คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 169 เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7431/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเครื่องหมายการค้า: การใช้ก่อนจดทะเบียน & อายุความฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียน
แม้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบด้วยอักษรโรมันสีขาวคำว่า "Kyuta" อยู่ในกรอบวงรีวางอยู่เหนือกรอบสี่เหลี่ยมซึ่งมีเส้นทึบตามแนวกรอบบริเวณเส้นทึบด้านล่างมีอักษรโรมันสีขาวคำว่า "KYUTACHEM.," บริเวณกลางของกรอบสี่เหลี่ยมมีกรอบสี่เหลี่ยมสีขาวซ้อนอยู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีอักษรโรมันสีขาวคำว่า "Kyuta" อยู่ในกรอบวงรี แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยอาจทำให้สาธารณชนทั่วไปที่มิได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนสับสนหลงผิด เมื่อเห็นคำว่า "Kyuta" ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเข้าใจว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้แม้ว่าโจทก์จะได้จะทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก อันได้แก่ เคมีวัตถุสำหรับใช้ในการหัตถกรรมการถ่ายรูปหรือการค้นหาความรู้ทางฟิสิกส์ และใช้เป็นยากันผุเสีย ส่วนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42ทั้งจำพวก อันได้แก่ วัตถุที่ใช้เป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องปรุงอาหารก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2523 กับสินค้าเคมีภัณฑ์ประกอบอาหารและจำหน่ายให้แก่โรงงานผลิตอาหารเพื่อนำไปปรับสภาพอาหารให้คงอยู่ได้นาน อันมีลักษณะเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่มีลักษณะครอบคลุมถึงสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 ด้วย และเมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี2529 แล้วก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมา ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" กับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 มาก่อนจำเลยหลายปี โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ตามคำขอจดทะเบียน สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 42 ดีกว่าจำเลย โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" มาตั้งแต่ปี2523 เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2529 โจทก์ก็ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อมา และโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530สำหรับสินค้าในรายการจำพวกสินค้าจำพวกที่ 1 ทั้งจำพวก เมื่อโจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta" ของจำเลยซึ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าวันที่ 24 มีนาคม 2530 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ จำเลยโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "Kyuta"ดีกว่า อันเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม หรือมาตรา 193/30 ใหม่ ซึ่งกำหนด10 ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม และต้องเริ่มนับอายุความขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม หรือมาตรา 193/12 ใหม่ คือนับตั้งแต่วันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้จัดการสหกรณ์ต่อความเสียหายของสินค้า และขอบเขตความรับผิดของประกันจำนอง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างเป็นผู้จัดการของโจทก์ตามสัญญาจ้างผู้จัดการ โดยสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1รับชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินต่อโจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ระหว่างจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการของโจทก์ สินค้าโจทก์ขาดบัญชีไป จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่ขาดบัญชีดังกล่าวตามข้อตกลง เป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามข้อตกลงที่มี ข้อตกลงที่มีต่อกันตามสัญญาที่ทำกันไว้ และอายุความในกรณีนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องมีอายุความ10 ปี นับแต่โจทก์ทราบว่าสินค้าโจทก์ขาดบัญชีตามมาตรา 169 เดิม อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ สัญญาจ้างฉบับพิพาทมีข้อความว่า ผู้รับจ้างได้รับทราบและตกลงที่จะปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการตามระเบียบข้อบังคับ ของร้านสหกรณ์และหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการจะ มอบหมายให้ ถ้าผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นต่อผู้จ้างไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้รับจ้างยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือหนี้สินนั้น ๆ โดยสิ้นเชิงให้แก่ผู้จ้างตามที่ผู้จ้างจะเรียกร้อง และข้อบังคับของ โจทก์เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการระบุว่า ผู้จัดการ มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวกับบรรดากิจการค้าของสหกรณ์ รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของสหกรณ์ จัดการวางระเบียบเกี่ยวกับการปกครองและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรทั้งนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการรับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ตรวจตราดูแลสถานที่ สำนักงานร้าน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาสินค้าของสหกรณ์ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย ดังนั้น เมื่อสินค้าของโจทก์ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการของโจทก์ขาดบัญชีไปและไม่ปรากฏว่าที่สินค้าขาดบัญชีไปดังกล่าวเกิดจากการ กระทำของผู้อื่น ย่อมเป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการ ทำให้สินค้าของ โจทก์ที่อยู่ในความครอบครองสอดส่องดูแลของตนขาดบัญชีไปโดยประมาทเลินเล่อและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกันความเสียหายที่จำเลยที่ 1 อาจเป็นผู้ก่อในวงเงินจำนวน 200,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนจำกัด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าวงเงินที่จำนองที่ดินเป็นประกัน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทน และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบนั้น ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6853/2538 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาจ้างเหมา: เริ่มนับแต่วันจำเลยผิดนัดชำระหนี้
โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยให้ทำการย่อยและขนส่งหินคลุกกองรายทางใช้สำหรับราดยางในทางหลวง ตามสัญญาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานงวดที่ 1 ให้เสร็จภายในวันที่ 3 ตุลาคม 2522 และส่งมอบงานงวดที่ 2 ให้เสร็จภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้มาตั้งแต่ครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1 คือ วันที่3 ตุลาคม 2522 จำเลยจึงผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดดังกล่าว ดังนั้น อายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12ที่แก้ไขใหม่) โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2532จึงเกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 164 เดิม|มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่) จำเลยจึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ตามมาตรา 188 เดิม(มาตรา 193/10 ที่แก้ไขใหม่)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5201/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้าเพิ่มเติมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียภาษีมีสิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมเงินเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงยุติตามที่ได้ประเมินจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง เงินประกันค่าอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยให้แก่โจทก์นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ กรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้การฟ้องแย้งเรียกค่าอากรขาเข้าคืนจึงมิใช่การฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 การที่จำเลยเรียกคืนเงินอากรขาเข้าที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระแทนจำเลยไปตามที่โจทก์ประเมินและแจ้งให้ชำระเพิ่มนั้น มิใช่กรณีใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงก่อนนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะสิ้นไปเมื่อครบกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสุดท้าย แต่เป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินและแจ้งให้จำเลยชำระค่าอากรขาเข้าเพิ่มเติมภายหลังจากนำของออกไปจากอารักขาของศุลกากรแล้ว และธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ใหม่) และการนับอายุความนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปอายุความสิทธิเรียกร้องเงินค่าอากรขาเข้าคืนของจำเลยจึงเริ่มนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2532 ที่ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยนำคดีมาฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535ยังไม่พ้น 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ และจำเลยมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าอากรขาเข้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เรียกเก็บไปในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคสุดท้าย โดยไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยได้ทวงถามและโจทก์ผิดนัดหรือไม่ แต่จำเลยขอดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงให้ดอกเบี้ยตามอัตราที่ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเรียกค่าภาษีอากร: เจตนาหลีกเลี่ยง vs. เหตุสุดวิสัย และการนับอายุความที่ถูกต้อง
อายุความในการเรียกค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 เป็นเรื่องอายุความเฉพาะกรณีที่กรมศุลกากรเรียกเงินอากรขาดเพราะเหตุตาม มาตรา 10 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุความทั่วไปเกี่ยวกับการเรียกค่าภาษีอากร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 เดิม คือสิบปี นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม ค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งเป็นภาษีการค้าด้วยนั้น ประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167เดิม และ 169 เดิม มีอายุความสิบปี นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยชำระค่าภาษีและวางเงินประกันค่าภาษีวันที่ 24 ธันวาคม 2518 อายุความจริงเริ่มนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 เบญจ (1)และประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีการค้า (ฉบับที่ 7) การกระทำผิดในทางอาญา หาได้ก่อให้เกิดหนี้ค่าภาษีอากรในทางแพ่งในขณะเดียวกับการกระทำผิดทางอาญาโดยตรงไม่ แต่หนี้เกิดเพราะการนำเข้าสำเร็จและกฎหมายให้ถือว่าได้ขายสินค้านั้น ๆ คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา อายุความคดีอาญาถึงที่สุดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความภาษีอากร: สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลมีอายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่อาจบังคับสิทธิได้
กรณีที่จำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร สิทธิของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา10 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น จะนำอายุความสิบปีและการนับอายุความ โดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้าตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31)และการนับอายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม(มาตรา 193/12) เงินเพิ่มภาษีการค้านั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิกำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับนับแต่วันตรวจปล่อยจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมิได้ระบุว่าเงินเพิ่มภาษีการค้ามิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มโดยไม่รวมเบี้ยปรับ จึงไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกเก็บภาษีอากรที่ขาดจากการหลีกเลี่ยงภาษี: ใช้อายุความตาม ป.พ.พ. นับแต่วันตรวจพบการหลีกเลี่ยง
