คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 182

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่าข้ามสัญชาติ: ศาลไทยต้องพิจารณากฎหมายอังกฤษก่อนพิพากษาหย่า
การหย่าระหว่างโจทก์ซึ่งมีสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษในประเทศไทยนั้นมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่เกี่ยวพันกับกฎหมายระหว่างประเทศอันตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" ซึ่งมีความหมายว่า ในกรณีที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติอื่นหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนสัญชาติอื่นแต่มาฟ้องหย่าในประเทศไทย ศาลไทยจะพิพากษาให้หย่ากันได้ต่อเมื่อกฎหมายของประเทศสามีหรือภริยาหรือทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สามีภริยาที่สมรสกันตามกฎหมายแล้วสามารถหย่ากันได้ ดังนั้นข้อที่ว่ากฎหมายแห่งประเทศอังกฤษอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติอังกฤษหย่าได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญที่ศาลต้องพิจารณาเสียก่อน และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่ากฎหมายอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของจำเลยผู้เป็นสามียินยอมให้หย่าได้และมีเหตุฟ้องหย่าตามกฎหมายไทยซึ่งเป็นกฎหมายสัญชาติของโจทก์ผู้เป็นภริยาและเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า เมื่อโจทก์มิได้นำสืบว่ากฎหมายของประเทศอังกฤษอันเป็นกฎหมายสัญชาติของจำเลยยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลไทยจึงไม่อาจพิพากษาให้หย่ากันได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ หรือจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์: ศาลฎีกาชี้การเบิกถอนเงินหลายครั้งเป็นกรรมต่างกัน
การกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนั้นเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 และ 182
จำเลยให้การรับสารภาพว่า จำเลยใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินสดจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติของธนาคาร ก. และธนาคาร ท. รวม 7 ครั้ง ตามฟ้องจริง ซึ่งแต่ละครั้งจำเลยจะใช้บัตรแต่ละใบใน 3 ใบ เบิกเงินแต่ละจำนวน ตามที่มีเงินอยู่ในบัญชีของบัตรแต่ละใบ โดยใช้ตู้เบิกถอนเงินต่างธนาคารและต่างเวลากัน ลักษณะการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน