คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทรงศิลป์ ธรรมรัตน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 117 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17396/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ แม้จำหน่ายต่อผู้อื่น และการเพิ่มโทษที่จำกัดตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ย่อมรวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองด้วย เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด มีน้ำหนัก 1.72 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธ์ได้ 0.517 กรัม ต้องด้วย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย...(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป..." ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด ถือว่าเป็นการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงมิใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งไม่ใช่กรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคท้าย แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะมิได้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวมา ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษในความผิดดังกล่าวได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่ผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิเคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17393/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าเมื่อมีการยึดและขายทอดตลาดที่ดิน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน
การยึดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ย่อมครอบไปถึงดอกผลนิตินัยของที่ดินนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 304 วรรคสอง ค่าเช่าที่ดินที่จำเลยต้องชำระตามสัญญาเช่า ถือเป็นดอกผลนิตินัยของที่ดินที่ถูกยึด ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิในการเรียกค่าเช่าในงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระและต้องรับไปซึ่งภาระตามสัญญาเช่าที่ต้องให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์จากที่ดินที่เช่าตามข้อสัญญาเช่นกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 509 บัญญัติว่า การขายทอดตลาด แม้จะบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ก็ตาม แต่ก็มีผลเพียงทำให้ผู้สู้ราคาไม่อาจถอนคำสู้ราคาของตนได้เท่านั้นและเมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 515 และมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อมีการขายบริบูรณ์ และถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาก็ให้เอาทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาดซ้ำอีกครั้ง เมื่อในวันขายทอดตลาดที่ดินครั้งที่ 6 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเสนอราคาสูงสุด และในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกับเจ้าพนักงานบังคับคดีกับได้วางเงินมัดจำชำระค่าที่ดินบางส่วน และในเวลาต่อมาประมาณเกือบหนึ่งเดือนผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระส่วนที่เหลือ การทอดตลาดจึงเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ชำระส่วนที่เหลือ
การซื้อที่ดินเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามมาตรา 456 แห่ง ป.พ.พ. เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์จึงเพียงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ขอรับเงินค่าที่ดินบางส่วนคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการที่ผู้ซื้อทรัพย์ยังไม่ได้ชำระราคาครบถ้วนและยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ การซื้อขายที่ดินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงยังคงเป็นของกองมรดก ถ. เมื่อต่อมาถึงกำหนดชำระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวงวดที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเช่างวดที่ 5 และงวดต่อ ๆ ไปตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้จนกว่าผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาครบถ้วนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16224/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากการกระทำผิดยาเสพติด: เจ้าของต้องพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือโอกาสรู้ถึงการใช้ทรัพย์ในการกระทำผิด
ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ถูกยึดจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสองไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจะขับรถยนต์ของกลางไปเรียนหนังสือในตอนเช้า และกลับบ้านในตอนเย็นเป็นประจำ รวมทั้งหากจำเลยมีธุระหรือจะไปซื้อของก็จะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ได้โดยผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาจะไม่หวงห้ามและไม่ต้องขออนุญาตก่อน และก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน จำเลยขอยืมโทรศัพท์ของกลางจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สาวไปใช้โดยเปลี่ยนซิมการ์ด แต่จำเลยจะนำโทรศัพท์ไปใช้ที่ไหนอย่างไรนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบนั้น แสดงว่าจำเลยสามารถใช้โทรศัพท์ของกลางดังกล่าวได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการสอบถามถึงเหตุผลของการนำทรัพย์ของกลางไปใช้ ทั้งที่จำเลยยังเป็นนักศึกษาและอาศัยอยู่บ้านเดียวกับผู้คัดค้านทั้งสอง เช่นนี้ผู้คัดค้านทั้งสองไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามกฎหมายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาที่ไม่ชอบเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แม้เหตุผลต่างจากศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึง 8 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ แม้จะอาศัยเหตุผลต่างกัน แต่ผลก็เท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 มา จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13876/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียน และเจตนาฉ้อโกง ทำให้ไม่มีความผิดฐานดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์
พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยาม คำว่า "การฌาปนกิจสงเคราะห์" หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตกลงเข้ากันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรเพื่อแบ่งปันกัน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการฌาปนกิจสงเคราะห์คือการตกลงเข้ากันของบุคคลหลายคนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวเสียก่อน จากนั้นกฎหมายจึงบัญญัติให้กิจการดังกล่าวต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนตามมาตรา 50 เพื่อเป็นการควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยเก็บค่าสมาชิกคนละ 2,000 บาท และเก็บเงินค่าช่วยเหลือจัดการศพจากสมาชิกศพละ 20 บาท โดยจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า "ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง" โดยมิได้จดทะเบียนเป็นสมาคมหรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย กับบรรยายฟ้องในข้อ ข. สรุปว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงต่อประชาชนด้วยคำพูดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งหรือก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และโดยการหลอกลวงนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายหลายรายที่หลงเชื่อ ชำระเงินเพื่อเป็นค่าสมาชิกและค่าจัดการศพ จากการบรรยายฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้ข้ออ้างดังกล่าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อให้ได้เงินที่ประชาชนจ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองในรูปแบบที่เรียกว่าค่าสมัครสมาชิกและค่าจัดการศพเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายตามคำขอให้ลงโทษของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 50

