คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 51 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย กรณีเจ้าหนี้สำคัญผิดเนื่องจากกระบวนการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ 7620/2553 ในวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เป็นเวลา 7 วัน โดยที่ศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวไม่ทราบว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ไปก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวแจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าว และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวดำเนินการประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาด เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ในขณะที่ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นเวลาก่อนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้เพิ่งลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ 1 ทางหนังสือพิมพ์และในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 และวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ตามลำดับ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวพิจารณารับคำขอรับชำระหนี้และกำหนดนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าววันที่ 19 มกราคม 2554 แสดงว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คดีดังกล่าวซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันก็ไม่เคยทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดในคดีนี้ไปก่อนแล้ว ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว โดยมิได้ตรวจสอบว่าลูกหนี้ที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีอื่นก่อนแล้วหรือไม่เพื่อจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีอื่นนั้น จึงเป็นผลจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลางในคดีดังกล่าวที่ทำให้เจ้าหนี้เกิดสำคัญผิดหลงเข้าใจว่าลูกหนี้ที่ 1 ไม่ได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีอื่นอีก ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด สมควรที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แก่เจ้าหนี้จนถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15503/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย: กำหนดเวลาการยื่นคำร้องและผลของการส่งหมายเรียก
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา บัญญัติให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งในคดีล้มละลายแม้จะไม่มีการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยดังเช่นในคดีแพ่งก็ตาม แต่การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหมายเรียกไปยังจำเลยเพื่อไปให้การเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 117 ถือเสมือนว่าเป็นการส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งจำเลยมีสิทธิยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15161/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้จำนอง vs สิทธิผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในคดีล้มละลาย การหักส่วนได้จากการขายทอดตลาดต้องเป็นไปตามลำดับความอาวุโสของสิทธิ
คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอหักส่วนได้ของตนในฐานะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดเพื่อใช้แทนราคาซื้อจากการขายทอดตลาดนั้น ผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในเรื่องนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้อง กรณีจึงเป็นการยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าคำร้องนี้อาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว การที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องได้ต้องให้คู่ความที่เกี่ยวข้องมีโอกาสคัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์หักส่วนได้ใช้แทนโดยไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองคัดค้านก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นกรณีที่ศาลล้มละลายกลางไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายในการพิจารณาคดีดังกล่าวอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
จำเลยและผู้ซื้อทรัพย์ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยไว้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึดทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 716 ส่วนผู้ซื้อทรัพย์ในฐานะผู้จำนองก็มีภาระหนี้จำนองที่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่ผู้ร้องและจะขอกันส่วนในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยยังไม่ได้ชำระหนี้จำนองเสียก่อนไม่ได้ เนื่องจากเป็นการกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องในการบังคับจำนองเอาจากทรัพย์จำนองทั้งหมดดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ยึด ส่วนหากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้พอชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องแล้วมีเงินเหลืออยู่อีกก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการจ่ายคืนส่วนของผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในภายหลังต่อไป อันเป็นคนละเรื่องคนละส่วนกับเรื่องนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15141/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้อน: การฟ้องคดีล้มละลายโดยมีคดีเดิมอยู่ระหว่างพิจารณา
โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.15035/2543 มาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 ขอให้จำเลยล้มละลาย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2552 โดยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.15035/2543 และคดีหมายเลขแดงที่ ธ.19355/2542 มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งคดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 กับคดีนี้ ต่างมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และสมควรเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ แม้ว่าโจทก์จะกล่าวอ้างมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ธ.19355/2542 เพิ่มเติมจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ ธ.15035/2543 มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ แต่ก็ยังคงต้องพิจารณาในประเด็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ขณะที่คดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 ยังอยู่ระหว่างการขอถอนฟ้อง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 จึงมีผลให้คดีหมายเลขดำที่ ล.10810/2552 ยังอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14861/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: การชำระราคาไม่ครบถ้วน