คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไมตรี สุเทพากุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 247 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนไม่ครอบคลุมงานใหม่ จำเลยไม่มีสิทธิในลิขสิทธิ์และต้องคืนเงิน
จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในงานภาพยนตร์ งานวรรณกรรม และงานศิลปกรรมอันมีลักษณะเป็นงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์ ที่เป็นตัวงานเรียกว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ ในลักษณะเป็นรูปคนที่เป็นตัวละครต่างๆ ในตระกูลเดียวกันกับอุลตร้าแมน งานภาพยนตร์อุลตร้าแมนทั้งปวง สัตว์ประหลาดที่เป็นตัวละครในภาพยนตร์ดังกล่าว ภาพเหมือน ภาพวาด และภาพถ่ายในลักษณะต่างๆ ของตัวละครตระกูลอุลตร้าแมน และสัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ดังกล่าว และจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ รวมทั้ง ชื่อ รูปรอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าประเภทลักษณะตัวละครอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ในลักษณะต่างๆ และสัตว์ประหลาดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งชื่อและข้อความว่า อุลตร้าแมน หรือยอดมนุษย์ซึ่งได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนอกราชอาณาจักร โดยได้รับโอนสิทธิจากบริษัท ซ. ในประเทศญี่ปุ่น แต่จำเลยไม่ได้อ้างว่า จำเลยเป็นผู้สร้างสรรค์ในงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมน คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยมีลิขสิทธิ์โดยการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนต่างๆ ตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยทำนองว่า จำเลยได้พัฒนาหรือสร้างสรรค์ผลงานอุลตร้าแมนตัวต่างๆ ที่จำเลยอนุญาตให้ใช้สิทธิตามฟ้องตามสิทธิของจำเลยในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3639/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดียาเสพติด: ข้อสงสัยในความผิด และการห้ามมิให้เรียกร้องริบของกลางซ้ำ
คำขอของโจทก์ที่ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางปรากฏจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 ท้ายคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวว่า โจทก์เคยมีคำขอให้ริบรถของกลางดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางมาแล้ว ถ้าโจทก์ไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว เมื่อคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ 2221/2552 เดิมเป็นคู่ความรายเดียวกัน ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกฟ้องเป็นวิธีพิจารณาความเพื่อความสะดวกในการพิจารณาคดีเท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำขอให้ริบของกลางในคดีก่อนและคดีนี้เป็นการอ้างเหตุเดียวกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีก่อน จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในประเด็นเรื่องของกลางแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ร้องขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้อีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ของกลางมาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาการแบ่งยาเสพติดเพื่อเสพร่วมกัน ไม่ถือเป็น 'จำหน่าย' ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
พฤติการณ์ของจำเลยที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1 เม็ด ให้แก่ บ. หลังจากนั้นแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ บ. ส. ท. และ ร. คนละ 1/4 เม็ด เพื่อนำไปเสพอีก และจำเลยก็เสพในเวลาต่อเนื่องกัน แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจะเสพด้วยจึงแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อจะเสพพร้อมกับจำเลย กรณีไม่ใช่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้บุคคลดังกล่าวเพื่อให้แต่ละคนไปเสพเพียงลำพังภายหลัง จึงเป็นการมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน มิใช่มีเจตนาแจกจ่ายให้แก่บุคคลดังกล่าว การกระทำของจำเลยหาได้อยู่ในความหมายของคำว่าจำหน่าย ตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีเจตนาเดียวกันและคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาเดียวกัน มีวันกระทำความผิด และสถานที่เกิดเหตุในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างราย การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเผยแพร่เพลงดังกล่าวต่อสาธารณชนต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีก่อนแล้ว ฟ้องในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3069/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถบรรทุกต้องรับผิดชอบหากปล่อยปละละเลยให้คนขับบรรทุกน้ำหนักเกิน แม้มีระเบียบแต่ไม่ตรวจสอบ
ตามคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องมีประเด็นเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าสมควรริบรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนรถบรรทุกลากจูงและรถกึ่งพ่วงของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้จำเลยจงใจฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องเกี่ยวกับการบรรทุกน้ำหนักเกินก็ตาม แต่ระเบียบและประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องใช้บังคับต่อจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องยังต้องมีหน้าที่ตรวจตราว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของผู้ร้องดังกล่าวหรือไม่เพื่อมิให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินอีกด้วย ทั้งการตรวจตรามิใช่เพียงแต่มีระเบียบและประกาศให้จำเลยปฏิบัติตามหรือหัวหน้างานโทรศัพท์สอบถามจากจำเลยเท่านั้น นอกจากนี้การที่ผู้ร้องไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องในขณะที่มีการขนถ่ายสินค้าภายในโรงงานของบริษัท น. ได้ ก็มิใช่ว่าผู้ร้องไม่อาจตรวจตราได้ว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ เมื่อผู้ร้องไม่มีการควบคุมตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบและประกาศของผู้ร้องหรือไม่ ย่อมเป็นช่องทางให้จำเลยฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องได้โดยง่าย ซึ่งผู้ร้องย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ดังนี้ การที่ผู้ร้องปล่อยปละละเลยให้จำเลยฝ่าฝืนระเบียบและประกาศของผู้ร้องจนจำเลยบรรทุกน้ำหนักเกินเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าน้ำหนักน้ำมันรถจะขาดหายไปพอดีกับน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไว้และจำเลยต้องการทำเวลาเพื่อจะได้ขับรถได้จำนวนหลายรอบ ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2767/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและการสับสนของผู้บริโภคในสินค้าประเภทเดียวกัน
เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBID - COMBID" ของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่จำนวน 6 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF Combif" ประกอบด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ 1 ตัว และตัวพิมพ์เล็กอีกจำนวน 5 ตัว อ่านออกเสียงว่า คอมบิฟ แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสอง จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันจำนวน 6 ตัว เช่นเดียวกัน และเป็นอักษรโรมันที่เหมือนกันเกือบทั้งหมดโดยมีความแตกต่างกันที่ตัวอักษรตัวสุดท้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBID" ของโจทก์เป็นตัวอักษร "D" แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF" เป็นตัวอักษร "F" ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสองแล้ว พบว่ามีความแตกต่างที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ในขณะที่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF Combif" คำที่ 2 มีเพียงตัวอักษรตัวแรก คืออักษร "C" เท่านั้นที่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ส่วนตัวอักษรที่เหลือทั้งหมดเป็นตัวพิมพ์เล็ก นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าทั้งสองแม้จดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน คือ จำพวกที่ 5 แต่รายการสินค้าที่จดทะเบียนนั้นแตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จดทะเบียนใช้กับรายการสินค้ายาที่เตรียมขึ้นเพื่อใช้ต่อต้านหรือทำลายเชื้อไวรัส ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF Combif" ขอจดทะเบียนใช้กับรายการสินค้าอาหารเสริมใช้ในทางการแพทย์ช่วยย่อยอาหารและป้องกันท้องผูก ซึ่งเป็นสินค้าคนละประเภทกัน โอกาสที่ผู้บริโภคจะสับสนหลงหรือผิดจึงเป็นไปได้น้อย แม้จะเป็นสินค้าจำพวกยาเหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งกลุ่มผู้ใช้สินค้าของยาทั้งสองก็แตกต่างกัน สินค้ายาตามเครื่องหมายการค้า "COMBID" ของโจทก์ ผู้ใช้คือผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งไม่สามารถซื้อใช้เองได้โดยตรง แต่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "COMBIF" เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างกว่า ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ ดังนั้น แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะมีเสียงเรียกขานใกล้เคียงกันก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า "COMBIF" ที่ขอจดทะเบียนจึงเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 (3) และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การใช้เครื่องหมายที่คล้ายกันโดยสินค้าต่างประเภท และการประเมินค่าเสียหาย
