คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิเทพ ถิระวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีผู้ซื้อชำระภาษีแทนผู้ขายตามสัญญาซื้อขายจากการบังคับคดี
ป.รัษฎากร มาตรา 91/7 และมาตรา 91/11 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น มิอาจตีความขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีไปด้วย โจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุให้ผู้ซื้อต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร และในหนังสือขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อระบุให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรจากผู้ซื้อ โดยโจทก์และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นผู้ชำระเงินค่าภาษีตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อในช่วงเวลาที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้ง 21 แปลง อยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 488) พ.ศ.2552 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ตามความใน ป.รัษฎากร มาตรา 91/6 (3) ลงเหลืออัตราร้อยละ 0.11 ซึ่งเป็นอัตราที่รวมภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่เป็นรายได้ของท้องถิ่น ท. จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่กฎหมายกำหนดให้ลดอัตราลงและจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีในส่วนที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าว การฟ้องขอคืนค่าภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร และมิได้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินภาษีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า: ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อวางหลักประกันฯ ไม่ใช่เมื่อชำระภาษี
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/2 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่วางหลักประกันโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไว้เป็นพิเศษ ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้นำเข้าที่วางหลักประกันอากรขาเข้าอื่น กล่าวคือ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเวลาที่โจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า โจทก์คงนำเงินไปชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) และรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานสรรพากร และการประเมินภาษีตามมาตรา 88/4
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๑๖ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย่อมมีอำนาจกำหนดท้องที่รับผิดชอบแก่เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งด้วยได้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพของจำเลย เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ ๓ ขึ้นไป สังกัดกรมสรรพากร เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๑๖ (นอกจากที่ระบุไว้ใน (๒) (๓) และ (๔)) ในเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตามข้อ ๒ (๑) ของประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ ๓๙ ) ดังกล่าว ป. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ๖ สำนักตรวจสอบภาษีกลาง จึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้อง แม้สรรพากรจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะมีอำนาจประเมินภาษีโจทก์ก็หามีผลกระทบกระเทือนเป็นเหตุให้การตรวจสอบและประเมินภาษีของ ป. ผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นการไม่ชอบไม่
การประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๔๙ ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นนั้น เป็นกรณีเจ้าพนักงานประเมินหาผลต่างระหว่างมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันต้นปี เปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันสิ้นปีของปีภาษีนั้น ผลที่หาได้คือทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นให้นำมาบวกกับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ แล้วหักด้วยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี ผลลัพธ์เป็นเงินได้สุทธินำไปคำนวณกับอัตราภาษีก็จะเป็นภาษีที่ต้องเสีย และการประเมินตามมาตรา ๔๙ เป็นการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนการที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา ๘๘/๔ เป็นวิธีการตรวจสอบไต่สวนภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่าโจทก์ไม่ได้จัดทำใบกำกับภาษีขายส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าและไม่ได้นำรายรับนี้ไปรวมเป็นฐานภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีพิพาท เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในส่วนที่โจทก์ขายสินค้าโดยไม่ได้ออกใบกำกับภาษี อันเป็นวิธีการตรวจสอบและประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๘ และ ๘๘/๒ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยวิธีพิเศษตามมาตรา ๔๙

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8301/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ากรณีวางหลักประกันและการชำระภาษีล่าช้า
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78/2 ไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกรณีนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเป็นการเฉพาะ ความรับผิดของโจทก์สำหรับสินค้าเครื่องจักรที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ยกเว้นภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้นำเข้าที่วางหลักประกันอากรขาเข้าอื่น กล่าวคือ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้เกิดขึ้นเมื่อโจทก์วางหลักประกันอากรขาเข้า แม้โจทก์จะนำเงินไปชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนในกำหนดเวลาตามมาตรา 78/2 โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (3) และรับผิดชำระเงินเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7134/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการฟ้องหมิ่นประมาทจากการข่มขู่ทางกฎหมาย และหน้าที่ศาลในการสั่งค่าฤชาธรรมเนียม
จำเลยฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ ดังนี้ การบรรยายฟ้องว่า โจทก์พูดจาข่มขู่จำเลยอันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมอันเนื่องมาจากการที่จำเลยใช้สิทธิในการเข้าตรวจสอบที่ดินและอาคารตามฟ้องซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โดยโจทก์ได้พูดจาข่มขู่ต่อจำเลยว่า ใครเข้าไปเดี๋ยวจะเอาเข้าคุกให้หมดเลยทั้งคนเข้าไป จะเป็นทนายหรือตำรวจ เดี๋ยวจะเอาเข้าคุกให้หมด ทั้งที่จำเลยได้ซื้อที่ดินและอาคารมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์เป็นทนายความมีความรู้ทางกฎหมายมากกว่าคนทั่วไปกลับกล่าวคำข่มขู่ดังกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ก้าวร้าว รุนแรง และมิใช่เป็นการข่มขู่ที่จะใช้สิทธิตามปกตินิยม ทำให้จำเลยกลัวและไม่สามารถตรวจสอบที่ดินและอาคารอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้อย่างสมัครใจเนื่องจากกลัวว่าโจทก์สามารถทำให้จำเลยเข้าคุกได้เพราะแม้แต่เจ้าพนักงานตำรวจโจทก์ยังกล้าพูดข่มขู่ จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยจำเป็นต้องกล่าวมาในฟ้องเพื่อให้เห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และยกคำขอในส่วนแพ่ง เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งแล้ว และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ซึ่งเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้วมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่เป็นกรณีศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องโจทก์แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ตั้งแต่ต้น อันจะทำให้ศาลมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานตรวจสอบการขุดดินถมดินโดยไม่ต้องมีหมายค้น และความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน
พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาตรา 30 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่มีการขุดดินหรือถมดินเพียงเพื่อตรวจสอบว่ามีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น กรณีหาจำต้องมีหมายค้นของศาลไม่ เมื่อผู้เสียหายแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 และแจ้งว่ามีความประสงค์จะตรวจสอบที่ดินตามที่มีการแจ้งว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 แต่จำเลยไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินเพื่อตรวจสอบ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาขัดขวางผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5891/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่รับฎีกาและการนับโทษคดีอาญา: ศาลฎีกามีคำสั่งถึงที่สุดเมื่ออ่านคำสั่งให้จำเลยฟัง
ศาลฎีกาไม่รับคดีของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษา และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความศาลฎีกา สืบเนื่องจากศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551 ข้อ 3 จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 1 แล้ว แต่เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง จึงออกคำพิพากษาในรูปของคำสั่งตามบทบัญญัติและระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีสำหรับจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 21 ธันวาคม 2555 จึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1941/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากผู้พิพากษาลงลายมือชื่อเพียงคนเดียว ทำให้ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิจารณา
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุก: ผลของคำพิพากษาที่สั่งให้นับโทษต่อจากโทษอื่น และผลของการแก้โทษ
ป.อ. มาตรา 22 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการบังคับโทษจำคุกจำเลยว่าให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยมีข้อยกเว้นในกรณีที่ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ซึ่งวันมีคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 และ 188 โดยคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยย่อมต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษานั้น แม้ต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะแก้โทษจำคุกก็ไม่มีผลต่อวันเริ่มโทษจำคุกแต่อย่างใด คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้ว โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต และนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาอื่น ย่อมมีความหมายว่าคำพิพากษาได้กล่าวถึงเวลาเริ่มบังคับโทษจำคุกไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การเริ่มนับโทษจำคุกจำเลยจึงต้องเริ่มนับเมื่อจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีอาญาอื่นครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้โทษของจำเลยเหลือเพียง 36 ปี 8 เดือน แต่ก็ยังคงให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่มีผลต่อวันเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1122/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้หลังศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ: ธนาคารต้องงดจ่ายเช็ค และเจ้าหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
บริษัท ด. ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 30 กันยายน 2548 ให้แก่จำเลยเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระ แม้จำเลยจะมีสิทธิรับเช็คดังกล่าวและมีสิทธิที่จะเรียกเก็บเงินตามเช็คจากโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารเจ้าของเช็คนั้นได้เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดชำระก็ตาม แต่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท ด. ในวันที่ 11 สิงหาคม 2548 อันเป็นวันก่อนที่เช็คนั้นถึงกำหนดชำระ เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามลูกหนี้ชำระหนี้ มาตรา 90/26 และมาตรา 90/27 ที่ให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ ย่อมหมายความว่า เช็คพิพาทที่ลูกหนี้ออกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งลงวันที่ล่วงหน้าถึงกำหนดชำระภายหลัง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ธนาคารตามเช็คต้องงดชำระหนี้ตามเช็คพิพาทตามบทกฎหมายดังกล่าว ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 992 (3) ดังนี้ จำเลยชอบที่จะนำเช็คพิพาทไปยื่นเป็นหลักฐานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไม่ใช่นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากโจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่จำเลยไปจึงเป็นการจ่ายโดยผิดหลง การจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ที่ห้ามโจทก์ ลูกหนี้ชำระหนี้ ถือเป็นการจ่ายเงินตามเช็คโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับไปจึงเป็นลาภมิควรได้ จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 542,397.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
of 11