ศาลมิอาจสั่งให้โอนกรรมสิทธิ์ได้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทระบุราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 399,000 บาท ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาให้จำเลยครบตั้งแต่ปี 2543 โดยมีสำเนาใบเสร็จรับเงินมาแสดงเป็นหลักฐาน แต่เอกสารดังกล่าวมีรายการชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 27 กันยายน 2541 และมียอดเงินที่ชำระเพียง 64,000 บาท ส่วนที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตั้งแต่ปี 2541 ก็เป็นการเข้าครอบครองทรัพย์สินก่อนเวลาที่ผู้ร้องอ้างว่าชำระราคาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2543 จึงมิใช่พฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าผู้ร้องปฏิบัติการชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ร้องเคยเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบไม่มีน้ำหนักรับฟังว่า ผู้ร้องชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยครบตามสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ร้องยังไม่ชำระหนี้ของตนจึงไม่มีสิทธิขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ตอบแทนด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทตามสัญญา ทั้งกรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายอันเป็นการโอนทรัพย์สินโดยทางนิติกรรม คดีจึงไม่มีประเด็นว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยการครอบครอง ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินดังกล่าวให้ผู้ร้องจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14086/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไต่สวนคำร้องพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและการใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในคดีล้มละลาย
แม้ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ถ้าลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันไม่ให้ความร่วมมือกับ บสท. ในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ บสท. สั่ง โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดปังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน ให้ บสท. ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันแล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องดำเนินการไต่สวน และให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็วก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องได้รับโอนหนี้สินของลูกหนี้ทั้งสองซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากธนาคาร ท. เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ซึ่งผู้ร้องไม่มีหลักฐานแห่งหนี้มาแสดง โดยขอนำเสนอในชั้นไต่สวนคำร้อง ประกอบกับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่และเสรีภาพของลูกหนี้ทั้งสองโดยตรง อีกทั้งบทบัญญัติของมาตรา 58 วรรคสี่ ดังกล่าว มิได้บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด โดยห้ามมิให้ศาลไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง จึงสมควรที่ศาลจะทำการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดตามคำร้องก่อนที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยทันที ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายกลางทำการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "คดีล้มละลาย" หมายความว่า คดีตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย..." ซึ่งนอกจากคดีที่ฟ้องหรือร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้วยังหมายความรวมถึงการร้องขอให้ลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันล้มละลายตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ด้วย ทั้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 14 บัญญัติให้ศาลล้มละลายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลายโดยกระบวนพิจารณาในศาลล้มละลายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายตามมาตรา 19 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง...มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่กำหนดให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำสืบและการรับฟังพยานเอกสารไว้จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 90 และมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้คู่ความที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนจะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้นให้คู่ความฝ่ายอื่นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และการอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น แต่ผู้ร้องนำสืบอ้างส่งเอกสารแห่งหนี้เป็นสำเนาเอกสารโดยมิได้ส่งสำเนาให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองก่อนวันสืบพยานและส่งต้นฉบับเอกสารต่อศาล ทั้งการที่ผู้ร้องแถลงต่อศาลว่าต้นฉบับเอกสารอยู่ที่เจ้าหนี้เดิม ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 93 (1) ถึง (3) ที่จะให้รับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวแทนต้นฉบับเอกสารได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10777/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมหลังหมดกำหนดในคดีล้มละลาย ไม่อาจกระทำได้ แม้จะเพิ่งพบสัญญา
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 บัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้..." ซึ่งตามหมวด 4 วิธีจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนที่ 1 การขอรับชำระหนี้ มาตรา 91 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด... คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน..." บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษแล้วว่า เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สินภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด รวมทั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนหนี้และหรือมูลหนี้ แม้จะเกี่ยวข้องกันพอที่รวมการสอบสวนและทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าด้วยกันได้ก็ตาม เจ้าหนี้ก็จะต้องยื่นคำร้องหรือคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเช่นกัน ทั้งนี้เพราะกฎหมายล้มละลายมีเจตนารมณ์ให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายดำเนินการไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ลูกหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สำหรับการขอรับชำระหนี้หากให้เจ้าหนี้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้ในส่วนจำนวนหนี้และหรือมูลหนี้ภายหลังพ้นกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว ย่อมทำให้คดีต้องล่าช้าและเป็นการขยายระยะเวลาการขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ทั้งกระทบต่อกระบวนการพิจารณาในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อาทิ การประนอมหนี้ การนับคะแนนเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและครั้งอื่น เป็นต้น ซึ่งจะต้องทราบจำนวนเจ้าหนี้และหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้บัญญัติกระบวนพิจารณาเรื่องการขอรับชำระหนี้ไว้เป็นกรณีเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ได้
