คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิเทพ ถิระวัฒน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระและการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ อาคารชุด
แม้หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระถือเป็นเงินค้างจ่ายซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) แต่หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เกินเวลา 5 ปี ก็ไม่ระงับ เพราะสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมีผลให้ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 โจทก์จะร้องขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ได้ก็ต่อเมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางครบถ้วนแล้ว ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อโจทก์หรือเจ้าของร่วมคนเดิมยังไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มให้แก่จำเลยจนครบถ้วน จำเลยก็มีสิทธิ ที่จะปฏิเสธการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามที่โจทก์ร้องขอโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้
ตามใบแจ้งค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดพิพาท ระบุว่ามียอดเบี้ยปรับตามข้อบังคับคิดที่ร้อยละ 10 ต่อเดือน จำนวน 156 เดือน เป็นเงิน 752,541.19 บาท แต่ตามมติคณะกรรมการคิดเพียง 125,423 บาท ส่วนยอดเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 เป็นเงิน 2,057.05 บาท สอดคล้องกับข้อบังคับของจำเลย ข้อ 17 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2537 และข้อบังคับ ข้อ 18 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 18/1 ที่บัญญัติถึงกรณีที่เจ้าของร่วมไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในเวลาที่กำหนดว่าต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ โดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในข้อบังคับ หากค้างชำระตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี การคิดเงินเพิ่มจากค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยและไม่เกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริต อีกทั้งโจทก์ก็มีโอกาสที่จะตรวจสอบได้ว่าเจ้าของร่วมคนเดิมค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจสู้ราคาในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่จำเลยเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มเต็มจำนวนจึงไม่ถือว่าไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18056/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเรียกเก็บค่าอากรจากผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน กรณีเก็บของเกินกำหนดตามสัญญาและกฎหมาย
มาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ บัญญัติให้อำนาจอธิบดีเรียกประกันจากเจ้าของหรือผู้ปกครองคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อประกันค่าภาษีอากรหรือค่าชดใช้อย่างอื่น ดังนั้น จำเลยจึงมีอำนาจเรียกให้โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนทำข้อตกลงหรือสัญญาประกันตามบทบัญญัตินี้ได้ ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ผู้ให้สัญญาจะปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศของกรมศุลกากร บรรดาที่มีบังคับใช้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาประกันทัณฑ์บนนี้ หรือที่จะมีขึ้นใช้บังคับต่อไป ประกาศและคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่บังคับใช้อยู่แล้วจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น แม้โจทก์จะเป็นเพียงผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน มิได้เป็นผู้นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักร แต่หากโจทก์เก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปเกินกำหนดที่จำเลยอนุญาต จำเลยมีอำนาจเรียกเก็บค่าอากรเป็นของใช้ภายในประเทศจากโจทก์ โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้นำของเข้าทราบก่อนตามสัญญาประกันและทัณฑ์บน คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไปได้ เพราะมิใช่เรียกเก็บจากโจทก์ในฐานะผู้นำเข้าหรือเจ้าของสินค้าแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18055/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกคำนวณภาษีวิเทศธนกิจ: กำไรสุทธิจากกิจการวิเทศธนกิจต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและคำนวณภาษีต่างหากจากกิจการธนาคารพาณิชย์อื่น
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 47) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจ และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.62/2539 เรื่อง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและการขอมีเลขประจำตัวของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อการคำนวณกำไรขาดทุนและการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการวิเทศธนกิจเท่านั้น ไม่รวมถึงกิจการธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ ซึ่งมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและต้องแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 พร้อมงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนของแต่ละกิจการ ตามอัตราภาษีร้อยละ 10 หรือร้อยละ 30 เสมือนหนึ่งเป็นคนละนิติบุคคล เนื่องจากมีอัตราภาษีเงินได้ที่ไม่เท่ากัน เมื่อพิจารณาประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน 2535 และวันที่ 17 เมษายน 2541 แล้วย่อมเห็นได้ว่า บทกฎหมายข้างต้นมีวัตถุประสงค์ให้กำไรสุทธิส่วนที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจแยกต่างหากจากกำไรสุทธิส่วนที่ได้จากกิจการอื่นของธนาคาร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ สำหรับกิจการวิเทศธนกิจที่ไม่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้เหลือร้อยละ 10 แยกต่างหากจากแบบฯ สำหรับกิจการวิเทศธนกิจที่ได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้เหลือร้อยละ 10 และแยกต่างหากจากแบบฯ สำหรับกิจการอื่นของธนาคาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17216/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการตรวจค้นเพื่อสอบสวนภาษี: เหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นเพียงพอ
มาตรา 3 เบญจ แห่ง ป.รัษฎากร หาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนไม่ หากแต่เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจอธิบดีเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึดหรืออายัดบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากร ซึ่งต่อมาเมื่อมีการตรวจค้น ยึดหรืออายัดเอกสารมาตรวจสอบแล้ว ผลปรากฏว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการที่ผู้เสียภาษียื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนตามมาตรา 19 เป็นลำดับถัดไป คดีนี้เจ้าพนักงานทำการสืบสวนการดำเนินกิจการของโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์มียอดขายสูงกว่าที่ยื่นแบบและมิได้ออกใบกำกับภาษีแก่ผู้ซื้อสินค้าทันที แสดงว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรแล้ว อธิบดีกรมสรรพากรย่อมมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่ทำการของโจทก์เพื่อทำการตรวจค้น ยึดหรืออายัดบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียได้ แม้เจ้าพนักงานจะบันทึกว่า ได้มาทำการตรวจค้นตามคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีอากรค้างรายโจทก์ก็ตาม ก็หามีผลทำให้คำสั่งของอธิบดีที่ออกมาแล้วโดยชอบตามกฎหมายกลับเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบขึ้นมาได้ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นเจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการตามมาตรา 88/3 และมีอำนาจออกหมายเรียกตามมาตรา 88/4 ได้เองอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17215/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดอัตราศุลกากร การประเมินอากร และอายุความทางภาษีอากร
แม้แบบแจ้งการประเมินอากรทั้งสองฉบับระบุแต่เพียงเลขแฟ้มคดี แต่ก็เป็นเลขแฟ้มคดีเดียวกันกับแบบแจ้งการประเมินอากรอีก 9 ฉบับ ที่เป็นการนำเข้าสินค้าพิพาทประเภทเดียวกัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในชั้นอุทธรณ์การประเมินและในชั้นยื่นคำฟ้องโจทก์ทั้งสามก็บรรยายฟ้องโดยโต้แย้งเหตุผลการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ถูกต้อง จึงถือว่าโจทก์ทั้งสามทราบเหตุผลในการออกคำสั่งตามแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องระบุเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจอีก เนื่องจากเหตุผลนั้นเป็นที่รู้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2)
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบแจ้งการประเมินอากรฉบับเดิมที่ไม่มีการลงลายมือชื่อ แต่ในระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ จำเลยได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรทั้งสองฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ซึ่งไม่มีการเพิ่มเติมประเด็นหรือภาระภาษี เมื่อจำเลยทำการแก้ไขข้อบกพร่องย่อมถือได้ว่าแบบแจ้งการประเมินอากรดังกล่าวได้ระบุชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง พร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 36 แล้ว
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคท้าย บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบไฮโมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค) เมื่อของใดไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) หรือ 3 (ข) ได้ ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน สินค้าพิพาททั้งสามรุ่นมีลักษณะเป็นปั้นจั่นที่ติดตั้งอยู่บนยานยนต์หรือโครงยานยนต์หรือรถบรรทุกสมบูรณ์แบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แสดงลักษณะอันเป็นสาระสำคัญทั้ง 2 ประการ สินค้าพิพาทจึงมีลักษณะเป็นของที่ไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) หรือ 3 (ข) ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค) ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น สินค้าพิพาททั้งสามรุ่นดังกล่าวจึงต้องจัดเข้าประเภทพิกัด 87.05
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2557)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16887/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลเรื่องค่าธรรมเนียม ทำให้ฎีกาถูกทิ้ง และคดีถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า ให้จำเลยวางเงินค่านำส่งตามข้อบังคับว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารทางคดีในวันถัดไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องวางเงินค่านำส่งดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด เมื่อจำเลยไม่วางเงินค่านำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งของศาลและศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยทิ้งฎีกา ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความแล้ว คดีย่อมถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาเพื่อคัดค้านคำสั่งของศาลฎีกาได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15933/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องได้แม้ผู้บุกรุกมีหนังสืออนุญาต
