คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิเทพ ถิระวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996-9997/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับใบอนุญาตส่งออกข้าวและการอ้างเหตุผลทางกฎหมายที่โจทก์ทราบอยู่แล้ว
จำเลยมีหนังสือแจ้งระงับการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรให้แก่บริษัท ร. โดยอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และบริษัท ร. มีหนังสือขอสำเนากฎกระทรวงดังกล่าวจากจำเลยด้วย เมื่อกรรรมการบริษัท ร. เป็นกรรมการชุดเดียวกับโจทก์ทั้งสอง จึงถือได้ว่าข้อกฎหมายที่อ้างอิงตามกฎกระทรวงนั้นเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) โดยจำเลยไม่จำต้องระบุในคำสั่งทางปกครองที่แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองอีก
แม้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พุทธศักราช 2482 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 แต่พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2490 และประกาศกระทรวงเศรษฐการ เรื่อง การส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2509 ที่ออกตามพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกยังมีผลใช้บังคับต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ข้าวจึงคงเป็นสินค้าต้องห้ามมิให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเช่นเดิม ซึ่งตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ผู้ใดจะส่งออกหรือนำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ตามมาตรา 7 วรรคสอง และมาตรา 25 กำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตส่งออก พระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงเศรษฐการดังกล่าวจึงไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8748/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงินจากค้ายาเสพติด: สันนิษฐานว่าทรัพย์สินเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและต้องพิสูจน์ความสุจริต
แม้ว่าคดีหมายเลขแดงที่ 10521/2542 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกอีก 1 คน ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคดีหมายเลขดำที่ ย.5547/2546 คดีหมายเลขแดงที่ ย.3553/2548 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและร่วมกันฟอกเงิน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าว มิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างในฎีกาหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46
เมื่อปรากฏว่าคดีที่ ว. กับพวกถูกฟ้องข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 8870/2546 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ ว. แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20063/2555 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวว่า ว. กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 500,000 เม็ด น้ำหนัก 46,284.590 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธ์ได้ 10,685.239 กรัม และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นผงสีส้มจำนวน 1 ซอง น้ำหนัก 2.280 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 0.739 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ว. จึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์การปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารในนามของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 หรือการนำทองคำแท่งไปฝังไว้ในสนามหญ้าหน้าบ้าน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ โดยเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มาตั้งแต่ปี 2541 ถึง 2546 และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อปี 2541 ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำกลางคลองเปรม ผู้คัดค้านที่ 1 และ ว. ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน จึงมีความสนิทสนมและมีพฤติการณ์ค้าเมทแอมเฟตามีนร่วมกัน ต่อมา ว. พ้นโทษออกมาก่อน แต่ก็ยังมีการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 โดยกล่าวหาว่าสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฟอกเงิน พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินต่าง ๆ หลายรายการรวมทั้งทรัพย์สินตามคำร้องด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น ประเด็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ย่อมเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในการจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2546 ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยด้วยจึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำร้องแต่อย่างใด
เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องบังคับตามมาตรา 51 ที่แก้ไขใหม่ แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ที่ถูกยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5255/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้บริการจัดหางานและการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฐ) โดยบริษัทตัวแทน
ป.รัษฎากร มาตรา 81 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้... (ฐ) การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน" โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดเป็นคนกลางระหว่างผู้ว่าจ้างกับคนงาน โดยติดต่อประสาน เป็นตัวแทนรับค่าจ้างมาจ่ายให้กับคนงาน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน และดูแลผลประโยชน์คนงานกับผู้ว่าจ้าง โดยโจทก์ไม่มีหน้าที่เป็นลูกจ้างที่ใช้แรงงานทำงานให้ผู้ว่าจ้างและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง การให้บริการดังกล่าวของโจทก์จึงมิใช่การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงานที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฐ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4877/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อลงทุนให้เช่า จัดเป็นการค้าหรือหากำไร ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้...(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดย พ.ร.ฎ." และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ให้การขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังต่อไปนี้ เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร... (6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่...(ค) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น..." คดีนี้ ทางพิจารณาได้ความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 9184 ที่โจทก์ทั้งสองขายให้แก่ ว. เป็นอพาร์ตเมนต์ ขนาด 2 ชั้น 28 ห้อง ซึ่งโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญรวมถึงเก็บเกี่ยวหาประโยชน์จากค่าเช่าบนที่ดินของตนเองโดยการประกอบกิจการหอพัก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ทั้งสองแต่แรกว่า โจทก์ทั้งสองประสงค์จะลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดินโดยการสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แล้ว หาใช่เพียงใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) (ค) ไม่ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสองขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทไปภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มาตรา 4 (6) อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3874/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าหุ้นค้างชำระ & ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้มิได้แจ้งดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าว
