คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ม. 17

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7712/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนรถยนต์ประกอบจากชิ้นส่วน - รถใหม่ไม่ใช่รถเดิม
รถยนต์คันที่โจทก์ได้รับมอบกรรมสิทธิ์มาจากบริษัท บ. หมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร แต่รถยนต์พิพาทมีเพียงหัวเก๋งกับกระบะเท่านั้นที่เป็นของคันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 ส่วนคัสซีหรือเลขตัวรถและเครื่องยนต์เป็นของคันหมายเลขทะเบียน บ - 1317 ชัยภูมิ ซึ่งเจ้าของได้ขอจดทะเบียนรถยนต์ประเภทรถยนต์ที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์เก่า รถยนต์พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการเอาอุปกรณ์หรือสังหาริมทรัพย์ของบุคคลหลายคนมารวมเข้ากันจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ และโดยที่หัวเก๋งกับกระบะไม่ใช่ทรัพย์ประธาน รถยนต์พิพาทจึงเป็นรถยนต์คันใหม่ ไม่ใช่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1316 ดังนั้นการที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนโอนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ห - 7742 กรุงเทพมหานคร โดยมิได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้จำเลยตรวจสอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2531 หมวด 2, 4 และ 6 การโอนรถ ข้อ 35 (1) ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบกอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10, 13, 16 และ 17 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2530 วางระเบียบไว้ และมีผลใช้ในทำนองเดียวกับกฎหมาย จำเลยชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการจดทะเบียนโอนรถยนต์ตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8319/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายรถยนต์ที่ยังไม่จดทะเบียน: จำเลยต้องรับผิดชอบให้รถยนต์สามารถจดทะเบียนและใช้งานได้
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ยังมิได้จดทะเบียนและเสียภาษีประจำปี ตกลงขายรถยนต์แก่โจทก์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สำหรับใช้เป็นยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังแรงแห่งเครื่องจักร ตามสภาพของตัวทรัพย์ที่ซื้อขายกัน เป็นสัญญาส่งมอบรถยนต์ในฐานะเป็นรถยนต์ไม่ใช่เศษเหล็กและจำเลยต้องส่งมอบให้โจทก์ได้ผลใช้รถยนต์นั้นได้ หมายความว่า จำเลยจะกระทำตามที่จำเป็นเพื่อให้โจทก์ได้จดทะเบียนรถนั้น เมื่อรถยนต์ที่จำเลยขายยังมิได้จดทะเบียนให้ถูกต้อง ต้องห้ามมิให้นำออกใช้ ถือว่าจำเลยส่งมอบรถโดยสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เพื่อประโยชน์ของสัญญาซื้อขาย การชำระหนี้ของจำเลยจึงไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา นอกจากนี้จำเลยยังมีความผูกพันที่จะต้องแจ้งการโอนรถให้โจทก์ต่อนายทะเบียนในลำดับต่อมาอีกด้วย แม้โจทก์จะมอบรถยนต์ให้แก่ ร. ครอบครองตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว ทั้งรถยนต์ที่จำเลยขายจำต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ให้ครบบริบูรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเมื่อส่งมอบ ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ
การให้รถยนต์อันเป็นสังหาริมทรัพย์ย่อมสมบูรณ์เมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523ไม่มีกฎหมายบังคับว่าการให้ทรัพย์สินดังกล่าวต้องทำตามแบบกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังโจทก์ผู้รับแล้วหาจำต้องจดทะเบียนโอนกันเสียก่อนไม่ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์ ไม่ใช่แบบของนิติกรรมแต่อย่างใด ดังนั้นแม้ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นชื่อโจทก์โจทก์ก็เป็นเจ้าของรถยนต์ที่โจทก์ขับในวันเกิดเหตุโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากละเมิดจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์รถแยกจากทะเบียน การโอนทะเบียนหลังยึดไม่ใช่ความผิด
การโอนรถทางทะเบียนนั้น เป็นเพียงหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิใช้รถซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการใช้รถ ตามนัย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6,17 เท่านั้นมิใช่เป็นหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยโอนรถไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528ภายหลังการยึดหนึ่งวัน และนำสืบเพียงว่า วันที่ 17 มกราคม2528 เป็นเพียงการโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในรถคันที่โจทก์ฟ้องไปก่อนการยึดแล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะเพิ่งโอนทะเบียนรถไปหลังจากการยึด 1 วัน ก็เป็นเพียงโอนทางทะเบียน มิใช่โอนกรรมสิทธิ์ในตัวรถ ดังนั้นจำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350.