คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 51 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7345/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับเงินวางประกันคดีล้มละลายเมื่อศาลไม่แจ้งหนี้ค้างชำระ ผู้มีสิทธิยังไม่ขาดสิทธิ
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินวางประกันค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืนจากศาลนั้น เป็นกรณีของการขอเงินค้างจ่ายคืนจากศาลซึ่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงจะต้องนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 323 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับคดีนี้ปรากฏว่าศาลมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีเงินวางประกันค่าใช้จ่ายคงเหลืออยู่ที่ศาลและโจทก์มีสิทธิรับเงินดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงมิใช่เงินค้างจ่ายซึ่งจะตกเป็นของแผ่นดินตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เมื่อโจทก์เพิ่งทราบว่ามีเงินคงเหลือและมีสิทธิรับเงินดังกล่าวแล้วโจทก์จึงได้ยื่นคำขอรับเงินดังกล่าวคืนจากศาล กรณีจึงยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี โจทก์ย่อมมีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนได้ เงินดังกล่าวนั้นย่อมไม่ตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีล้มละลายและการพิจารณาคดีใหม่หลังขาดนัด โดยมีเจตนาหลบหนีคดี
โจทก์อ้างส่งสำเนาหนังสือรับรอง ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัท ส. จำกัด และเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนและประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างในเรื่องความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 2 กับบริษัทดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงประกอบกิจการด้วยตนเองหรือตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ ประกอบมาตรา 207 การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาของคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันควรและผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้
การที่จำเลยที่ 2 เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ก็เพื่อหลบหนีการจับกุมตัวมาดำเนินคดีอาญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องดำเนินการขอให้ทางการประเทศแคนาดาออกหมายจับและควบคุมตัวของจำเลยที่ 2 ไว้ แล้วดำเนินเรื่องขอส่งตัวกลับมาในราชอาณาจักร จนได้ตัวจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีในราชอาณาจักร ภายหลังจำเลยที่ 2 เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 13 ปี แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าไม่ประสงค์ต่อสู้คดีทุกเรื่องที่ถูกฟ้องในประเทศไทย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 หลบหนีคดีอาญาไปนอกราชอาณาจักรเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เอง จะนำมาอ้างในทำนองว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ เพื่อขอให้พิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่ หาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายซ้ำ: ศาลยกฟ้องเมื่อเหตุผลและหลักฐานเหมือนคดีก่อน
คดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลางกับคดีนี้โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มาฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ แม้เหตุในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แต่โจทก์ไม่นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นเหตุให้ศาลล้มละลายกลางรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนเหตุที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในคดีนี้ โจทก์กล่าวอ้างข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แต่การที่โจทก์เพิ่งไปดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพื่อแสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (5) นั้น เป็นเหตุเดียวกับที่โจทก์เคยกล่าวอ้างและนำสืบให้รับฟังไม่ได้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 กรณีเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ในคดีก่อนด้วยการนำเสนอพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้เท่านั้น มิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ในสาระสำคัญ ส่วนที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ด้วยวิธีส่งไปรษณีย์และประกาศ หนังสือพิมพ์แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เป็นการดำเนินการภายหลังจากในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก็เพื่อให้โจทก์สามารถกล่าวอ้างและนำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 อันต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ในคดีนี้ ทั้งที่โจทก์สามารถดำเนินการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันได้ตั้งแต่ก่อนฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 แต่โจทก์ก็มิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เหตุที่โจทก์กล่าวอ้างและนำสืบดังกล่าวในคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ควรกระทำได้อยู่แล้วในคดีก่อนมิใช่เหตุที่เกิดขึ้นใหม่อันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับเหตุในคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ล.7761/2551 ของศาลล้มละลายกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: การมีหนี้สินล้นพ้นตัว การพิสูจน์ทรัพย์สิน และขอบเขตความรับผิดของคู่สมรส
การยื่นฟ้องและชั้นตรวจคำฟ้องในคดีล้มละลาย ไม่มีกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นเอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง ประกอบกับโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ว่าที่พันตรี ส. หรือ ข. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ยื่นคำร้องอ้างเหตุที่มิได้ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เนื่องจากหลงลืมและขอส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลและจำเลยทั้งสี่ ก่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จำเลยทั้งสี่ย่อมมีโอกาสแก้ไขคำให้การได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบ ดังนั้น แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจะไม่มีหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะเคยนำหนี้ในคดีนี้ไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 862/2549 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความคนเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนในคดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จึงเป็นการยื่นคำฟ้องคนละเรื่องกัน ฟ้องของโจทก์หาเป็นฟ้องซ้อนไม่
