีข้อเสนอจะควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่นหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่สถาบันการเงินอื่นเป็นการเร่งด่วน? ถ้ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องควบกิจการหรือโอนกิจการเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและประโยชน์ของประชาชน ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยจะกำหนดระยะเวลาดำเนินการและเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ มาตรา 67 ตรี วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรีแล้วให้ดำเนินการโอนกิจการได้โดยการโอนสิทธิเรียกร้อง ในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อได้ความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบการดำเนินการตามโครงการรวมกิจการระหว่างธนาคาร ส. โจทก์ และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 67 จัตวา และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 38 จัตวา จึงเป็นการรวมกิจการโดยผลของกฎหมาย มิใช่การรวมกิจการและโอนสิทธิเรียกร้องโดยทั่วไป ไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306
แม้ประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมาย จ. 4 ระบุว่า ให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดให้แก่ธนาคาร ส. และข้อ 3 ระบุว่า เมื่อได้ดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 2 เสร็จสิ้น ให้โจทก์และบริษัทเงินทุน 12 บริษัท คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนให้แก่กระทรวงการคลัง เมื่อโอนสินทรัพย์และหนี้สินเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 4 บัญญัติว่า "การธนาคารพาณิชย์" หมายความว่า การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ และใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น (ก) ให้สินเชื่อ (ข) ซื้อขายตั๋วแลกเงินหรือตราสารเปลี่ยนมืออื่นใด (ค) ซื้อขายเงินปริวรรตต่างประเทศ และ "ให้สินเชื่อ" หมายความว่า ให้กู้ยืมเงิน ซื้อ ซื้อลด รับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน เป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้าหรือเป็นเจ้าหนี้ เนื่องจากได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันตามเล็ตเตอร์ออฟเครดิต เมื่อธนาคาร ส. เป็นธนาคารพาณิชย์ จึงต้องประกอบธุรกิจตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การเช่าซื้อจึงมิใช่ธุรกิจที่กฎหมายให้อำนาจธนาคารพาณิชย์ดำเนินการได้
แม้โจทก์ไม่ได้ระบุอ้างหนังสือสัญญาโอนสินทรัพย์และหนี้สินระหว่างโจทก์กับธนาคาร ส. ไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลย่อมมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามมาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีล้มละลาย: การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อหักล้างหนี้สินและทรัพย์สิน
วิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม) ซึ่ง จาก ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 แสดงว่า เพื่อให้ศาลพิจารณาให้ได้ความจริง และจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 88 กฎหมายให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ และการที่จำเลยนำสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นสำเนาสมุดเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยโดยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน และมิได้ส่งสำเนาบัญชีระบุพยานให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ก็เพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และให้เห็นว่าตนมีเงินซึ่งพอชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลายอันถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจที่จะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน-การถอนเงินฝาก: สิทธิถอนเงินฝากเมื่อหนี้ลดลง, การยึดถือสมุดคู่ฝากเป็นหลักประกัน
ความในสัญญาข้อ 8 มีว่า เพื่อเป็นหลักประกัน ผู้ค้ำประกันยอมมอบสมุดคู่ฝากประจำตามข้อ 6 และข้อ 7 ให้ธนาคารยึดถือไว้เป็นหลักประกันตลอดไปจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้จากผู้กู้ครบถ้วน มีความหมายว่าธนาคารจำเลยเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากประจำไว้เป็นประกัน ไม่ให้โจทก์ผู้ค้ำประกันถอนเงินโดยผิดเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 7 เมื่อสัญญาข้อ 7 ระบุให้โจทก์ถอนเงินฝากได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ธนาคารลดลงเหลือไม่เกินราคาของหลักทรัพย์ที่ธนาคารประเมิน ซึ่งข้อเท็จจริงยุติว่าหนี้ของผู้กู้ลดลงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจกันเงินฝากของโจทก์ไว้จนกว่าลูกหนี้ของจำเลยชำระหนี้หมดสิ้น
จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่ามีพยานเอกสารอะไรบ้างที่จะต้องนำมาสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน และจำเลยสามารถยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวได้ การที่จำเลยต้องให้พนักงานของจำเลยค้นหาเอกสารหลายครั้งจึงพบนั้น ย่อมถือเป็นความบกพร่องล่าช้าของพนักงานจำเลย อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยเอง จึงไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม และตามคำให้การของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีประเด็นอันเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวอันจะถือว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีซึ่งจะต้องนำสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวของจำเลยได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4038-4039/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม แม้ขาดทุนต่อเนื่อง แต่ทุนจดทะเบียนสูง และไม่มีเหตุผลเพียงพอ
มูลกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามที่ พ.ร.บ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติไว้ มิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างพนักงานแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า "นายจ้างและลูกจ้างยินยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิใด ๆ ที่จะพึงมีตามสัญญานี้เพื่อระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อน ถ้าปรากฏว่าไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป" ก็ตาม กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานนั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 ให้อำนาจศาลที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ได้ การที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.1 และ จ.11 เป็นพยานและรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าว ทั้งที่โจทก์มิได้ระบุเอกสารทั้งสองฉบับไว้ในบัญชีระบุพยานของโจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า กิจการของจำเลยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องนับแต่ดำเนินการในปี 2538 จนถึงปี 2542 รวมเป็นเงินถึง 40 ล้านบาท และนอกจากโจทก์แล้วจำเลยยังได้เลิกจ้างพนักงานอื่น ๆ อีก 2 คน ตามที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่จำเลยมีทุนจดทะเบียนดำเนินการถึง 208,500,000 บาท ประกอบกับจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าปกติการดำเนินธุรกิจประกันภัยสหกรณ์อย่างเช่นกิจการของจำเลยจะขาดทุนต่อเนื่องในระยะเวลา 6 ปีแรก และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า แนวโน้มในการดำเนินกิจการของจำเลยในปีต่อ ๆ ไปนั้นจะต้องประสบภาวะวิกฤตจนถึงขั้นไม่อาจดำเนินการกิจการต่อไปได้หากไม่แก้ไขการจัดการโดยวิธีเลิกจ้างโจทก์ ฉะนั้นจึงถือว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นยังไม่มีเหตุอันสมควรอย่างเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลรับฟังพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แม้คู่ความมิได้ร้องขอ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 86 วรรคท้าย ในกรณีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะสั่งให้นำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมก็ได้ และแม้คู่ความจะมิได้ระบุพยานเพิ่มเติมศาลก็สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่มีการสืบเพิ่มเติมนั้นได้เช่นกันตาม ป.วิ.พ.มาตรา 87 (2) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ทำแผนที่วิวาท แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ลงชื่อรับรอง แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้โต้แย้งว่าแผนที่วิวาทดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ศาลชั้นต้นจึงรับฟังแผนที่วิวาทซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการขายทอดตลาดทำให้กรรมสิทธิ์ไม่เกิด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
สำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดซึ่งจำเลยแนบท้ายคำแก้ฎีกา แม้จำเลยจะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานและมิได้ส่งสำเนาเอกสารแก่โจทก์ แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารท้ายคำแก้ฎีกานั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่เมื่อมีรองจ่าศาลรับรองความถูกต้องแห่งเอกสารนั้นจึงฟังได้ว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลแม้จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่เมื่อศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวแล้ว ผลของคำสั่งเท่ากับว่าไม่มีการขายทอดตลาดมาแต่แรก โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9866/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมที่ไม่ได้ระบุดอกเบี้ย การนำสืบพยานบุคคลขัดมาตรา 94(ข) ป.วิ.พ. ศาลจำกัดดอกเบี้ย
