พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างดูแลความปลอดภัยนอกวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ผูกพันจำเลย
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ ในการรับจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินและรับฝากรถสัญญาจ้างดูแลทรัพย์สินรวมทั้งความปลอดภัยที่หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยทำกับเจ้าของคอนโดมีเนี่ยม จึงเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยไม่ผูกพันจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในเหตุที่รถยนต์ซึ่งจอดอยู่ในคอนโดมีเนียมถูกลักไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดตามเช็คของกรรมการบริษัท: การลงลายมือชื่อโดยไม่ได้ระบุฐานะตัวแทน
จำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนคือ ท. หรือน. ร่วมกับกรรมการอื่นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ระบุให้ชัดว่ากระทำแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2750/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดลิขสิทธิ์พจนานุกรม: ศาลกำหนดค่าเสียหายจากการลอกเลียนแบบและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 30 และข้อ 29 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้บัญญัติให้โจทก์เป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงใด มีฐานะเป็นกรมและให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลจำพวกทบวงการเมืองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72(เดิม) และ 73(เดิม) ส.นายกราชบัณฑิตยสถานได้ประชุมราชบัณฑิตทุกสำนักและจัดวางระเบียบการของราชบัณฑิตยสถานว่าด้วยการปฏิบัติงานทั่วไปของนายก อุปนายก และเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20(2) ประกอบมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติราชบัณฑิตสถานพ.ศ. 2485 ระเบียบการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะตามข้อ 6 ของระเบียบการของราชบัณฑิตยสถานกำหนดว่าให้นายกราชบัณฑิตสถานเป็นผู้แทนราชบัณฑิตยสถานซึ่งเป็นนิติบุคคล ดังนั้นตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการจัดการควบคุมทบวงการเมืองโจทก์จึงถือได้ว่าในขณะฟ้องคดีโจทก์มี บ.นายกราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75(เดิม) โจทก์โดยบ.นายกราชบัณฑิตยสถานย่อมมีอำนาจฟ้องคดีได้เองโดยตรง ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาก่อนโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นข้อที่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ได้ให้บทนิยามคำว่า "ผู้สร้างสรรค์" ไว้ว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเองซึ่งมีความหมายว่า การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น ความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้นโดยบุคคลผู้นั้นมิได้คัดลอกหรือทำซ้ำ หรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น ดังนั้น แม้การจัดทำพจนานุกรมจะมีวิธีจัดทำแบบเดียวกับวิธีที่ใช้มาแต่โบราณ โจทก์ก็อาจเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมนั้นได้ หากการจัดทำพจนานุกรมของโจทก์เป็นงานที่ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ด้วยการให้บทนิยามหรือความหมายของคำต่าง ๆ พร้อมภาพประกอบความหมายของคำบางคำโดยการแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่มตามลีลาของโจทก์เองและโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต งานจัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เป็นงานที่โจทก์ได้ทำขึ้นโดยใช้ความอุตสาหะวิริยะในการสร้างสรรค์และมีที่มาจากโจทก์เอง ถือว่าโจทก์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยความคิดริเริ่มของตนเอง และเป็น "ผู้สร้างสรรค์" ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 แม้โจทก์จะได้จัดทำพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีและคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่โจทก์เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม โจทก์ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในความควบคุมของตนตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 12 เมื่อข้อฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเรื่องที่มิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำและบทนิยามในพจนานุกรมของจำเลยซ้ำกับคำและบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์ในลักษณะลอกมาทุกตัวอักษรประมาณ 14,000 คำ และดัดแปลงโดยสลับที่บทนิยามบ้าง เปลี่ยนตัวอย่างใหม่หรือตัดออกบ้างเพิ่มเติมหรือตัดข้อความในบทนิยามของโจทก์ออกบ้าง ประมาณ19,000 คำ ส่วนการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพประกอบบทนิยามในพจนานุกรมของโจทก์มีประมาณ 130 ภาพ การจัดทำรูปเล่มและการพิมพ์ข้อความที่ปกนอกและปกในของพจนานุกรมทั้งสองล้วนมีลักษณะลอกเลียนแบบกันแตกต่างกันแต่เพียงสี และก่อนฟ้องคดีจำเลยที่ 5 ในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือถึงโจทก์ยอมรับผิดในการละเมิดทั้งปวง ดังนี้ พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะผู้จัดทำและจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 5พิมพ์ออกจำหน่าย จึงได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ของโจทก์อันเป็นงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมรวมอยู่ด้วย ด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดงานขึ้นใหม่และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ การละเมิดลิขสิทธิ์อันเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ถือเป็นการละเมิดอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดค่าเสียหายดังกล่าวศาลอาจกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 438 วรรคแรก ค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าจำเลยลวงขายพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 โดยทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นพจนานุกรมของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายทางการค้าคิดเป็นเงิน1,000,000 บาท นั้น แม้จะฟังว่าจำเลยได้ลวงขายดังกล่าว แต่โจทก์เป็นส่วนราชการ ซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า ย่อมมิใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะการลวงขายนั้น ประชาชนที่ถูกหลอกลวงเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายมิใช่โจทก์ ทั้งความเสียหายเพราะการลวงขายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็มิได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในอันที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ โจทก์มิได้ลงทุนพิมพ์และจำหน่ายหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เอง แต่โจทก์อนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.เป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่าย โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตกลงให้ค่าแห่งลิขสิทธิ์แก่โจทก์เป็นเงินร้อยละ 10 ของราคาจำหน่ายต่อเล่มตามที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ทั้งหมดมิได้ตกเป็นของโจทก์ แม้จะฟังว่าเหตุที่หนังสือพจนานุกรมดังกล่าวยังเหลือค้างจำหน่ายอยู่อีกประมาณ 10,000 เล่ม เป็นเพราะหนังสือพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ของจำเลยได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดของหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2525 ไป โจทก์ก็มิใช่ผู้ต้องเสียหายเพราะเหตุนั้น จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่ไม่ปรากฏว่าภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยยังคงพิมพ์หนังสือพจนานุกรมของจำเลยโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ต่อไปจึงไม่มีค่าเสียหายในอนาคตที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์อันพึงได้จากการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์ที่ศาลจะกำหนดให้ได้อีก ในพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนคำนำในฐานะประธานคณะผู้จัดทำและคำนำฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ระบุชัดแจ้งว่า คณะผู้จัดทำเป็นผู้ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจากการพิมพ์ครั้งที่ 1ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำพจนานุกรมดังกล่าว และต้องร่วมรับผิดด้วย โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์จากรายงานของเจ้าหน้าที่โจทก์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2531 โจทก์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาปัญหาลิขสิทธิ์และอื่น ๆ เกี่ยวกับพจนานุกรมของจำเลย เมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2531 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532ยังไม่พ้นกำหนดสามปีตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ปัญหาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ให้การในข้อนี้ไว้แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ การที่ศาลจะมีคำสั่งให้บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่ง ศาลจึงไม่อาจสั่งให้บรรดาสิ่งของดังกล่าวตกเป็นของโจทก์และให้จำเลยส่งมอบแก่โจทก์ได้ ที่มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการ ทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย"นั้น เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 7 บทกำหนดโทษของพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งใช้บังคับได้เฉพาะแก่คดีอาญาไม่อาจนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งได้ เมื่อพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในพจนานุกรมของโจทก์ และจำเลยที่ 5มิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้มีส่วนในการจัดทำพจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ประธานคณะผู้จัดทำ และจำเลยที่ 2จัดทำพจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องจำเลยที่เป็นนิติบุคคลและการกระทำของผู้แทน: กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดลงชื่อในคำสั่งของจังหวัดให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ โดยอ้างว่าออกทับที่สาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เป็นคำสั่งของจังหวัดที่กระทำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70(75 เดิม) โจทก์ฟ้องจังหวัดเป็นจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1398/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ: ความประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบทรัพย์สินและการรับผิดร่วม
จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้ร่วมเป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่ถูกเขตชลประทาน จึงมีหน้าที่ต้องไปดูบริเวณที่ดินและตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรเพื่อให้ทราบถึงจำนวนเงินที่แท้จริงที่โจทก์จะต้องจ่ายค่าทดแทนและค่ารื้อย้ายทรัพย์สินการที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตรวจดูรายงานของเจ้าหน้าที่คนอื่นแล้วร่วมลงชื่อ โดยมิได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยตนเอง จึงเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1 และเป็นสาเหตุให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินของราษฎรตามที่คณะอนุกรรมการเสนอเรื่องไป ความเสียหายที่โจทก์จ่ายเงินทดแทนเกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินตามความเป็นจริงจึงเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ร่วมกับบุคคลอื่นกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับบุคคลอื่นดังกล่าวร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในความเสียหายทั้งหมดแต่เพียงคนเดียวก็ได้ คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในการกระทำละเมิดต่อโจทก์คดีนี้ได้สอบสวนมีความเห็นว่า จำเลยทั้งหกเป็นผู้กระทำละเมิด ควรลงโทษทางวินัยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหก ได้เสนอเรื่องราวตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีกรมโจทก์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2527 ในวันเดียวกันอธิบดีกรมโจทก์เห็นว่ายังไม่มีการเสนอเรื่องผ่านรองอธิบดีเป็นการผิดขั้นตอน จึงมีคำสั่งให้เสนอรองอธิบดีพิจารณาเรื่องก่อน รองอธิบดีเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมโจทก์เมื่อวันที่3 กุมภาพันธ์ 2527 และอธิบดีกรมโจทก์มีบันทึกเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2527 เมื่อปรากฏว่าในวันที่อธิบดีกรมโจทก์มีคำสั่งให้เสนอเรื่องต่อรองอธิบดีก่อนนั้นอธิบดีกรมโจทก์เพียงแต่อ่านหัวเรื่องและทราบว่ามีการสอบสวนเรื่องนี้เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่า อธิบดีกรมโจทก์รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์ในวันที่ 27 มกราคม 2527 กรณีต้องถือว่ากรมโจทก์รู้การละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดในวันที่ 6 กุมภาพันธ์2527 ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีกรมโจทก์พิจารณาเรื่องราวและความเห็นของเจ้าหน้าที่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2528ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทสัญญาค้ำประกันและสัญญาใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญา รวมถึงการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แม้สัญญารับทุนจะใช้แบบตามที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้กับข้าราชการผู้รับทุน โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นข้าราชการหรือได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจทำสัญญาที่มีข้อความตามแบบดังกล่าว อันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เพื่อจะก่อให้เกิดสิทธิตามข้อความในสัญญาซึ่งชอบด้วยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ด้วย ศูนย์เอกสารทางหลวงเอเชียอยู่ในสังกัดของโจทก์ น.เป็นข้าราชการของโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว น.ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง องค์การสหประชาชาติเป็นผู้ออกค่าเดินทางระหว่างประเทศรัฐบาลอังกฤษภายใต้แผนโคลัมโบออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ระหว่างการฝึกอบรม ณ ประเทศอังกฤษ และต่อมารัฐบาลอังกฤษยินยอมขยายเวลาให้จำเลยที่ 1 ศึกษาขั้นปริญญาโททางบรรณารักษศาสตร์อีก 1 ปีด้วยทุนภายใต้แผนโคลัมโบ ผ่านกรมวิเทศสหการ จึงถือได้ว่าเป็นทุนที่รัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศมอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยตกลงรับทุนนั้น โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลไทยที่จะได้รับประโยชน์จากทุนดังกล่าว และได้ให้ตัวแทนทำสัญญากับจำเลยทั้งสองจึงถือได้ว่าเป็นทุนของโจทก์ แม้ทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปฝึกอบรมกับทุนศึกษาต่อขั้นปริญญาโท จะเป็นวิชาบรรณารักษศาสตร์เช่นเดียวกันก็ตาม แต่การศึกษาต่อขั้นปริญญาโทแตกต่างจากการฝึกอบรม มิใช่เรื่องที่ต่อเนื่องจากการฝึกอบรม ถือไม่ได้ว่าการศึกษาต่อขั้นปริญญาโทอยู่ภายในขอบของสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์ ดังนี้ แม้สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์จะมิได้กำหนดอายุของสัญญาไว้ก็ดี แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ตกลงค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ใหม่ในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทจำเลยที่ 2 จึงหาต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทไม่ คงรับผิดเพียงเฉพาะการไปฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ก่อนศึกษาต่อขั้นปริญญาโท ตามสัญญารับทุนถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะต้องชดใช้ทุนและค่าเดินทางให้แก่โจทก์ตามส่วนเฉลี่ยที่ทำงานชดใช้ทุนคืนไม่ครบและเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ตลอดทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของจำนวนที่ต้องชดใช้คืนภายในกำหนดตามสัญญาด้วย เงินที่จะต้องชดใช้คืนทั้ง 3 ประเภทและดอกเบี้ยดังกล่าวมานี้เป็นเบี้ยปรับที่ลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะชดใช้ให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้เจ้าหนี้ริบและเรียกเอาเบี้ยปรับได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 แต่แม้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ก็ตาม ลูกหนี้จะต้องชำระเบี้ยปรับก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับนั้นก่อนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคแรก,381 วรรคแรก เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ทำงานชดใช้ทุนคืนให้ถูกต้องตามสัญญา แม้โจทก์จะมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินทุนคืนและเบี้ยปรับอีก 1 เท่าเป็นเงินจำนวนหนึ่งต่ำกว่าเงินทุนและเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนตามจำนวนที่ถูกต้องเพราะการคำนวณผิดพลาด ทั้งมิได้ทวงถามค่าเดินทางและเบี้ยปรับ 1 เท่าด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเบี้ยปรับในส่วนของเงินทุนนี้โจทก์ได้ทวงถามให้ชดใช้ทั้งหมดตามจำนวนที่ถูกต้องแล้ว หาใช่เพียงเรียกให้ชดใช้ตามจำนวนที่ผิดพลาดดังกล่าวไม่ สำหรับเบี้ยปรับในส่วนของค่าเดินทางแม้โจทก์จะมิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระด้วย แต่การฟ้องเรียกเอาเบี้ยปรับในส่วนนี้ก็คือการทวงถามหรือการเรียกเอาเบี้ยปรับนั่นเองจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับในส่วนของเงินทุนจำนวนที่ถูกต้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดตามหนังสือทวงถามเป็นต้นไป และเบี้ยปรับในส่วนของค่าเดินทางพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 เฉพาะในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมนั้น ทางพิจารณาไม่ปรากฏชัดว่ารัฐบาลอังกฤษได้ออกทุนให้เฉพาะการฝึกอบรมเป็นเงินจำนวนเท่าใด คงได้ความว่าทุนที่ให้ทั้งการฝึกอบรมและการศึกษาต่อขั้นปริญญาโทรวมเป็นเงินจำนวนหนึ่งสำหรับการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อนาน 2 ปี 45 วัน หรือเท่ากับ 775 วัน จำเลยที่ 1 จะต้องทำงานใช้ทุนอีก 424 วัน ตามคำของจำเลยที่ 2 ก็คงอ้างลอย ๆ มาว่า เท่าที่ทราบมาค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 เดือน เป็นเงินจำนวนที่น้อยกว่าเท่านั้น ศาลฎีกากำหนดให้คิดเงินทุนในการฝึกอบรมโดยเฉลี่ยตามระยะเวลา โดยคำนวณจากเงินทุนในการฝึกอบรมและการศึกษาต่อขั้นปริญญาโท คูณด้วยระยะเวลาในการไปฝึกอบรม หารด้วยระยะเวลาในการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง บัญญัติว่า "การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน" อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้จึงหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี ซึ่งตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจะซื้อจะขาย: เอกสารแสดงเจตนาครบถ้วนสมบูรณ์ แม้มิได้ใช้คำว่า 'สัญญา' ก็มีผลผูกพันตามกฎหมาย