ในการฟ้องคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกระบวนการกฎหมายล้มละลาย โจทก์มีสิทธิที่ฟ้องได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ตามข้อตกลงในสัญญาแห่งมูลหนี้นั้น ๆ เหตุที่ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมากก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ แม้หากดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับในชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ นอกจากนี้ แม้โจทก์จะเคยฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งและขอถอนฟ้อง และจำเลยทั้งสี่คัดค้านก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ประกอบกับศาลในคดีแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อบีบบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน และหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ทำหนังสือให้ความยินยอมในฐานะเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้หนี้ดังกล่าวจะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสดั่งที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 4 ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 4 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่มีต่อโจทก์
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดโดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายได้
ก่อนฟ้องโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่โดยยื่นคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาในเขตรับผิดชอบแล้วปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงชำระหนี้ได้ นอกจากนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แล้ว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2895/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: หน้าที่นำพยานหลักฐานและการรับฟังเอกสาร
บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 และมาตรา 94 นั้น เป็นขั้นตอนของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนการตรวจคำขอรับชำระหนี้และทำความเห็นเสนอศาลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 บัญญัติว่า ในการตรวจคำขอรับชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สิน แล้วทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระหนี้นั้นต่อศาล พร้อมทั้งรายงานว่ามีผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ประการใดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายเรียกให้เจ้าหนี้นำพยานไปให้การสอบสวนเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ยื่นคำขอไว้ เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่จะต้องนำพยานไปให้การสอบสวนดังกล่าว
ในการขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้มีหน้าที่นำพยานมาให้การสอบสวนว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามจำนวนที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ ทั้งมูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (1) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายนัดให้ ญ. และ ภ. ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ กับได้หมายนัดไปยังกรรมการของบริษัทเจ้าหนี้ให้นำพยานมาให้การสอบสวนและนำส่งเอกสารประกอบคำขอรับชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหมายนัด และในหมายนัดทุกฉบับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า หากเจ้าหนี้ไม่มาให้การสอบสวนหรือนำส่งเอกสารภายในกำหนดถือว่าเจ้าหนี้ไม่ติดใจอ้างพยานหลักฐานอื่นใดอีก ซึ่งการส่งหมายนัดดังกล่าวให้แก่ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้และกรรมการของเจ้าหนี้เป็นไปโดยชอบแล้ว แต่ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้ก็ไม่ได้นำพยานมาให้การสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจฟังว่าลูกหนี้ที่ 1 ยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่เพียงใด
การอ้างเอกสารในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เมื่อกรณีไม่ปรากฏเหตุที่ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับฟังสำเนาเอกสารได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และสำเนาเอกสารนั้นก็มีเพียงผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้เป็นผู้รับรอง สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง
เจ้าหนี้ยื่นต้นฉบับเอกสารภายหลังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงเป็นการยื่นเอกสารที่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2542/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการซ้ำ: ศาลฎีกาวินิจฉัยการยื่นคำร้องซ้ำเดิมเป็นกระบวนการซ้ำ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติในเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้อ้างว่าจะดำเนินการโดยการปรับโครงสร้างหนี้ และหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ "จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต" ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานที่ลูกหนี้นำสืบมาไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและกรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เนื่องจากพยานหลักฐานของลูกหนี้ไม่น่าเชื่อถือว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สิน ในขณะที่ช่องทางหลักในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ศาลล้มละลายกลาง เห็นว่า ปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการ "จูเมร่า ไพรเวท ไอส์แลนด์ ภูเก็ต" ของลูกหนี้ไม่ได้มีแต่ปัญหาการไม่ชำระหนี้หรือปัญหาในการรวบรวมและจัดการบริหารทรัพย์สินของลูกหนี้ แต่ปัญหาสำคัญจริง ๆ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้และกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการโอนหุ้นของบริษัทลูกหนี้และบริษัทในเครือที่มีเรื่องฟ้องร้องกันหลายคดี และข้อพิพาทเหล่านี้เป็นข้อพิพาทที่อยู่นอกเหนือกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอ ส่วนคดีนี้ผู้ร้องขอทั้งสองนำเสนองบดุลของลูกหนี้ที่อ้างว่าจัดทำโดยผู้สอบบัญชี และอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (7) และ (9) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ด้วยวิธีการอาจปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุน หาผู้ร่วมลงทุนใหม่ กู้เงิน ปรับรูปแบบโครงการโดยจะเข้าเจรจากับโรงแรมจูเมร่า เกี่ยวกับสัญญาบริหารงานโรงแรม เพื่อปรับเปลี่ยนขั้นตอนการก่อสร้างและขนาดของโรงแรม ยื่นขออนุญาตส่งเสริมการลงทุน หาคนกลางมาเป็นผู้ทำแผนและผู้บริหารชั่วคราวเพื่อดูแลกิจการของลูกหนี้แทนกรรมการลูกหนี้ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่โดยเสนอบริษัท น. เป็นผู้ทำแผน ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ศาลยังคงต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินหรือไม่ ทั้งการพิจารณานอกจากข้อสันนิษฐานตามกฎหมายแล้วก็ยังต้องพิจารณางบดุลและพิจารณาการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อเทียบกับหนี้สินเหมือนในคดีก่อน ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการที่ผู้ร้องขอที่ 2 เสนอมาก็เป็นช่องทางที่สาระสำคัญหรือหลักการไม่ได้แตกต่างไปจากที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัย ไว้แล้วในคดีก่อนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของลูกหนี้ ปัญหาเรื่องโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจของลูกหนี้ ข้อขัดแย้งของกรรมการและผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ดังนั้น การพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.52/2553 ตาม ป.วิ.พ. 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: การมีหนี้สินล้นพ้นตัว, การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด, และเหตุไม่ควรให้ล้มละลาย
