พบผลลัพธ์ทั้งหมด 57 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6430/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องเท็จฐานยักยอกทรัพย์มรดก: การฟ้องกลับเป็นเท็จเมื่อข้อเท็จจริงสนับสนุนการฟ้องเดิม
การที่จำเลยกับ อ. เข้าไปเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันไปขายได้เงิน 713,733 บาท จริง ซึ่งรายได้ดังกล่าวเป็นดอกผลของทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ต้องแบ่งแก่ทายาททุกคนเท่าๆกัน แต่จำเลยกลับแบ่งให้โจทก์และ จ. ไม่เท่ากัน ส่วนที่เหลือจำเลยกับ อ. ได้ไปเกินกว่าส่วนแบ่งที่ตนควรจะได้รับ เมื่อฝ่ายโจทก์ทวงถาม ฝ่ายจำเลยกลับท้าให้โจทก์ฟ้อง พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกย่อมทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันเบียดบังเอาเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันไปเป็นของตนโดยทุจริต ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกเงินผลผลิตปาล์มน้ำมันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3573/2555 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลกล่าวหาจำเลยไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หาใช่โจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลยการที่จำเลยมาฟ้องโจทก์หาว่าโจทก์เอาความอันเป็นเท็จฟ้องจำเลย ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3893/2555 ของศาลชั้นต้น ทั้งที่รู้แล้วว่าเรื่องที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นความเท็จ จึงเป็นฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 เมื่อจำเลยฟ้องเท็จแล้ว แม้ศาลจะยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจศาลบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และความสามารถของคนต่างด้าวในการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 บัญญัติว่า "ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้" ดังนี้ ศาลใดศาลหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คดีนี้แม้ขณะทำสัญญาผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ที่เกาะสมุยซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่ง แต่เมื่อผู้คัดค้านมีสำนักงานแห่งใหญ่อันเป็นภูมิลำเนาตั้งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน มิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 ได้ คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ทั้งนี้ โดยหาจำเป็นต้องระบุในสัญญาถึงเงื่อนไขหรือวิธีการตลอดจนเจตนาที่จะไปดำเนินการขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสัญญาไม่ ดังนี้ สัญญาที่ผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับผู้คัดค้านเพื่อซื้อที่ดินจึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
แม้โจทก์เป็นคนต่างด้าว แต่บทบัญญัติมาตรา 86 แห่ง ป.ที่ดิน มิได้ห้ามเด็ดขาดกรณีคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวอาจขออนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ และแม้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนต่างด้าวก็ยังมีสิทธิที่จะจำหน่ายที่ดินต่อไปภายในระยะเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดตามมาตรา 94 ได้ คนต่างด้าวจึงมีความสามารถในการทำสัญญาเพื่อซื้อที่ดินได้ ทั้งนี้ โดยหาจำเป็นต้องระบุในสัญญาถึงเงื่อนไขหรือวิธีการตลอดจนเจตนาที่จะไปดำเนินการขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสัญญาไม่ ดังนี้ สัญญาที่ผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำกับผู้คัดค้านเพื่อซื้อที่ดินจึงมิใช่นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฉ้อโกงจากการแสดงเอกสารเท็จเพื่อรับจ้าง หากผู้เสียหายได้รับประโยชน์จากการกระทำหลังเกิดเหตุ ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาหมดไป
การที่จำเลยทั้งสองประสงค์ให้ร้าน ก. ของจำเลยทั้งสองได้รับงานรับจ้างทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. จึงหลอกลวงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่มีข้อความว่า ธนาคารยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของโรงพยาบาล ช. ผู้ว่าจ้าง ในกรณีที่ร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือร้านของจำเลยทั้งสองผู้รับจ้างมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างมาแสดง แต่ความจริงแล้วธนาคารมิได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง อันเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายและการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาจ้างร้านของจำเลยทั้งสองทำความสะอาดโรงพยาบาล ช. และได้ทรัพย์สินเป็นค่าจ้างจากการทำงาน 108,000 บาท ถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว แม้ภายหลังจำเลยทั้งสองจะเข้าทำความสะอาดโรงพยาบาลจริงและได้รับค่าจ้างดังกล่าว ก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำความผิดอาญาของจำเลยทั้งสองที่เกิดขึ้นแล้วกลับกลายเป็นไม่มีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องหนี้ซื้อขายทองคำ: เริ่มนับจากวันครบกำหนดชำระ ไม่ใช่เมื่อขายทองคำเพื่อบรรเทาความเสียหาย
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ: การป้องกันสิทธิ vs. การกระทำต่อเนื่องจากเหตุข่มเหง
จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยเห็นผู้ตายมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางซื้อขายกิจการหลีกเลี่ยงกฎหมายต่างด้าว สัญญาเป็นโมฆะ เงินชำระหนี้คืนไม่ได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คำพิพากษาอนุญาโตตุลาการ: การดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 และข้อจำกัดในการอุทธรณ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยไทยและให้อนุญาโตตุลาการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความหรือยกคำเสนอข้อพิพาท จึงเป็นคำร้องขอให้บังคับตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วเป็นกรณีอยู่ในบังคับต้องอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาตามที่ มาตรา 45 วรรคสอง บัญญัติไว้ การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ฉบับแรกต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ฉบับแรกและส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้วินิจฉัยแล้วจำหน่ายอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งอุทธรณ์ฉบับแรกให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นยังไม่ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วการที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นใหม่เป็นฉบับที่สองและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ฉบับที่สองของผู้ร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์นับแต่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ไม่ชอบเช่นกัน กรณีจึงต้องยกอุทธรณ์ฉบับที่สองของผู้ร้อง เมื่อสำนวนคดีนี้มาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับแรกของผู้ร้องไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้เช็ค การหักชำระหนี้ และขอบเขตการระงับคดีอาญาต่อคดีแพ่ง
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4494/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจจำหน่ายทรัพย์สินของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ และผลของการปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายพิเศษ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทุนทรัพย์พิพาทเกินอำนาจศาลแขวง: คำขอบังคับโอนกรรมสิทธิ์บ้านรวมราคาสูงกว่า 300,000 บาท
แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)