พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2075/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหนี้ผ่อนชำระ และผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน
การที่ บ. ผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนตามตารางกำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมโดยตกลงผ่อนชำระงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 5 งวดละ 27,800 บาทงวดที่ 6 จำนวน 26,642.41 บาท งวดที่ 7 จำนวน 47,450 บาทแล้วลดหลั่นกันไปแต่ละเดือนจนถึงงวดสุดท้ายจำนวน 22,950 บาทรวมทั้งหมด 57 งวด ถือได้ว่า บ. ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนเป็นงวด ๆ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี โจทก์ฟ้องคดีวันที่16 พฤศจิกายน 2536 เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่9 มกราคม 2523 ซึ่งเป็นวันที่ บ. ผิดนัดและโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ บ. ชำระหนี้ทั้งหมดได้คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 193/33(2) โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ บ. ชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่9 มกราคม 2523 แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2531 ภายหลังเวลาที่คดีขาดอายุความแล้วและที่ บ.ชำระหนี้แก่โจทก์ไปจำนวนหนึ่งนั้นก็เป็นการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วเช่นนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องรับสภาพหนี้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของโจทก์และการที่บ.ชำระหนี้โจทก์ไปบางส่วน จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. บิดาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันนั้น ถือตามอายุความของลูกหนี้ เมื่อคดีเกี่ยวกับบ.ลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว คดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2และ ส. บิดาจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันก็ย่อมขาดอายุความไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4758/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสะดุดหยุดจากหนังสือแจ้งหนี้ในคดีล้มละลาย และดอกเบี้ยหลังแจ้งหนี้
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแจ้งความไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 วรรคแรก เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยถือได้ว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีซึ่งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เดิมเมื่อผู้คัดค้านได้แจ้งความเป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่12 มกราคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้อายุความจึงสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านจึงยังไม่ขาดอายุความ และมิใช่ผู้คัดค้านเพิ่งมาใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เมื่อวันที่12 มกราคม 2537 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านมีหนังสือยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องให้ชำระหนี้ตามมาตรา 119 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม ใช้บังคับแก่ดอกเบี้ยที่ค้างส่งอยู่ก่อนวันฟ้อง เมื่อการแจ้งความ เป็นหนังสือให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 มีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดีแล้วดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างส่งจะใช้มาตรา 166 เดิมมาบังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อบอกเลิกและหักทอนบัญชี ดอกเบี้ยทบต้นเป็นต้นเงินไม่อยู่ในอายุความ
โจทก์และจำเลยมิได้กำหนดระยะเวลาตัดทอนบัญชีหรือกำหนดระยะเวลาของอายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้ ดังนั้น สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียก่อนเมื่อโจทก์หักทอนบัญชีในวันที่ 26 กันยายน 2526 และทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้วสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสุดสิ้นลงในวันดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นไปถึงวันนั้น ดอกเบี้ยทบต้นที่ธนาคารโจทก์คิดเอาแก่จำเลยตามข้อตกลงในระหว่างสัญญาได้กลายเป็นต้นเงินแล้วจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งอันจะอยู่ในอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 เดิม หรือ 193/33 ใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลของการเลิกสัญญาและการคืนสู่สภาพเดิม ความรับผิดของผู้เริ่มก่อการบริษัท และดอกเบี้ยจากการใช้สิทธิเลิกสัญญา
โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยระบุเหตุชัดแจ้งทั้งในเรื่องจำเลยมิได้จัดให้มีไฟฟ้าและประปาตามแบบแปลนท้ายสัญญาและยังอ้าง งื่อนไขตามสัญญาข้อ6เรื่องการสร้างโรงภาพยนต์ชัดแจ้งทั้งเหตุที่โจทก์อ้างดังกล่าวชี้ระบุไว้ชัดแจ้งในสัญญาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1ย่อมตกเป็นผู้ผิดสัญญา ชอบที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่จำต้องชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตามที่จำเลยเรียกร้องและมิพักต้องคำนึงว่าข้อกำหนดแห่งการชำระเงินค่างวดตามสัญญา เป็นข้อสำคัญหรือไม่ ขณะที่จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาฉบับพิพาทกับโจทก์นั้นยังอยู่ในระยะเวลาดำเนินการก่อตั้งและขอจดทะเบียนจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เริ่มก่อการบริษัทจึงต้องรับผิดตามสัญญาที่ตนได้ทำขึ้นจนกว่าที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติและได้จดทะเบียนบริษัทแล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1113 แต่เมื่อยังไม่มีการอนุมัติสัญญาฉบับพิพาทในการประชุมตั้งบริษัท แม้จะมีการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1และภายหลังจำเลยที่ 1 ได้เข้าถือสิทธิตามสัญญาฉบับพิพาทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้ และความรับผิดของจำเลยที่ 2ดังกล่าวนี้ เป็นผลเกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา 391 