คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ภาภูมิ สรอัฑฒ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องรอคดีอาญาถึงที่สุดก่อน
คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11196/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์ต้องมีการพาไป ไม่ใช่แค่ชักชวน การกระทำเพียงชักชวนแต่ผู้เยาว์มาเอง ไม่ถือเป็นความผิดฐานพราก
การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10328/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นพยานหลักฐานในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจรับพยานแม้โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน หากจำเลยไม่ติดใจ
วิธีพิจารณาในข้อที่เกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น ป.วิ.อ. ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 173/1, 173/2 และ 240 แล้ว โดยมีเจตนารมณ์ไม่เน้นบังคับให้โจทก์ต้องระบุชื่อเอกสารแต่ละฉบับหรือชื่อวัตถุแต่ละอันที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไว้ในบัญชีระบุพยาน เพราะในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงไม่จำต้องใช้ ป.วิ.พ. เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น ที่โจทก์อ้างบัญชีระบุพยานโจทก์ซึ่งไม่ใช่พยานบุคคลว่า "สรรพเอกสารและวัตถุพยานของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีนี้" ก็เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นให้เลื่อนวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานเดิมไปเป็นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกวันตรวจพยานหลักฐานโดยปริยาย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 240 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลมิได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 173/1 ซึ่งตามวรรคหนึ่งของมาตราดังกล่าว กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตนเป็นพยานหลักฐาน ให้ยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้นเว้นแต่ "...หรือศาลเห็นสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารนั้น" การที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวโดยจำเลยยอมรับต่อศาลชั้นต้นที่สอบจำเลยว่าไม่ติดใจตรวจสอบเอกสารของโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยสอบคำให้การจำเลยและให้ฝ่ายจำเลยตรวจดูเอกสารและฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว แล้วศาลชั้นต้นรับเอกสารไว้ โดยนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป และศาลชั้นต้นได้ให้ฝ่ายจำเลยตรวจเอกสารดังกล่าวดูแล้ว โดยจำเลยไม่ต้องการสำเนา การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารดังกล่าวใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น จึงเป็นอำนาจที่ศาลชั้นต้นกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีและการโอนสิทธิในที่ดินหลังการยึด: ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดมีสิทธิรับโอน แม้ผู้ขายจะมอบ น.ส. 3 ก. ให้เจ้าหนี้อื่น
จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้จำเลยที่ 1 จะนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไปมอบให้ ฉ. ภริยาโจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และตราบใดที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ยังมิได้นำยึดที่ดินนั้นเพื่อบังคับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการยึดที่ดินนั้นให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด
ขณะที่จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดิน และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งศาลแขวงสงขลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไปตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่จะมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของโจทก์ที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์เพิ่งจะเกิดมีขึ้นในภายหลังเมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลานั้นว่าต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงใดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจากการขายทอดตลาดจึงมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการกระทำไปตามสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9972/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด: เริ่มนับเมื่อใด? ศาลตัดสินว่าเริ่มนับจากวันพิพากษาคดีก่อน แม้โจทก์ไม่เคยอุทธรณ์
เมื่อศาลคดีก่อนพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมทราบนับแต่วันที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาแล้วว่า ลายมือชื่อของผู้ทำสัญญาขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อ ป. ผู้ขอใช้บริการ โจทก์ย่อมรู้ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นและรู้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับคำขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวน่าจะต้องรับผิดชอบ เป็นกรณีที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในคดีดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9038/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีออกจากงานก่อนเกษียณ โดยความตกลงของทั้งสองฝ่าย
แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 กำหนดเวลาจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 ว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงานและการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่องการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงกันของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 19 (2) ไม่ จึงถือว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158)
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน และมีสิทธิเริ่มคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จึงให้เท่าที่โจทก์ขอ แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8237/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีออกจากงานก่อนเกษียณตามข้อตกลงร่วม
แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 กำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 ว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ก็ตาม แต่ก็ยังสามารถตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้าง การทำงานและการเลิกจ้างได้ การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2544 เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงกันของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ข้อ 19 (2) ไม่ จึงถือว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 59 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151 และ 158)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7681/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์และฎีกาในคดีพิพาทที่ดิน: การยื่นเอกสารใหม่ และทุนทรัพย์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้ไปยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยทั้งห้าจึงมิใช่เป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วงดวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทอื่นและพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์และผู้มีชื่อใน ส.ค.1 เคยไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินตามต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์และผู้มีชื่อใน ส.ค. 1 ได้ติดต่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกให้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงในประเด็นพิพาทข้อนี้เช่นเดียวกับศาลชั้นต้นและวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่งไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่าเอกสารท้ายอุทธรณ์ของโจทก์นั้น โจทก์ไม่อาจนำมาสู่ศาลชั้นต้นได้เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำเอกสารบางส่วนออกไปจากสารบบที่ดินที่เป็นของโจทก์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงนำมามอบให้โจทก์ เอกสารดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์เคยติดต่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือขอออกโฉนดที่ดินหรือไม่ อันเป็นข้อกฎหมายทำนองว่า มีพฤติการณ์ที่ไม่เปิดช่องให้โจทก์นำเอกสารนี้มาแสดงตั้งแต่ในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง แต่คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เพราะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 88,000 บาท แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายข้อนี้ให้เป็นคุณแก่โจทก์ อันทำให้โจทก์สามารถโต้แย้งข้อเท็จจริงต่อไปได้ว่า เคยยื่นขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2517 แต่เมื่อคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ข้อกฎหมายข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
of 11