พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3222/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องกู้ยืมเงินไม่เคลือบคลุม และไม่ขาดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าข้าวและจำเลยประกอบกิจการโรงสีข้าวมีธุรกิจการค้าต่อกัน จำเลยได้ยืมเงินโจทก์จำนวน 362,729.50 บาท ตามหลักฐานการกู้ยืมท้ายฟ้อง โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า เหตุใดโจทก์จึงยอมให้จำเลยกู้เงินจำนวนดังกล่าวโดยมิได้กำหนดเวลาชำระเงินคืน และเหตุใดจึงมิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ไม่จำต้องบรรยายในฟ้อง เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดนำสืบภายหลังได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม สัญญากู้ยืมเงินมิได้กำหนดวันชำระเงินไว้ สิทธิเรียกร้องที่จะให้ชำระเงินคืนเริ่มนับแต่วันกู้เป็นต้นไป และมีอายุความ 10 ปีจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์วันที่ 31 กรกฎาคม 2518 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2528 จึงเป็นการฟ้องคดีภายใน 10 ปีไม่ขาดอายุความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องหย่าเนื่องจากฝ่ายหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูผู้อื่นฉันภริยาและแยกกันอยู่ ฟ้องแย้งไม่ขาดอายุความ
เมื่อกรณีมีเหตุที่ทำให้จำเลยระแวงสงสัยว่าโจทก์อุปการะ เลี้ยงดูหญิงอื่น ถ้อยคำที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกล่าวต่อพลทหารรับใช้ ขณะที่โจทก์ไปราชการชายแดนสาปแช่ง โจทก์ว่า ถ้าพิการก็เลี้ยงดูเอาเอง หากตายจะกลับมาเอาเงิน ทั้งบุพการีของโจทก์เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่า ทำตัวไม่น่านับถือ หากถ้อยคำดังกล่าวเป็นความจริงก็ไม่เป็นการ หมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หรือบุพการีของโจทก์เป็นการร้ายแรง เป็นเพียงถ้อยคำที่จำเลยกล่าวด้วยความน้อยใจที่ทราบว่าโจทก์ อุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นเท่านั้น โจทก์อุปการะเลี้ยงดูยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา เมื่อจำเลยไม่สามารถทนอยู่กินกับโจทก์และแยกไปอยู่ที่อื่น มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่า แต่กรณีดังกล่าวจำเลยมีสิทธิ ฟ้องหย่าได้ การที่โจทก์ยังอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นและทำการเป็นปฏิปักษ์ ต่อการเป็นสามีภริยาตลอดมา การกระทำของโจทก์ยังมีเหตุที่จะให้จำเลยฟ้องหย่าได้ตลอดเวลาที่การกระทำยังไม่สิ้นสุด ฟ้องแย้งของจำเลย จึงไม่ขาดอายุความ.