แม้คดีก่อนและคดีนี้โจทก์และจำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์เช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค169410 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค201033, ค201729, ค210592, ค265798 และ ค294075 ทั้งในคดีก่อนมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "Super Shield" หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ คดีก่อนและคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คนละเครื่องหมายซึ่งใช้กับสินค้าแตกต่างกัน และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความมีลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายแตกต่างกัน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยคดีก่อนก็แตกต่างจากคดีนี้ คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
แม้คำว่า "SuperShield" เมื่อนำมาใช้กับสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร จะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แต่โจทก์ได้นำสืบการได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม โดยแสดงหลักฐานความแพร่หลายในการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้า ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่าพิจารณาจากหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่ามีความแพร่หลายตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม จึงให้รับจดทะเบียนได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม
แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นของโจทก์ที่โจทก์ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "SuperShield" ไว้แล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "SuperShield" โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพียงมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ประกอบกับคำว่า "SuperShield" ก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน และสีน้ำใช้สำหรับทาอาคารที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" กับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44
การใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่จดทะเบียนไว้อาจมีการใช้เครื่องหมายอื่นควบคู่กันไปก็ได้ โดยเฉพาะคำว่า "TOA" เป็นชื่อของบริษัทโจทก์ด้วย การที่โจทก์ใช้คำว่า "TOA" ควบคู่กับคำว่า "SuperShield" ก็เพื่อให้ผู้ซื้อทราบว่าเป็นสินค้าของบริษัทโจทก์ โจทก์ใช้คำว่า "SuperShield" ตัวใหญ่ที่ส่วนบนสุดของกระป๋องบรรจุภัณฑ์ แม้จะมีคำว่า "TOA" อยู่ด้วยแต่ก็วางอยู่ที่ด้านล่างสุดไม่มีลักษณะที่เด่นเห็นได้ชัดเหมือนคำว่า "SuperShield" แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าสีของโจทก์ว่าแตกต่างจากสินค้าสีของบุคคลอื่น จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้า หาได้ใช้อย่างคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้าไม่
คำว่า "SuperShield" แปลว่า ป้องกันได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อโจทก์ใช้กับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร จึงเป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้าโจทก์ว่าเมื่อนำสีของโจทก์ไปทาบ้านแล้วจะสามารถป้องกันบ้านได้อย่างดีเยี่ยมและนาน แต่จำเลยใช้คำว่า "SuperShield" ในลักษณะเป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้ากาวซีเมนต์ กาวยาแนว และซีเมนต์ทากันซึม ซึ่งคำว่า "Shield" แปลว่า โล่ห์ เครื่องบัง แผ่นกำบัง เกราะ จึงไม่อาจบรรยายคุณสมบัติของสินค้าจำพวกกาวหรือซีเมนต์ทากันซึมได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะหรือคุณสมบัติของกาวหรือซีเมนต์ทากันซึม ทั้งเมื่อพิจารณากระป๋องสินค้าของจำเลยแล้วเห็นได้ว่าจำเลยจงใจนำคำว่า "SUPER - SHIELD" มาวางไว้ที่ด้านหน้ากระป๋องโดยวางอยู่ในตำแหน่งบนสุด และเป็นจุดที่มองเห็นได้ชัดที่สุดยิ่งกว่ารูปจระเข้ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยเจตนาจะให้ผู้ซื้อมองเห็นและจดจำคำดังกล่าวได้ยิ่งกว่าเครื่องหมายการค้ารูปจระเข้ของจำเลยที่มีขนาดเล็กและติดอยู่ด้านข้าง การที่จำเลยนำคำว่า "SUPER - SHIELD" ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เด่นและใช้เรียกขานสินค้าของโจทก์ไปใช้ จึงเป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่สุจริต มิได้ใช้เป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้า แม้สินค้าซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยจะเป็นสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร ของโจทก์ แต่สินค้าของโจทก์และจำเลยมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเหมือนกัน จึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