แม้เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมก่อนวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก็ตาม เมื่อพิจารณาว่าคำขอรับชำระหนี้และบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินที่เจ้าหนี้ยื่นไว้เดิมภายในกำหนดระบุหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมที่เจ้าหนี้ยื่นระบุหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ อันเป็นหนี้คนละมูลหนี้และไม่เกี่ยวข้องกันกับมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เดิมและเพิ่มเติมจำนวนหนี้มาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหนี้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้รวมกับคำขอรับชำระหนี้ที่ยื่นไว้เดิมได้ แต่เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้จึงกระทำมิได้
การที่เจ้าหนี้อ้างว่า เจ้าหนี้เพิ่งตรวจสอบพบว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ตกแต่งอาคารและสถานที่ทำงานทำให้ต้องขนย้ายสิ่งของและเอกสารรวมทั้งสัญญาต่าง ๆ จากชั้น 2 ไปยังชั้น 10 และพบสัญญารับสภาพหนี้จึงรีบยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมนั้น เจ้าหนี้เพิ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวในภายหลังขณะนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนคำร้อง พฤติการณ์ดังกล่าวมิใช่เหตุสุดวิสัย หากจะฟังว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษเจ้าหนี้ก็ต้องขออนุญาตขยายระยะเวลาต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดให้บรรดาเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 แต่เจ้าหนี้ก็มิได้ดำเนินการ จึงไม่อาจขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำร้องนี้ได้ การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมมูลหนี้และจำนวนหนี้เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9982/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินวางประกันคดีล้มละลาย แม้ศาลมิได้แจ้ง และพ้นเวลา 5 ปี เหตุเงินมิได้ค้างจ่าย
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินวางประกันค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืนจากศาลนั้น เป็นกรณีของการขอเงินค้างจ่ายคืนจากศาลซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ปรากฏว่าศาลมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีเงินวางประกันค่าใช้จ่ายคงเหลืออยู่ที่ศาลและโจทก์มีสิทธิรับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินค้างจ่ายซึ่งจะตกเป็นของแผ่นดินตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์เพิ่งทราบว่ามีเงินคงเหลือและมีสิทธิรับเงินดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงได้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาล กรณีจึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิรับเงินคงเหลือคืนได้ เงินดังกล่าวนั้นย่อมไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9718/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเช่า/เซ้งในทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาดหลังล้มละลาย: สิทธิส่วนบุคคลไม่มีผลผูกพันผู้ซื้อ
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมอาคารของจำเลยแก่ผู้ซื้อทรัพย์แล้ว จำเลยและบริวารจำต้องออกไปจากทรัพย์สินดังกล่าว ส่วนการที่ผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องจ่ายค่าเซ้งอาคารชั้นที่ 3 ให้แก่จำเลยและทำการซ่อมแซมตกแต่งอาคารชั้นที่ 3 ดังกล่าวนั้น แม้ผู้ร้องจะจ่ายเงินดังกล่าวไปจริง แต่เมื่อผู้ร้องมิได้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน สิทธิดังกล่าวของผู้ร้องหากมีก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิระหว่างผู้ร้องกับจำเลย มิใช่ทรัพยสิทธิ จึงไม่มีผลไปถึงผู้ซื้อทรัพย์ของจำเลยจากการขายทอดตลาด ผู้ร้องมีฐานะเป็นบริวารจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7405/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายซ้ำ: ศาลยกฟ้องเนื่องจากเคยมีคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นเดียวกันแล้ว
การฟ้องหรือร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย มิใช่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังเช่นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไป แต่เป็นการฟ้องหรือร้องขอเพื่อให้มีการจัดการกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ ดังนั้น แม้คำร้องของโจทก์ในคดีก่อนจะเป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ส่วนคดีนี้เป็นการยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ก็ตาม แต่ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ก็ได้บัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายต่อไปโดยเร็ว จึงเห็นได้ว่า การยื่นคำร้องของโจทก์ในคดีก่อน ศาลก็ต้องพิจารณาให้ได้ความจริงไปตามหลักเกณฑ์อันเป็นเงื่อนไขของการร้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายตามบทกฎหมายดังกล่าวประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เช่นเดียวกับการพิจารณาคำฟ้องโจทก์ของศาลในคดีนี้ สภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับในคดีก่อนกับในคดีนี้จึงเป็นอย่างเดียวกันคือ เป็นกรณีที่โจทก์ดำเนินคดีเพื่อขอให้มีการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกันนั่นเอง ซึ่งแม้ว่ามูลหนี้ในคดีก่อนกับในคดีนี้จะเป็นคนละมูลหนี้กันก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจำเลยที่ 2 มาแต่เพียงผู้เดียว สิทธิเรียกร้องในคดีก่อนกับในคดีนี้ โจทก์ย่อมสามารถฟ้องหรือร้องขอรวมกันมาคราวเดียวกันได้ในคดีก่อน เพราะคู่ความในคดีก่อนกับในคดีนี้ก็เป็นคู่ความเดียวกัน กล่าวคือ เป็นคดีระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้ร้องในคดีก่อนซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ กับ ม. ลูกหนี้ที่ 4 ในคดีก่อนซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เมื่อปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางในคดีก่อนได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยที่ 2 กับพวกได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับโจทก์ และได้มีการโอนทรัพย์สินคือ ที่ดินตีชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน และมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายเป็นคดีนี้อีก จึงถือได้ว่าเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน กรณีจึงเป็นการฟ้องซ้ำกับคำร้องในคดีก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งอันถึงที่สุดให้ยกคำร้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
of 6