คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชวลิต ยอดเณร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4301-4302/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างประจำมีสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงสภาพจ้าง แม้ระเบียบข้อบังคับนายจ้างจะเปลี่ยนแปลง
ลูกจ้างตามคำนิยามใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 มีเพียงประเภทเดียว คือ ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนั้น ลูกจ้างประจำจึงเป็นลูกจ้างประเภทหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะอย่างไรนั้นให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยไม่ได้กำหนดว่าลูกจ้างประจำนั้นมีลักษณะอย่างไร จึงหมายความว่าลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานซึ่งนายจ้างตกลงจ้างไว้เป็นประจำ แม้จำเลยจะมิได้กำหนดว่าเมื่อครบกำหนดทดลองงานแล้วให้ลูกจ้างกลายเป็นลูกจ้างประจำทันที แต่ก็ต้องแปลว่า เมื่อลูกจ้างทำงานจนครบกำหนดระยะเวลาทดลองงานแล้วยังให้ทำงานต่อไปแสดงว่า จำเลยตกลงจ้างลูกจ้างนั้นต่อไปเป็นประจำ จึงกลายเป็นลูกจ้างประจำ
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานซึ่งเกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องกำหนดให้ ลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพ เมื่อจำเลยแก้ไขระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจากเดิมที่กำหนดไว้ 115 วัน เป็น 1 ปี ย่อมทำให้สิทธิของลูกจ้างซึ่งจะได้รับค่ารถ ค่าคูปองอาหาร และค่าครองชีพ เปลี่ยนจากได้รับเมื่อพ้นเวลา 115 วันเป็น 1 ปี เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 การแก้ไขดังกล่าวจึงไม่มีผล ต้องถือตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพจ้างเดิม การที่จำเลยทำสัญญาจ้างกับโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดระยะเวลาทดลองงานเกินกว่า 115 วัน จึงเป็นการทำสัญญากับลูกจ้างขัดแย้งกับข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับอยู่ ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4032/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุจากไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงและให้เหตุผลไม่เพียงพอ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด และเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำผิดซ้ำหนังสือเตือน ละทิ้งหน้าที่ ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยมีเหตุที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ส่วนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการกระทำผิดของโจทก์ ศาลแรงงานกลางอ้างถึงหนังสือเลิกจ้างที่จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด หลายประการ แต่ไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหานั้นว่า โจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ กระทำผิดอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร โดยศาลแรงงานกลางเพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงอื่นประกอบ แล้ววินิจฉัยคลุมไปที่เดียวว่า การกระทำของโจทก์ไม่น่าเป็นการกระทำผิดหากจะเป็นความผิดก็มิใช่ความผิดที่ร้ายแรงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์ไม่เชื่อฟังหรือดื้อดึง ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาอันเป็นกรณีร้ายแรงหรือเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นคำสั่งเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31