ในการพิจารณาว่าการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SUPER - SHIELD" กับสินค้าของจำเลยมาก่อนที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" อันจะถือว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น จะต้องพิจารณาถึงความสุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SUPER - SHIELD" ของจำเลยเป็นสำคัญ แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่ในขณะที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" กับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่อาจใช้คำที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" เพื่อใช้กับสินค้าสีน้ำมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งจำเลยย่อมทราบดีถึงการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ เนื่องจากจำเลยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายซีเมนต์ทากันซึมซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเช่นเดียวกัน แต่จำเลยกลับนำคำว่า "SUPER - SHIELD" มาใช้กับสินค้าประเภทซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นคำบรรยายสินค้าที่อยู่บนถุงบรรจุภัณฑ์สินค้าที่จำเลยซื้อจากบริษัทในต่างประเทศ โดยไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยจะต้องใช้คำดังกล่าวเป็นคำบรรยายสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าที่จำหน่าย จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้คำว่า "SUPER - SHIELD" กับสินค้าของจำเลยโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์
เมื่อจำเลยใช้คำว่า "SUPER - SHIELD" อย่างเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว แม้สินค้าของจำเลยจะเป็นซีเมนต์ทากันซึมซึ่งเป็นสินค้าต่างจำพวกกันกับสินค้าประเภทสีของโจทก์ แต่สินค้าของจำเลยกับของโจทก์ก็เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเช่นเดียวกัน ทั้งโจทก์ยังมีสินค้าโพลิเมอร์สังเคราะห์ใช้ป้องกันน้ำรั่วซึม ซึ่งบรรจุในกระป๋องเหมือนสินค้าซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยด้วย เมื่อบรรจุภัณฑ์สินค้าของจำเลยเป็นกระป๋องเช่นเดียวกับบรรจุภัณฑ์สินค้าของโจทก์และมีลักษณะคล้ายกัน และยังมีคำว่า "SUPER - SHIELD" คล้ายกับคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ด้วย สาธารณชนจึงอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของจำเลยได้ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า"SuperShield" ในประเทศไทยจนมีชื่อเสียงมาหลายสิบปี มียอดขายต่อปีสูงมาก และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวปีละจำนวนมาก แสดงว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณจนได้รับความนิยมเชื่อมั่นในสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จากผู้บริโภคทั่วไป การที่จำเลยใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้าส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยเจตนาไม่สุจริตแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าของตนโดยมิชอบ เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ ละเมิดลิขสิทธิ์: การกระทำความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไร เป็นกรรมเดียว แม้ผู้เสียหายต่างกัน
แม้เจ้าของลิขสิทธิ์ในคดีนี้กับในคดีหมายเลขแดงที่ อ.4061/2557 ดังกล่าวไม่ได้เป็นบุคคลเดียวกัน และงานอันมีลิขสิทธิ์เป็นคนละชิ้นกัน แต่การกระทำของจำเลยคือ การเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานดนตรีกรรมที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นและกระทำแก่งานนั้นเพื่อหากำไร อันเป็นการกระทำและเป็นความผิดในลักษณะเดียวกัน การที่งานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของทั้งผู้เสียหายและบริษัท ส. จัดเก็บอยู่ในหน่วยเก็บความจำหลักของเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่ร้าน ด. เช่นเดียวกัน และจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีการอย่างเดียวกันคือ การเปิดเพลงเป็นคาราโอเกะโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเภทมิดี้ไฟล์ที่มีการทำซ้ำดัดแปลงลงไว้ภายในหน่วยเก็บความจำหลักของคอมพิวเตอร์ อีกทั้งเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในวันเวลาเดียวกัน เท่ากับว่าจำเลยมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ส่วนการทำซ้ำหรือดัดแปลงเพลงต่าง ๆ แม้กระทำต่างเวลากัน ก็ไม่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้การพิจารณาการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดกรรมเดียวหรือต่างกรรมกัน ต้องพิจารณาเจตนาในการกระทำผิดเป็นสำคัญ หาได้พิจารณาจากการเปิดเพลงในแต่ละครั้งไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้อีกเพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกับคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานศิลปประยุกต์เป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