กล่าวคือเมื่อโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาฉบับพิพาทต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญาแล้ว ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่จำต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ความรับผิดดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีโดยมิพักต้องอาศัยการบอกกล่าวอีก ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 2 จำต้องให้โจทก์ได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการใช้เงินคืนแก่โจทก์โดยให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391ซึ่งเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมหาใช่หนี้ดอกเบี้ยค้างส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166(เดิม) ไม่ โจทก์มีพยานเอกสารคือบันทึกการรับเช็คท้ายสัญญาฉบับพิพาทซึ่งปรากฏเหตุการณ์รับเช็คเป็นลำดับต่อเนื่องตั้งแต่แรกรับเช็คและการเปลี่ยนเช็คสำหรับค่างวดแรกต่อท้ายด้วยบันทึกการรับเช็คสำหรับเงินค่างวดที่สอง โดยมีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปรากฏเป็นผู้รับทุกลำดับต่อเนื่องกันมา การบันทึกยอมรับเช็คสำหรับเงินค่างวดโดยไม่ปรากฏมีข้อทักท้วง สงวนหรืออิดเอื้อนเกี่ยวกับเงินงวดแรกดังที่ปรากฏ ย่อมเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ได้รับเงินงวดแรกไปเรียบร้อยแล้ว หนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ค้างมีข้อความชัดแจ้งว่าเป็นการทวงถามเงินค่างวดที่สองและต่อจากนั้นโดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อในเอกสารดังกล่าว แสดงว่าโจทก์มิได้ค้างชำระเงินงวดแรก คำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงยืนยันปฏิเสธแต่เพียงว่าไม่ได้รับชำระเงินงวดที่สอง เป็นการยอมรับว่าได้รับเงินงวดแรกแล้วจริงตามฟ้องโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้การต่อสู้ในเรื่องรับเงินนี้แต่เพียงว่าไม่รับรองความถูกต้องเท่านั้น หาได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามฟ้องโดยชัดแจ้งไม่และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ได้ยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบว่าเช็ค จ.10 และ จ.11 ตลอดจนเช็คชำระเงินงวดที่สองมีการเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ได้แล้วจริงดังนี้แม้เช็คเอกสาร จ.10 และ จ.11 จะมีจำนวนเงินและวันเวลาไม่สอดคล้องกับที่ปรากฏในบันทึกการรับเช็คก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ให้การและนำสืบรับดังกล่าวข้างต้น ข้อดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้อปลีกย่อยในพลความที่มิได้เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นพิพาทในคดีมาตั้งแต่ต้น ไม่อาจมีผลเปลี่ยนคำรับของจำเลยที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือสัญญากู้ยืมที่ผู้กู้ลงลายมือชื่อ แม้ผู้ให้กู้ลงลายมือชื่อปลอม ก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ ดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ไม่ขาดอายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงินและลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้ไม่ใช่ลายมือชื่อส. ผู้ให้กู้แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยเสียไปไม่ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่)นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระจะใช้มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่) บังคับไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือสัญญากู้ยืมที่ผู้กู้ลงลายมือชื่อ แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้เป็นปลอม ก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ และดอกเบี้ยหลังวันฟ้องไม่ติดอายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 บังคับให้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ โดยมิได้บังคับผู้ให้กู้ต้องลงลายมือชื่อด้วย เมื่อจำเลยเป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงิน และลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้แล้วย่อมฟ้องร้องบังคับคดีได้ แม้ลายมือชื่อผู้ให้กู้เป็นลายมือชื่อปลอม ก็หามีผลให้หลักฐานการฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยได้ที่สมบูรณ์อยู่แล้วเสียไปไม่ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม (มาตรา 193/33 ใหม่)หมายถึงดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ก่อนวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระ โจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเกิน 5 ปี โดยไม่มีกำหนดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประเด็นความรับผิดจากละเมิดของลูกจ้างต่อนายจ้าง และการผูกพันคำพิพากษาในคดีก่อน
จำเลยให้การว่า ศาลแรงงานกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้ จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องเคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าใครเป็นคนครอบครองเงิน เงินสูญหายอย่างไร และใครเป็นผู้รับผิดชอบจำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินสดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาทโจทก์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการสอบสวนผลการสอบสวนไม่สามารถหาสาเหตุแห่งการที่เงินสดสูญหายไป แต่จำเลยยอมรับว่าเงินสดที่ขาดบัญชีอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยเป็นคนครอบครองเงินเงินสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ และจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งจำเลยก็ให้การว่าเงินได้ขาดหายไปขณะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการและสมุห์บัญชี ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลยจำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อหรือจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานและลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานที่ดีของโจทก์โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามคำฟ้องดังกล่าวนอกจากเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดแล้ว