เอกสารแม้จะมิได้ใช้ถ้อยคำว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ก็มีข้อความระบุชัดแจ้งถึงข้อตกลงของคู่กรณีในอันที่จะทำการซื้อขายที่ดินโดยระบุชัดเจนทั้งตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ ราคาที่ซื้อขายทอดตลาดจนวิธีการและกำหนดเวลาในการปฏิบัติการชำระหนี้ได้สาระสำคัญครบถ้วน จึงมีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายบริบูรณ์ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1ตามกฎหมายโดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจ เอกสารสัญญาจะซื้อจะขายเป็นข้อตกลงที่เกิดจากการเสนอของคู่กรณีโดยถูกต้องสมบูรณ์ มีสาระสำคัญครบถ้วนมีผลเป็นนิติกรรมแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้สนองรับคู่กรณีผู้แสดงเจตนาย่อมต้องผูกพันตามผลนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2441/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงลายมือชื่อรับเงินแทนบริษัท: กรรมการคนเดียวทำได้ ไม่ต้องมีลายมือชื่อ/ตราบริษัท
การรับเงินหรือเอกสารแทนนิติบุคคล ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปรับเงินหรือเอกสารก็สามารถลงลายมือชื่อรับได้ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงลายมือรับเช็คเพียงคนเดียวก็สมบูรณ์แล้วไม่จำต้องให้กรรมการคนอื่นลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมการบริษัทลงลายมือชื่อเช็คในฐานะผู้แทนบริษัท ไม่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินส่วนบุคคล
เจ้าหนี้มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เพื่อร่วมลงทุน จำเลยที่ 1ออกเช็คพิพาทมอบให้เจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกัน เช็คพิพาทมี ป.กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 มิได้เขียนว่ากระทำการแทน แต่การที่ ป. กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลโดยผู้แทนของนิติบุคคล จึงเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำของตัวแทนที่ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินแทนตัวการ แต่มิได้เขียนแถลงว่ากระทำแทนบุคคลอื่น ซึ่งบุคคลนั้นต้องรับผิดตามความในตั๋วเงินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901 จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้อง, การชำระหนี้บางส่วน, เช็ค, สัญญาค้ำประกัน, และขอบเขตความรับผิดของลูกหนี้ร่วม
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าฟ้องเคลือบคลุม เพราะไม่บรรยายว่าจำเลยนำเช็คไปขายลดเท่าใด ชำระแล้วเท่าใด ค้างอีกเท่าใด แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ทราบยอดหนี้ที่แน่นอน ทำให้จำเลยไม่เข้าใจสภาพแห่งข้อหา ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงแตกต่างไปจากที่ให้การต่อสู้คดีไว้ และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มี น. ผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความรับรอง และยืนยันว่าได้มอบอำนาจให้ตนฟ้องคดีจริง แม้จะไม่ได้นำผู้มอบอำนาจมาเบิกความเป็นพยาน เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างย่อมฟังได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ น. ฟ้องคดีจริง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค เมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 นำไปขายลดเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยึดเช็คดังกล่าวไว้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คได้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คให้โจทก์ แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยที่ 1 จึงสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่ให้แทนเพื่อเป็นประกันเช็คที่เรียกเก็บเงินไม่ได้ โดยไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์จะต้องคืนเช็คที่ขายลดดังนี้ การสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่ให้โจทก์ไป จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้และตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ยึดถือเช็คที่ขายลดไว้ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะอ้างเหตุที่โจทก์ไม่คืนเช็คที่ทำสัญญาขายลดไว้ เพื่อปัดความรับผิดไม่ต้องชำระหนี้หาได้ไม่ การที่ น. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง แต่หลังจากฟ้องแล้ว ทราบว่าจำเลยนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์แต่จะเป็นจำนวนเท่าใดจำไม่ได้นั้น เป็นการเบิกความยืนยันว่าขณะโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นหนี้อยู่ตามฟ้อง เมื่อฟ้องแล้วหนี้ได้ลดลงเพราะได้มีการชำระหนี้กันบางส่วน เพียงแต่จำนวนเท่าใดจำไม่ได้เท่านั้น ทางพิจารณาจึงไม่ต่างกับฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาเรื่องจำนวนเงินที่ตนจะต้องรับผิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 3ได้ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 2,000,000บาท และอุปกรณ์แห่งหนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ด้วย เพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบ 247