องค์ประกอบของความผิดในส่วนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการกระทำซ้ำหรือดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า โดยองค์ประกอบในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่มีจำกัดเวลาให้ได้รับความคุ้มครองอยู่ภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้วงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสมบัติสาธารณะที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้ ดังนี้ ในส่วนขององค์ประกอบของความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ที่เป็นสาระสำคัญ
แม้งานออกแบบและแบบร่างชุดกระโปรงจะเป็นงานจิตรกรรม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า อันเป็นประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานจิตรกรรมแล้ว งานของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นงานศิลปประยุกต์ ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (7) แห่งพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งมีลักษณะงานและอายุแห่งการคุ้มครองแตกต่างไปจากงานจิตรกรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหก (1) การที่จะรู้ว่างานดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้โฆษณางานในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ทั้งสามได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงเป็นคำฟ้องที่มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดให้ครบองค์ประกอบของความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) ไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายบริการ: 'Make THE Difference' ไม่ใช่คำที่ใช้ทั่วไปในการบริการธนาคาร
คำหรือข้อความที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการบริการนั้น หากว่าเป็นคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของรายการบริการธนาคารพาณิชย์ที่ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว คำหรือข้อความนั้นย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แล้ว ส่วนคำหรือข้อความอันเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องหมายบริการที่เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจมีคำสั่งให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการนั้นแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำหรือข้อความว่า "Make THE Difference" ดังกล่าวตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 17 ต้องได้ความว่า คำหรือข้อความนั้นเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการบริการสำหรับบริการธนาคารพาณิชย์ที่ขอจดทะเบียนอันไม่ควรให้ผู้ขอจดทะเบียนรายหนึ่งรายใดถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวกรณีหนึ่งหรือเป็นกรณีที่คำหรือข้อความดังกล่าวมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ สำหรับกรณีการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า "TMB Make THE Difference" เพื่อใช้กับบริการจำพวก 36 รายการบริการ ธนาคารพาณิชย์ นี้ ข้อความว่า "Make THE Difference" เป็นข้อความที่นำเอาภาษาอังกฤษจำนวน 3 คำ มาประกอบกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาความหมายของคำดังกล่าวตามพจนานุกรมแล้ว สามารถแปลได้ความหมายรวมกัน "ทำให้เกิดความแตกต่าง หรือสร้างความแตกต่าง" ซึ่งมีลักษณะเป็นคำบรรยายทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้บริการธนาคารพาณิชย์อันเป็นรายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียนแต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงคำแนะนำ ยังไม่ใช่คำพรรณนาที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้โดยทันทีถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจการธนาคารพาณิชย์ทั้งปวงซึ่งใช้เครื่องหมายบริการนี้โดยตรงว่ามีลักษณะหรือคุณสมบัติใดเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ใช้บริการจะต้องจินตนาการหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงจะทราบได้ว่าบริการเกี่ยวกับกิจการธนาคารพาณิชย์ของโจทก์แตกต่างจากบริการอื่นอย่างไร นอกจากนี้ข้อความว่า "Make THE Difference" ยังมิได้เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญสำหรับการให้บริการเกี่ยวกับกิจการธนาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ประกาศกำหนดให้ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการให้บริการธนาคารพาณิชย์ที่โจทก์ขอจดทะเบียนด้วย ข้อความว่า "Make THE Difference" ดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการธนาคารพาณิชย์โดยตรงและมิได้เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายหรือบริการสำหรับรายการบริการธนาคารพาณิชย์ที่โจทก์ขอจดทะเบียน ดังนั้นเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า "TMB Make THE Difference" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยโจทก์ไม่จำต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันข้อความว่า "Make THE Difference"
of 25