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12564/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการชิงทรัพย์: ความผิดฐานสนับสนุนแม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรง แต่รู้เห็นการกระทำผิด
ขณะเกิดเหตุช่วงแรกที่จำเลยที่ 1 ขอโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายนั้น จำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนหันหลังให้ผู้เสียหายและขณะที่ผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือกับจำเลยที่ 1 และถูกจำเลยที่ 1 ผลักอก ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีท่าทีลุกขึ้นมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 พูดจาข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมทำตามคำขอของจำเลยที่ 1 และก่อนเกิดเหตุไม่นานขณะจำเลยที่ 1 ไปพูดขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้เสียหายที่ร้านเกม ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มากับจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จำเลยที่ 2 ช่วยถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้ถอด ตามพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 วางแผนชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายหรือไม่ แต่การที่จำเลยที่ 2 อยู่ในที่เกิดเหตุและใกล้ชิดกับเหตุการณ์ย่อมต้องได้ยินคำพูดโต้ตอบระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ว่า ผู้เสียหายไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ยืมโทรศัพท์มือถือและขอโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 รวมทั้งเห็นผู้เสียหายยื้อแย่งโทรศัพท์มือถือคืนจากจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เอาโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยมิชอบ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมคืนโทรศัพท์มือถือให้ผู้เสียหาย และเมื่อถูกผู้เสียหายยื้อแย่ง จำเลยที่ 1 ส่งโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายให้จำเลยที่ 2 รับไว้ จากนั้นจำเลยทั้งสองวิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไป ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไป ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11455/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งอายัดชั่วคราวสิ้นผลเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว การขอให้บังคับคดีต่อกับผู้ที่ถูกอายัดจึงไม่เป็นประโยชน์
คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 และตามคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดชั่วคราวจึงมีผลใช้บังคับต่อไปเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) แต่โจทก์เพิ่งมายื่นขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 เมื่อไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หมายอายัดตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ในระหว่างพิจารณาย่อมยกเลิกไป การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้องและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง เท่ากับขอให้ดำเนินการตามคำสั่งอายัดชั่วคราวที่ยกเลิกไปแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9552/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องบุคคลภายนอกสัญญา, การสมคบฉ้อฉล, และการวินิจฉัยค่าเสียหายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในฐานะผู้ขาย โดยไม่มีข้อความใดที่สื่อความหมายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลผูกพันและบังคับได้เฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอยู่ด้วยในขณะทำสัญญาและจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยาน ก็หาใช่คู่สัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาได้
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยประเด็นค่าเสียหายให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะศาลไม่ได้คำนึงถึงความเจริญของที่ดินซึ่งเป็นเหตุให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้นมาพิจารณากำหนดค่าเสียหาย ปรากฏว่าปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์เคยยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย การที่โจทก์ฎีกาในเรื่องดังกล่าวโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยเรื่องที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบเพราะเหตุใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9419/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่แจ้งวันนัดไต่สวนและไม่เบิกตัวผู้คัดค้าน ทำให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไข
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 11 รายการ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ก่อนถึงวันนัดผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอสอบวันนัด แต่ในวันนัดศาลชั้นต้นมิได้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเกี่ยวกับคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเรื่องคำคัดค้านฉบับใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งวันนัดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบ หรือมีการเบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาศาลในวันนัดแต่อย่างใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการนั่งพิจารณาซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ทราบวันนัดไต่สวนคำร้องและไม่สามารถนำพยานเข้าไต่สวนตามคำคัดค้านได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ แล้วให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติให้ถูกต้องในกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8021/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องโต้แย้งเหตุผลศาลอุทธรณ์ ไม่ใช่แค่คัดลอกคำศาลชั้นต้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง วางหลักในการยื่นฎีกาประการหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างนั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้รับฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้เป็นลายมือชื่อของจำเลย และโจทก์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในปัญหาดังกล่าว โดยคัดลอกคำตัดสินของศาลชั้นต้นทุกถ้อยคำในส่วนที่ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจนจบคำวินิจฉัยในปัญหานี้ ซึ่งในปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้หลายประการที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งต่างไปจากเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัย ดังนี้ ฎีกาของโจทก์จึงต้องโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลมานั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงอย่างไรและด้วยเหตุผลใด มิใช่อ้างแต่เพียงว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ถูกต้องและศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงถูกต้องชอบด้วยเหตุผลแล้วเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายโดยชัดแจ้งแล้ว
of 12