คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีรา ไวยหงษ์ รินทร์ศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 195 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7777/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลซ้ำ และสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคท้าย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฉบับที่สองของจำเลยโดยให้เหตุผลว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156/1 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดก: อำนาจหน้าที่ผู้จัดการมรดก, เหตุถอนผู้จัดการมรดก, และการชี้ขาดโดยศาล
คดีนี้ ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันทรัพย์มรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 และข้อ 6 มีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ทายาททุกคนที่เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความและผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญาต้องเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายร่วมกับทายาทอื่นในการจดทะเบียนโอนที่ดิน และตามข้อ 6 ศ. ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรับโอนที่ดินและทาวน์เฮาส์ แต่ทายาททุกคนรวมทั้ง ศ. ไม่ออกค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน ผู้ร้องจึงไม่อาจทำหน้าที่แบ่งมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ถึงข้อ 6 ได้ ทั้งผู้คัดค้านไม่ยอมรับโอนที่ดินส่วนของตนและได้อายัดที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน แต่ไม่ใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินจึงเพิกถอนการอายัด ทนายผู้ร้องมีหนังสือลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 แล้วให้ผู้คัดค้านไปรับโอนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้พยายามดำเนินการแบ่งปันมรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกแล้ว กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ผู้คัดค้านจะเป็นทายาท ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งของกองมรดก แต่การมอบหน้าที่ให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวอาจกระทบถึงสิทธิของทายาทคนอื่นของกองมรดกได้ ดังนั้น หากผู้ร้องและผู้คัดค้านไม่อาจร่วมกันจัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดได้ หรือหากฝ่ายใดกระทำผิดหน้าที่หรือละเลยไม่กระทำตามหน้าที่ อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน รวมทั้งทายาทคนอื่นก็สามารถยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าตกเป็นโมฆะเนื่องจากขัดต่อกฎหมายความปลอดภัยสถานีบริการก๊าซ ผู้เช่าต้องรื้อถอนและชดใช้ค่าเช่า
ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ผู้ตายตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของทายาทตามกฎหมายในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 โจทก์ย่อมอาศัยสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท และเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์หลังจากวันฟ้องตลอดเวลาที่จำเลยยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาทได้ แม้วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจะเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อำนาจฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ซึ่งบริบูรณ์อยู่แล้วก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหาได้สิ้นสุดลงไม่ ส่วนโจทก์ร่วมผู้รับโอนที่ดินพิพาท เป็นบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรง เพราะหากศาลพิพากษาให้โจทก์แพ้คดีย่อมกระทบต่อสิทธิของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ย่อมมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีอำนาจฟ้อง
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2529) หมวดที่ 3 ว่าด้วยลักษณะและระยะปลอดภัยของสถานีบรรจุก๊าซ ข้อ 15 (5) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 28 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2514 ข้อ 3 กำหนดว่า สถานีบริการต้องมีกำแพงกันไฟสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร โดยรอบยกเว้นด้านที่ใช้เป็นทางเข้าและทางออกของสถานีบริการ กำแพงกันไฟต้องมีระยะห่างจากตู้จ่ายก๊าซไม่น้อยกว่า 6 เมตร... ถ้ากำแพงกันไฟด้านใดห่างจากผนังถังเก็บและจ่ายก๊าซเกิน 20 เมตร จะทำประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสถานที่ของเจ้าของที่ดินเดียวกันก็ได้ แต่ประตูดังกล่าวต้องกว้างไม่เกิน 3 เมตร และต้องปิดประตูตลอดเวลา จะเปิดได้เมื่อมีการเข้าออก และตามข้อ 6 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามข้อ 3 (2) (3) หรือ (5) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เห็นได้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้สถานีบริการก๊าซรถยนต์ต้องมีกำแพงกันไฟโดยรอบสูงไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร เพื่อป้องกันอัคคีภัยอันอาจเกิดจากก๊าซมิให้ลุกลามจากสถานีบริการ ไปก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีบริการ ผู้ฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่สัญญาเช่าที่ดินพิพาทมีข้อตกลงให้จำเลยต้องเปิดแนวกำแพงกันไฟด้านหลังสถานีบริการก๊าซรถยนต์กว้าง 10 เมตร เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของ อ. และบริวาร โดยไม่มีประตูเหล็กทึบชนิดบานเลื่อนสำหรับเปิดปิด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยไม่อาจแยกข้อตกลงในส่วนที่เป็นโมฆะออกจากข้อตกลงอื่นที่ไม่เป็นโมฆะได้ และไม่ต้องคำนึงว่าคู่สัญญาจะรู้หรือไม่ก็ตามว่านิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันตกเป็นโมฆะ โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อาจยกความไม่รู้ของ อ. ขึ้นอ้างเพื่อให้มีผลลบล้างกฎหมายได้ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่แรก ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการเช่าที่ดินพิพาทเกิดขึ้นเลย โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยย่อมไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน โจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ กรณีเช่นนี้ต้องบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 406 จำเลยจึงต้องรื้อถอนกำแพง สิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แล้วส่งมอบคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมในสภาพเรียบร้อย นอกจากนี้การที่จำเลยเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ด้วยการเปิดสถานีบริการก๊าซรถยนต์ในที่ดินพิพาทมาแต่แรก ประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการใช้ที่ดินพิพาทตลอดมาย่อมสามารถคำนวณราคาเป็นเงินได้ เงินที่คำนวณได้นี้ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้รับจากโจทก์และโจทก์ร่วม โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์และโจทก์ร่วมเสียเปรียบ จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมฐานลาภมิควรได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดินสำหรับคนต่างด้าว: โมฆะและไม่อาจบังคับคืนเงินได้
ตามสัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินเป็นกรณีที่โจทก์เป็นคนต่างด้าวร่วมกับจำเลยซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้จำเลยตั้งบริษัทจำกัดที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยถือครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ลักษณะเป็นการให้นิติบุคคลถือสิทธิในที่ดินแต่เพียงในนามเท่านั้น โดยแท้จริงแล้วโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดิน อันเป็นการหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ข้อยกเว้นการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 ทั้งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย สัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์และจำเลยร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยใช้ชื่อจำเลยเป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์แทนเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ป.ที่ดิน มาตรา 86 และมาตรา 96 โจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวต้องจัดการจำหน่ายที่ดินในส่วนของโจทก์ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ออกเป็นค่าซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยอาศัยสัญญาข้อตกลงการซื้อทรัพย์สินที่ตกเป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการบังคับให้จำเลยชดใช้เงินและรับเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์อันเป็นการขัดต่อ ป.ที่ดิน เมื่อคำฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ออกเงินซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นการหลีกเลี่ยงการถือครองที่ดินตามกฎหมาย การที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ออกไปในการซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยอาศัยสัญญาดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5418/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ศาลวินิจฉัยกรรมสิทธิ์และส่วนควบของที่ดิน
ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า "การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ" แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม
จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงลายมือชื่อเช็คโดยไม่ได้ประทับตราบริษัท และความรับผิดของผู้ลงลายมือชื่อทั้งในฐานะกรรมการและส่วนตัว
แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิด ตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. และผลกระทบต่ออำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ดินของรัฐ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพียงจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เข้าทำกินได้เท่านั้น สิทธิการครอบครองและกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์มีเพียงสิทธิทำกินหรือทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนหรืออาศัยสิทธิจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ส่วนจำเลยซึ่งมิได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมไม่อาจยกอายุความการครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองแทนและอาศัยสิทธิสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) มีข้อควรทราบและพึงปฏิบัติระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังบุคคลอื่นมิได้ และเมื่อผู้ได้รับอนุญาตสละสิทธิในที่ดินแล้ว ย่อมสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน การที่ ส. มารดาจำเลยและจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทระหว่างปี 2533 ถึง 2535 และโจทก์มอบ ส.ป.ก. 4-01 ให้แก่ ส. และจำเลยยึดถือไว้ตลอดมา พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้สละสิทธิทำกินในที่ดินพิพาทให้แก่ ส. และจำเลยแล้ว ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 39 การที่โจทก์กลับมาอ้างสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ฟ้องขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4732/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการสอบสวนคดีอาญาที่กระทำนอกราชอาณาจักรไทย และการมีอำนาจฟ้องของโจทก์
จำเลยร่วมรับรู้ถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของ บ. และ ม. ตลอดมา อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าที่ทำการของ บ. และเช่าหมายเลขโทรศัพท์จากบริษัท ซ. เพื่อดำเนินการติดต่อธุรกิจของ บ. ซึ่งก็คือการติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งยังสามารถทำการแทน บ. ตั้งแต่การเช่าสถานที่ตั้งที่ทำการ และซื้อหลักทรัพย์จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และกลุ่มของ บ. แล้วนำมาจำหน่ายต่อให้แก่นักลงทุน รวมทั้งออกใบหุ้นให้แก่ลูกค้าทั่วไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับบุคคลที่ยังไม่ปรากฏชัดเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 90, 289 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83
การกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 ตั้งแต่โทรศัพท์หลองลวงผู้เสียหายทั้งสี่ขณะที่ผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ที่ประเทศออสเตรเลียจนกระทั่งผู้เสียหายทั้งสี่โอนเงินเข้าบัญชีที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเป็นความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 เมื่อพันตำรวจโท อ. เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อขอให้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ต่อมาอัยการสูงสุดมีคำสั่งมอบหมายให้พนักงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ ถือว่าคณะพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีอำนาจทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง การสอบสวนในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนมีความสัมพันธ์กับสามี แม้จดทะเบียนหย่าแล้ว ไม่เป็นการละเมิด แต่ต้องมีการแสดงตนโดยเปิดเผย
โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด
ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ และสิทธิการรับมรดกของทายาทประเภทต่างๆ
แม้หากฟังได้ว่าผู้ตายบอกยกเงินค่าที่ดินที่จะได้รับจากจำเลยให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ตายแล้วยังมิได้ชำระ การให้เงินค่าขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อันเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ตายที่มีต่อจำเลยจึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องของผู้ตายให้แก่โจทก์ไม่มีการทำเป็นหนังสือย่อมไม่มีผลผูกพันผู้ตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทและลูกหนี้ของผู้ตาย ไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ เมื่อผู้ตายมีจำเลยและ ท. เป็นทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายประเภทคู่สมรส จึงมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) โจทก์ได้รับเงินกึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับมรดกของผู้ตายตามสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
of 20