การกู้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาท ขึ้นไป กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง เมื่อสัญญากู้ไม่ได้ระบุข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ จึงต้องฟังว่าสัญญากู้ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาเบิกความว่าสัญญากู้เงินมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารหรือประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสาร คำพยานของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 94 (ข) แห่ง ป.วิ.พ. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น
บันทึกข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ตามเอกสารแนบท้ายฎีกานั้น โจทก์มิได้นำสืบแสดงพยานหลักฐานดังกล่าวในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น และเป็นเอกสารที่อยู่ใน ความครอบครองรู้เห็นของโจทก์อยู่ก่อนแล้ว การที่โจทก์นำเสนอเอกสารดังกล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6753/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความเสียหายจากละเมิดเครื่องหมายการค้า และการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุน
โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท น. ซึ่งประกอบกิจการน้ำดื่มโดยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูป คดีก่อนศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 272 (1) ฐานเอาชื่อ รูปรอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ แต่ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์กิจการของโจทก์มีกำไรมากขึ้นจากเดิม โจทก์จึงไม่เสียหายในผลกำไรที่โจทก์ควรได้จากการจำหน่ายน้ำดื่ม
จำเลยระบุเหตุในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมว่า จำเลยเพิ่งทราบว่ามีพยานดังกล่าวที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัท น.ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการว่าระหว่างปี 2537 ถึงปี 2540 บริษัทมีกำไรเฉลี่ยเดือนละประมาณ 600,000 บาทข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะปรากฏอยู่ในเอกสารเกี่ยวกับการเงินและการบัญชี เช่นงบดุล แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ รายงานของผู้สอบบัญชี เป็นต้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้จัดทำขึ้นและยื่นต่อสำนักงานสรรพากรจังหวัดขอนแก่น พยานบุคคลและเอกสารที่จำเลยระบุอ้างเพิ่มเติมก็เป็นสรรพากรจังหวัดขอนแก่นกับงบดุลและงบกำไรขาดทุนของบริษัทดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 ถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักงานสรรพากรจังหวัดขอนแก่นทั้งสิ้น หาได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยผู้อ้างที่ต้องแนบสำเนามาท้ายคำให้การดังที่กำหนดไว้ในข้อ 7 แห่งข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ไม่ การอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าวซึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีย่อมทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัทดังกล่าวเป็นไปโดยเที่ยงธรรม การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว จึงอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 87 (2) ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ กรณีไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อข้อกำหนดหรือเป็นการที่จำเลยจงใจดำเนินกระบวนพิจารณาอันเป็นการเอาเปรียบคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 3
โจทก์ดำเนินกิจการน้ำดื่มโดยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเป็นคำและรูปมากว่า 20 ปี ด้วยความซื่อสัตย์ จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในหมู่ผู้บริโภคว่าน้ำดื่มของโจทก์มีคุณภาพ การที่จำเลยผลิตน้ำดื่มไม่มีคุณภาพออกจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง แม้โจทก์ไม่อาจสืบให้เห็นได้แจ้งชัดว่าน้ำดื่มที่จำเลยผลิตไม่มีคุณภาพ และโจทก์เสียหายมากน้อยเพียงใด แต่การกระทำของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียหาย ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จากโจทก์เกินไปจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3736/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 88: ศาลมีอำนาจหากเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) จะห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ยื่นฝ่าฝืนต่อมาตรา 88 แต่ในมาตรา 87 (2) นั่นเองได้บัญญัติต่อไปว่า "?แต่ถ้าศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้" เมื่อปรากฏว่าพยานบุคคลที่โจทก์ทั้งสองอ้าง เป็นพนักงานขายซึ่งมีหน้าที่ติดตามหนี้สินรายนี้จากจำเลยที่ 3 อันเป็นพยานสำคัญในคดี ทั้งจำเลยที่ 3 ก็มีโอกาสถามค้านและนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ได้ ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ต้องเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้นั้น จึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญเช่นนั้น ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของพยานบุคคลที่โจทก์ทั้งสองอ้างเป็นพยานหลักฐานได้
of 19