คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน สอง ข้อ 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5735/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: คำสั่งให้พักงานด้วยวาจาและการจ่ายเงินเดือนต่อเนื่อง ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
การที่ว.ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยพูดกับโจทก์ว่าคุณออกไปวันนี้เลย ย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่าจำเลยไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานที่บริษัทจำเลยอีกต่อไป การที่หลังจากนั้นโจทก์ไม่ไปทำงานที่บริษัทจำเลยอีกต้องถือว่าจำเลยสั่งไม่ให้โจทก์ไปทำงานแต่การที่จำเลยยังจ่ายเงินเดือนงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2539วันที่ 27 ธันวาคม 2539 และวันที่ 15 มกราคม 2540 ให้แก่โจทก์แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์ ประกอบกับบริษัทจำเลยมีข้อบังคับว่าด้วยการไล่พนักงานออกจะต้องมีมติจากที่ประชุม เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนไล่ออกโดยให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดสำหรับกรณีของโจทก์เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยมีหนังสือเรื่องเตือนการขาดงานไปยังโจทก์โดยระบุในหนังสือทั้งสามฉบับดังกล่าวว่าโจทก์ขาดงานโดยเฉพาะฉบับสุดท้ายมีข้อความระบุว่าจำเลยคงจำเป็นที่จะต้องทำตามกฎระเบียบข้อบังคับของจำเลยต่อไปนั้น เมื่อจำเลยยังมิได้เลิกจ้างโจทก์และโจทก์ไม่ได้ไปทำงานที่บริษัทจำเลยเป็นเพราะว. เป็นผู้สั่งให้โจทก์ไม่ต้องไปทำงานอีก การทีโจทก์ไม่ไปทำงานต้องถือว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของ ว.ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย หรือเท่ากับว่าโจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยนั้นเอง ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ขาดงาน และการออกหนังสือเตือนการขาดงานดังกล่าวทั้งสามฉบับของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือเตือนการขาดงานเมื่อจำเลยยังไม่ได้เลิกจ้างโจทก์และยังไม่ได้มีหนังสือเตือนการขาดงาน โจทก์ก็ยังมีฐานะ เป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่และยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดไปจนกว่าความเป็นลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะหมดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างสิ้นสุดตามกำหนด สิทธิค่าชดเชย, การเลิกจ้าง, และการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคดีแรงงาน
โจทก์ที่ 1 ทำงานกับจำเลยโดยทำสัญญาจ้างเป็นปี ๆ เริ่มทำสัญญาครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2530 ต่อมาในปี 2533 สัญญาจ้างลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ระบุว่าสัญญาจ้างมีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงานตามสัญญาและมีข้อความตอนท้ายสัญญาว่าเริ่มวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งมีความหมายชัด อยู่ในตัวแล้วว่าคู่สัญญาให้สัญญามีผลเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของสัญญา มิใช่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานตามความหมายของประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ข้อ 46 วรรคสอง จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้าง โจทก์ที่ 1ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ทำงานเนื่องจากจำเลยได้จัดตารางทำงานให้ อ. ทำงานแทนโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2534 แล้ว โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 2 ขอลาออกจากการทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2533 ให้มีผลวันที่ 3 พฤศจิกายน 2533 จำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์ที่ 2 ลาออก โจทก์ที่ 2 ไม่มาทำงานในวันที่4 พฤศจิกายน 2533 จนถึงเดือนมกราคม 2534 จึงเป็นการหยุดงานที่ไม่มีเหตุสมควร เป็นการละทิ้งหน้าที่นั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54.