สิทธิของกรมศุลกากรโจทก์ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเนื่องจาก การหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จะนำอายุความสิบปีและ การนับอายุความโดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้ามาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม และนับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้อง ได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 เดิม เมื่อโจทก์ตรวจพบว่าราคาสินค้า ที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ตรวจสอบได้จากเอกสารที่ยึดมาจากจำเลยเมื่อปี 2518 แล้วเจ้าหน้าที่กองประเมินอากรของโจทก์ที่ 1 ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดที่ตรวจพบจากจำเลยและได้แจ้ง การประเมินให้จำเลยทราบแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะอาจบังคับ สิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรเพิ่มในส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้ นับแต่วันที่ตรวจพบซึ่งนับจากต้นปี 2518 ที่โจทก์ตรวจพบ การหลีกเลี่ยงภาษีอากรถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปีจึงยัง ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่เป็นหลักฐานการกู้ยืม และฟ้องขาดอายุความ
เอกสารไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็น "ตั๋วสัญญาใช้เงิน"คงมีแต่ข้อความว่าเป็น "ตั๋ว" เอกสารดังกล่าวจึงขาดสาระสำคัญของตั๋วสัญญาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983(1)จึงมิใช่ตั๋วสัญญาใช้เงิน โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้โดยอ้างเอกสารซึ่งมีข้อความว่าจำเลยจะจ่ายเงินตามคำสั่งของโจทก์โดยไม่มีถ้อยคำชัดว่าเป็นหนี้เงินกู้หรือหนี้อย่างอื่น โจทก์ย่อมจะนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบว่าเป็นหนี้เงินกู้ได้ เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้วและสืบพยานประกอบอธิบายได้ว่าหนี้นั้นเป็นหนี้สินแห่งการกู้ยืมเอกสารนั้นก็เป็นหนังสืออันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามหลักฐานเอกสารนั้นมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม)ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ จำเลยมีข้อพิพาทกัน (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) และในเรื่องอายุความนี้ มาตรา 169(เดิม)(มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า อายุความให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อจำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2519ตามที่ระบุในเอกสาร จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดชำระเงินหรือปฏิบัติการชำระหนี้ใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น และการผิดนัดดังกล่าวเอกสารนั้นระบุให้มีผลว่าตั๋วหรือเอกสารนั้นถึงกำหนดได้ทันที และจ่ายเงินโดยไม่ต้องทวงถามสุดแล้วแต่ผู้ถือจะเลือกซึ่งมีความหมายว่า โจทก์มีสิทธิเลือกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีโดยไม่ต้องทวงถามก่อน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม2519 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 นับจากวันที่ 16 มีนาคม 2519ถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าทดแทนเวนคืน: เริ่มนับแต่วันรับเงินค่าทดแทน แม้ยังมิยินยอม
ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 269 ลงวันที่28 มิถุนายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ให้สิทธิเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนที่จะฟ้องเรียกเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ตนรับเงินค่าทดแทนจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับอายุความ มาตรา 169ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้ ส. รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามที่จำเลยทั้งสองกำหนดเป็นค่าทดแทนให้โดยรับเช็คจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่21 มิถุนายน 2528 สั่งจ่าย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528ซึ่งโจทก์ที่ 2 สามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้ทันทีเพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 เริ่มนับแต่วันที่ได้รับเช็คคือวันที่ 21 มิถุนายน 2528 แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับเงินค่าทดแทนจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2528 อายุความ1 ปีย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกเงินส่วนที่เห็นว่าควรจะได้รับเพิ่มเมื่อวันที่11 กรกฎาคม 2529 คดีของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมูลละเมิด: เริ่มนับจากวันที่รู้ถึงการละเมิด หรือวันที่ทำละเมิด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12)ที่กำหนดให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มนับอายุความสำหรับการบังคับสิทธิเรียกร้องทั่ว ๆ ไป แต่การเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด มาตรา 448 วรรคแรก บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นเป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ขาดรายได้ เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2523 ดังนั้นมูลละเมิดคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 เมษายน 2523 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่15 เมษายน 2534 ซึ่งล่วงพ้นสิบปี นับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก จำเลยยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนี้ได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24โดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอเสียก่อน
of 2