การที่จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุระหว่างที่โจทก์ร่วมครอบครองอยู่ แม้ขณะนั้นที่ดินที่เกิดเหตุเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกหนังสืออนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้สิทธิครอบครองอย่างสมบูรณ์ เพราะมิได้เข้าครอบครองที่ดินที่ทางราชการจัดสรรให้ โดยโจทก์ร่วมกลับเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุขของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กับทั้งความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15793/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายได้จากการชดเชยค่าก๊าซจากการทดสอบกำลังการผลิต ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี แม้ไม่ใช่รายได้จากการขายเชิงพาณิชย์
แม้เงินชดเชยค่าก๊าซที่โจทก์ได้รับจาก กฟผ. จะมิใช่รายได้ที่เกิดจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์อันเป็นการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของโจทก์ เนื่องจากเป็นเงินที่จ่ายในขั้นตอนการทดสอบกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้า และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2543 ก็มีผลเพียงทำให้รายได้เงินชดเชยค่าก๊าซมิใช่เป็นรายได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง แต่เมื่อเงินชดเชยค่าก๊าซเป็นการตอบแทนค่าพลังงานตามที่ระบุไว้ในสัญญาระหว่างโจทก์กับ กฟผ. จึงต้องถือว่าเป็นรายได้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากกิจการที่โจทก์กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 วรรคแรก ส่วนมาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แม้โจทก์เรียกเก็บเงินชดเชยค่าก๊าซจาก กฟผ. ในปี 2543 แต่เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวมีความแน่นอนที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระตามสัญญา และโจทก์บันทึกรายการซื้อก๊าซจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไว้ในสมุดแยกประเภทปี 2542 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเงินชดเชยค่าก๊าซดังกล่าวเป็นจำนวนแน่นอนสามารถลงบัญชีรับรู้ได้ ดังนั้น โจทก์จึงต้องนำเงินชดเชยค่าก๊าซมาลงบัญชีเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2542 ตามมาตรา 65 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15719/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาซ้ำ จำเป็นต้องพิสูจน์คดีเดิมถึงที่สุด
ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เป็นข้อเท็จจริงต่างหากจากข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิด และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ คดีนี้จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นการรับสารภาพว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องเท่านั้น มิได้ให้การรับด้วยว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 รับในเรื่องการเพิ่มโทษและมิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลรู้เอง แม้โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ส่งลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยที่ 3 ไปตรวจสอบประวัติ ผลการตรวจสอบระบุว่า จำเลยที่ 3 ถูกดำเนินคดีข้อหาปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยใช้ยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2548 ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 22 ปี 6 เดือน รับลดกึ่งหนึ่ง จำคุก 11 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่พยานปากดังกล่าวมิได้เบิกความว่า คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 767/2548 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดในคดีนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15363/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองน้อยกว่าหนี้ประธาน: บังคับจำนองได้เฉพาะวงเงินจำนอง ส่วนที่เกินยังต้องรับผิด
กรณีหนี้จำนองมีจำนวนน้อยกว่าหนี้ประธาน หากเอาทรัพย์จำนองหลุดและทรัพย์สินนั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินที่ขาดนั้น แต่ในส่วนที่เกินกว่าวงเงินจำนอง ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ประธานต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวนต่อไป ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 5 กับโจทก์ จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากร 593,750 บาท จากหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งเป็นหนี้ประธาน 1,255,291.40 บาท โดยไม่มีข้อตกลงยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ถ้านำที่ดินของจำเลยที่ 5 ขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่า 593,750 บาท เงินยังขาดจากจำนวน 593,750 บาท อยู่เท่าใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดในส่วนของจำนวนเงินตามสัญญาจำนองที่ยังขาดอยู่ แต่หากนำที่ดินของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิมากกว่า 593,750 บาท เงินส่วนที่เกินจากจำนวน 593,750 บาท โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 5 เนื่องจากเกินวงเงินจำนองที่จำเลยที่ 5 มีเจตนาทำสัญญาจำนองที่ดินเพื่อเป็นประกันหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 สำหรับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่เกินจำนวน 593,750 บาท ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสัญญาจำนองที่ดินซึ่งเป็นหนี้ประธานนั้น จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไป ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เพราะเป็นความรับผิดต่างหากจากสัญญาจำนองในหนี้ค่าภาษีอากรที่เกินจากวงเงินจำนองจนครบถ้วนต่อไปด้วย
of 11