คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทรงศิลป์ ธรรมรัตน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 117 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4455/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นป่าไม้ถาวร การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ที่จะใช้ยันรัฐได้ การขออนุญาตเข้าจับจองก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) มาตรา 27 และมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน โดยตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า "ที่ดินที่จะจัดให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามความในมาตรา 20 (1) และมาตรา 27 แห่ง ป.ที่ดิน ต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือมิใช่ที่สงวนหวงห้าม หรือมิใช่ที่เขา ที่ภูเขา (2)......." ระเบียบดังกล่าวนี้ใช้บังคับแก่ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 22 ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงแม้จะเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามมาตรา 33 ก็ต้องอยู่ในบังคับของระเบียบดังกล่าว เมื่อการขออนุญาตจับจองในที่ดินพิพาทและการอนุญาตให้จับจองของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยมิชอบ จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่จะยื่นคำขอเพื่อขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการออกโดยไม่ชอบ ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าหมายเลข 23 ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ดังนั้น เมื่อต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ให้จำแนกป่าหมายเลข 23 โดยให้จำแนกพื้นที่บางส่วนออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ และคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมีมติให้จำแนกพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวร และมอบให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งพ้นจากสภาพป่าไม้ถาวรแล้วจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงไปปฏิรูปและจัดให้เกษตรกรเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และเมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง, สิทธิเรียกร้องหนี้, เจตนาลวง, การกระทำโดยสุจริต, ข้อจำกัดดอกเบี้ย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของทรัพย์สินในการก่อสร้างอาคาร การขัดขวางการใช้สิทธิ และความรับผิดทางละเมิด
ตามคำขออนุญาตและใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ไม่ปรากฏว่าในการจัดสรรที่ดินเปล่าซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทของโจทก์ มีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัย ส่วนการก่อสร้างและต่อเติมสิ่งก่อสร้างตามระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการนั้น ในสัญญาดำเนินการก็เป็นเพียงแบบข้อตกลงในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในที่ดินพิพาท ระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการโต้แย้งการใช้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดโดยสำคัญผิดและสิทธิในการติดตามเรียกคืนเงินจากผู้ไม่มีสิทธิ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7687/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีก่อสร้างเกินคำขอ: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามผลงานและข้อตกลง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าจ้างก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าสำหรับงานในงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ค่างานก่อสร้างในงวดที่ 2 โจทก์ได้รับชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว ทั้งโจทก์มิได้เรียกค่าก่อสร้างและมีคำขอให้จำเลยชำระค่างานในงวดที่ 3 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 2 และที่ 3 บางส่วนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7551/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอ พิพากษายกฟ้องคดียาเสพติดและอาวุธปืน แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาเฉพาะข้อหาจำหน่ายกัญชา ข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อหานี้ ซึ่งไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อศาลฎีกาฟังว่า พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยมีกัญชาแห้ง จำนวน 4 ถุง และเมล็ดกัญชาแห้ง จำนวน 1 ถุง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายโดยการขายกัญชาแห้งนั้นให้แก่ ป. จำนวน 1 ถุง และ พ. จำนวน 2 ถุง และมีอาวุธปืนยาวบรรจุปาก (ปืนแก๊ป) และปืนยาวอัดลม ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับไว้ และเครื่องกระสุนปืนบรรจุปาก (ดินดำ แก๊ปกระดาษ เม็ดตะกั่ว ใยมะพร้าว) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ข้อหาความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน และเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด จึงให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7519/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีเกี่ยวกับยาเสพติด โดยพิจารณาพยานซัดทอด และการเพิ่มโทษปรับตามประมวลกฎหมายอาญา
ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 ปี ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งสองคดี จำเลยกลับมากระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นความรับผิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ถึงกันในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ขับรถยนต์กลับรถในระยะหนึ่งร้อยเมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และเป็นบริเวณที่มีสัญญาณจราจรบนทางห้ามรถทั้งสองฝั่งขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซง ห้ามกลับรถและห้ามเลี้ยวขวาโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังโจทก์มีระยะห่างจากรถยนต์ของโจทก์มากพอสมควร หากโจทก์ไม่เลี้ยวกลับรถฝ่าฝืนกฎหมายและสัญญาณจราจร ทั้งมิได้ให้สัญญาณเปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับย่อมไม่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ การที่รถยนต์จำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่จะหยุดรถได้ทัน เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยืนยันข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เลี้ยวรถกลับบริเวณที่เกิดเหตุไปด้านตรงข้ามอย่างกะทันหัน จนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดหรือหักหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ อันเกิดจากความประมาทของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินปฏิรูปที่ดินโดยพินัยกรรมเป็นโมฆะตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดก – ทายาทมีสิทธิรับส่วนแบ่งตามสัดส่วน แม้มีการชำระเงินบางส่วนไปแล้ว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
of 12