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1112 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งใช้ค่าหุ้นตามวันกำหนด จำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ แม้ตามมาตรา 1123 บัญญัติว่า "ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอกกล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้น ให้ส่งใช้เงินที่เรียกเก็บกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้" ก็มิได้หมายความว่าหากโจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยในหนังสือบอกกล่าวที่ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 แล้วจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัด แต่มาตรา 7 บัญญัติว่า "ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี" และมาตรา 224 บัญญัติว่า "หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี..." ผู้ถือหุ้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นับแต่วันที่กำหนดส่งใช้เงินค่าหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1122 ประกอบมาตรา 7 และมาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาก่อสร้าง, การเลิกสัญญา, การคืนเงินมัดจำ, อายุความ, และการกำหนดราคาแบบแปลน
โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท
โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากฎีกาไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างชัดเจน
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยนัดประชุมคณะกรรมการและไม่มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อลงมติให้เรียกประชุมใหญ่ จำเลยทั้งสี่มิได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมใหญ่แก่สมาชิกทุกคน จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาพร้อมกับหนังสือเชิญประชุม จำเลยทั้งสี่กำหนดอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ของสมาชิกแตกต่างจากที่ได้จดทะเบียนไว้ในข้อบังคับ และจำเลยทั้งสี่เสนอตารางการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยมิได้เรียงลำดับข้อที่ขอแก้ไขเทียบกับข้อบังคับเดิม เนื้อหาฎีกาของโจทก์ดังกล่าวในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ควรวินิจฉัยอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแม้พิจารณาเกินกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ และเนื้อหาครบถ้วน
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 45 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาโดยรวดเร็วเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่กำหนดเรื่องรูปแบบหรือความสมบูรณ์ของคำสั่งทางปกครอง การที่เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวก็อาจทำให้เจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์นั้นต้องมีความรับผิด แต่หามีผลกระทบต่อรูปแบบหรือความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานบันเทิงเสียภาษีสรรพสามิต: แม้ไม่มีพื้นที่เต้นรำ แต่มีลักษณะบริการที่เข้าข่ายไนท์คลับ
แม้สถานบริการของโจทก์ไม่ได้จัดให้มีเวทีหรือพื้นที่สำหรับเต้นรำ แต่ลักษณะสถานประกอบกิจการของโจทก์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์ใช้สถานที่ในการให้บริการจำหน่ายสุรา เครื่องดื่มและจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือใช้เครื่องเสียงหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง โดยมีเจตนาให้มีการดื่มกินและเต้นรำกันเพื่อความสนุกสนานในเวลากลางคืนมากกว่าการไปรับประทานอาหารตามปกติของบุคคลทั่วไป อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการในด้านบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ และเป็นการให้บริการที่ไม่มีความจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน ทั้ง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ตอนที่ 9 กำหนดเพียงลักษณะของบริการที่อยู่ในความหมายของกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีจากรายรับของสถานที่สำหรับดื่มกินและเต้นรำจัดให้มีการแสดงดนตรี หรือใช้เครื่องเสียงหรือแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงเท่านั้น มิได้กำหนดว่ากิจการบันเทิงหรือหย่อนใจนั้นต้องมีพื้นที่สำหรับเต้นรำ และมิได้กำหนดประเภทของสถานบริการและนิยามคำว่า "เต้น" กับ "เต้นรำ" ดังเช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบกับ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2525 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 (4) มีเจตนารมณ์เพื่อลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบอาชีพสุจริตและรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เยาวชนตื่นตัวสนใจศิลปะที่ละเอียดอ่อน และเพื่อให้การแสดงดนตรีกระทำได้โดยสะดวก แต่ทางราชการยังสามารถควบคุมได้ ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จะนำนิยามศัพท์คำว่า "สถานบริการ" ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 มาพิจารณาหาได้ไม่ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ต่างประเภทกัน และมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน สถานประกอบกิจการของโจทก์จึงเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจต่าง ๆ ในสถานบริการเพื่อหารายได้เป็นธุรกิจ ประเภทที่ 09.01 ลักษณะเช่นเดียวกับไนท์คลับและดิสโกเธค ตาม พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2043/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายได้จากการจัดหางาน (ค่าบริการ+ค่าใช้จ่าย) เป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.33) และใบเสร็จรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ (แบบ จง.37) โจทก์ได้รับเงินจากคนหางานเพื่อไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล เป็นค่าบริการจัดหางานรายละ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายละ 20,000 บาท และประเทศญี่ปุ่นเป็นค่าบริการจัดหางานรายละ 22,400 บาท ค่าใช้จ่ายรายละ 44,800 บาท โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์เรียกเก็บจากคนหางานดังกล่าวมิใช่ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน ประกอบกับระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ.2547 ข้อ 9 ก็ระบุว่า ผู้รับอนุญาตจัดหางานจะเรียกหรือรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางานจากคนหางานไม่ได้ ดังนี้จึงฟังไม่ได้ว่า ค่าใช้จ่ายตามแบบ จง.33และแบบ จง.37 เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของคนหางาน ค่าบริการและค่าใช้จ่ายในการจัดหางานตามแบบดังกล่าว จึงเป็นเงินที่โจทก์ได้รับจากคนหางานเพื่อดำเนินการจัดหางานให้แก่คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนหางานหรือไม่ก็ตาม เงินค่าใช้จ่ายในการจัดหางานทั้งจำนวนจึงเป็นรายได้ที่โจทก์ได้รับจากกิจการจัดหางานของโจทก์ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร และเงินที่โจทก์ได้รับมาจากคนหางานทั้งจำนวนดังกล่าวย่อมถือเป็นมูลค่าทั้งหมดที่โจทก์ผู้ประกอบการได้รับจากการให้บริการในราชอาณาจักรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่ง ป.รัษฎากร
of 11