ในการขอแก้ไขคำฟ้องนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติเอาไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย โดยได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอม หลังจากมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองแล้ว โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทำนองว่าโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีที่ดิน 4 แปลง ติดจำนองสถาบันการเงินอยู่ หากมีการยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดก็ยังไม่สามารถใช้หนี้ให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง โดยยังมีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 1,000,000 บาท เมื่อคำฟ้องเดิมของโจทก์ครบเงื่อนไขในการฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเฉพาะเพียงส่วนที่เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่ว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้นั้น เป็นเพียงการขอแก้ไขรายละเอียดอันเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตจึงเป็นการชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 13 บัญญัติว่า "เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กำหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และให้ออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน" การที่กฎหมายได้บัญญัติเหตุดังกล่าวไว้ก็เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีล้มละลายที่จะให้กระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็วกว่าคดีแพ่งสามัญ จึงกำหนดให้ศาลนั่งพิจารณาเป็นการด่วนโดยไม่ได้กำหนดวันยื่นคำให้การเหมือนอย่างคดีแพ่งสามัญ ฉะนั้นจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้ หากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การ จำเลยก็มีโอกาสยื่นได้ก่อนวันนั่งพิจารณา การที่จำเลยยื่นคำให้การภายหลังที่มีการเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6525/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันฟ้องล้มละลาย ต้องระบุการสละหลักประกันหรือตีราคาทรัพย์ หากไม่ปฏิบัติตามคำฟ้องไม่ชอบ
การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายโดยมิได้กล่าวในฟ้องถึงการสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันหักกับจำนวนหนี้ของตน เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 แม้ต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องมาเป็นคำฟ้องแบบเจ้าหนี้มีประกัน โดยตีราคาที่ดินที่จำนองของจำเลยทั้งสองหักกับจำนวนหนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทก็ตาม แต่การขอแก้ไขคำฟ้องคดีล้มละลายไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 คดีนี้จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การจึงไม่มีการชี้สองสถาน การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องจากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันเป็นการขอแก้ไขในสาระสำคัญ โจทก์จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ปรากฏว่าคดีนี้ศาลล้มละลายกลางสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวเสร็จสิ้นในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 โจทก์ขอผัดส่งเอกสารภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 จึงล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งปรากฏว่าในคดีแพ่งนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องคดีล้มละลายเป็นเวลา 6 เดือนเศษ การที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้องถึงฐานะการเป็นเจ้าหนี้มีประกัน หรือขอแก้ไขคำฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเกิดจากความบกพร่องของโจทก์เอง จึงไม่มีเหตุอันสมควรและไม่อาจอ้างอำนาจฟ้องว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนมาเป็นเหตุขอแก้ไขคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9402/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีใหม่ในคดีล้มละลาย: สิทธิของโจทก์และสถานะของเจ้าหนี้
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แม้ต่อมาก่อนวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ขอถอนคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตแล้ว โจทก์ยังคงเป็นคู่ความในคดีและมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ได้ต่อไป ทั้งการพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์และจำเลยที่ 4 ส่วนเจ้าหนี้มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในชั้นนี้ เมื่อวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์ไม่คัดค้านการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลล้มละลายกลางจึงชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 พิจารณาคดีใหม่ได้โดยไม่ต้องไต่สวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4619/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายซ้ำ และการพิสูจน์ความสามารถในการชำระหนี้เพื่อล้มล้างข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
คดีก่อนโจทก์เคยฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายอ้างเหตุจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าจำเลยมีที่ดิน 1 แปลง มีราคามากกว่าหนี้ คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์นำหนี้เดียวกันมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายอีกโดยอ้างเหตุจำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และที่ดินในคดีก่อนจำเลยได้โอนขายไปแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) แม้มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจะเป็นหนี้เดียวกันและคดีมีประเด็นเดียวกันว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ก็ตาม แต่เหตุที่อ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นคนละเหตุกัน ทั้งเหตุในคดีนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
of 6