ยังเป็นคำฟ้องที่อ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดหน้าที่ที่จำเลยต้องกระทำตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดอายุความเกี่ยวกับการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี แม้คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่า โจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้รับจำเลยกลับเข้าทำงานหรือใช้ชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเงินอื่น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไปจำนวน 1,000,000 บาท ขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย แต่เหตุที่จำเลยอ้างในคดีก่อนว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมคือ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยจำเลยมิได้กระทำผิด ซึ่งโจทก์ก็ให้การในคดีดังกล่าวว่า โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยเพราะจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปจำนวน 1,000,000 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีก่อนกับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นปัญหาเดียวกันว่า จำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไปหรือไม่ แม้คดีก่อนจำเลยจะเป็นฝ่ายฟ้องโจทก์ ส่วนคดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายฟ้องจำเลย แต่โจทก์จำเลยในคดีทั้งสองก็เป็นคู่ความเดียวกัน จำเลยจึงเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ต้องฟังว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้เงินของโจทก์ในความครอบครองของจำเลยขาดบัญชีไป สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่มีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม หมายถึง โจทก์จะเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งนับถึงวันฟ้องเกิน 5 ปี แล้วไม่ได้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างส่งก่อนวันฟ้องนับย้อนหลังไปไม่เกิน5 ปี โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องได้ หาใช่ว่าถ้าโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องแล้ว สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างส่งจะขาดอายุความไปทั้งหมดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหนี้และการรับสภาพหนี้: ผลต่อการฟ้องล้มละลาย
หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำไว้กับโจทก์เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฝ่ายเดียว โดยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงโจทก์หาได้ลงลายมือชื่อ โดยมีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 ไม่ จึงไม่ทำให้มูลหนี้เดิมระงับสิ้นไปเกิดเป็นมูลหนี้ใหม่ คือมูลหนี้เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2) ที่แก้ไขใหม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดคือวันที่ 4 เมษายน 2523 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ ซึ่งนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี หนี้ตามคำขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและหนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อหรือทรัสต์รีซีทซึ่งจำเลยที่ 3ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2384/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสิทธิเรียกร้องจากสัมปทานปิโตรเลียม: สัญญาต่างตอบแทนใช้ อายุความ 10 ปี, ดอกเบี้ยค้างชำระ 5 ปี
สัมปทานปิโตรเลียมที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยกับพวกเป็นการอนุญาตให้จำเลยกับพวกมีสิทธิแต่ผู้เดียวในกิจการสำรวจการปิโตรเลียมภายในขอบเขตที่กำหนดซึ่งจำเลยกับพวกจะต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ แต่การจ่ายเงินผลประโยชน์มีจำนวนมากหลายรายการเพื่อผ่อนผันแบ่งเบาภาระให้แก่จำเลย จึงได้กำหนดในสัมปทานให้แบ่งชำระเป็นงวด เงื่อนไขดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์พึงได้รับประโยชน์จากการที่ยอมให้สัมปทานแก่จำเลย มิใช่เป็นเงินอื่น ๆ ที่กำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จึงไม่เป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดอายุความไว้ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม เมื่อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะเป็นอย่างอื่นจึงต้องใช้อายุความทั่วไปกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินผลประโยชน์พิเศษให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์เตือนแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งที่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 166 เดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2384/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนจากสัมปทานปิโตรเลียม: ต่างตอบแทน vs. จ่ายเป็นระยะเวลา
สัมปทานปิโตรเลียมที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยเป็นการอนุญาตให้จำเลยมีสิทธิที่จะทำได้แต่ผู้เดียวในกิจการสำรวจการปิโตรเลียมภายในขอบเขตที่กำหนดซึ่งจำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์แต่การจ่ายเงินผลประโยชน์มีจำนวนมากหลายรายการเพื่อผ่อนผันแบ่งเบาภาระให้แก่จำเลย จึงได้แบ่งชำระเป็นงวด เงื่อนไขดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์พึงได้รับประโยชน์จากการที่ยอมให้สัมปทานแก่จำเลย แม้เงินผลประโยชน์พิเศษงวดที่ 3 ใช้คำว่า"กับทุกปีหลังจากนั้นเป็นเวลาต่อเนื่องกันอีกสองปี" ก็ตาม ก็มิใช่เป็นเงินอื่น ๆ ที่มีกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา จึงไม่เป็นสิทธิเรียกร้องที่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 เดิม สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปกำหนด10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินผลประโยชน์พิเศษให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์เตือนแล้วโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก นับตั้งแต่วันผิดนัด แต่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ย ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งที่มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 เดิม ดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินกว่า 5 ปี จึงขาดอายุความ