พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4785/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดิน: การชำระราคาครบถ้วนภายในกำหนด และหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ของจำเลย
ตามสัญญาจะซื้อขายระบุว่า คู่สัญญาตกลงซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาตารางวาละ 1,200 บาท และค่าบริการอีก ตารางวาละ 1,300 บาท รวมเป็นเงิน160,000 บาท ในการจะซื้อขายนี้ โจทก์ผู้จะซื้อวางมัดจำให้จำเลยผู้จะขายไว้แล้วจำนวน5,000 บาท จำเลยได้รับเงินมัดจำไว้ถูกต้องแล้ว โจทก์ตกลงชำระค่าที่ดินและค่าบริการที่เหลือให้แก่จำเลยเป็นรายเดือน ๆ ละ 2,676 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุก ๆ เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2526 เป็นต้นไป โจทก์ตกลงจะนำค่าที่ดินและค่าบริการชำระให้แก่จำเลยให้ครบถ้วนภายใน 7 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้ โจทก์จำเลยได้กำหนดวันจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระค่าที่ดินและค่าบริการครบถ้วนแล้ว และตอนล่างของสัญญาดังกล่าวมีบันทึกรับผ่อนเงินดาวน์ (เงินมัดจำ) อีกจำนวน 15,000 บาท โดยจำเลยลงชื่อรับไว้ ดังนี้ สำหรับเงื่อนเวลา 7 ปีที่สัญญาระบุให้โจทก์ชำระค่าที่ดินและค่าบริการให้ครบถ้วนนั้นเป็นเงื่อนเวลาสิ้นสุด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากำหนดไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้ คือโจทก์ในภาระหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าที่ดินและค่าบริการแก่จำเลย ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะชำระค่าที่ดินและค่าบริการให้เสร็จสิ้นภายในเวลาใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในเวลา 7 ปี ตามสัญญาเท่านั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขาย โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือและสัญญาในข้อ 1ระบุเพียงว่า ราคาที่ดินและค่าบริการรวมเป็นเงิน 160,000 บาท การที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า เงินค่าที่ดินและค่าบริการจำนวน 160,000 บาท เป็นราคาเงินสด และสัญญาข้อ 2ก็ระบุว่าผ่อนชำระค่าที่ดินและค่าบริการ เมื่อโจทก์เลือกผ่อนชำระราคาดังกล่าว ต้องมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อขาย โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือและสัญญาในข้อ 1ระบุเพียงว่า ราคาที่ดินและค่าบริการรวมเป็นเงิน 160,000 บาท การที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า เงินค่าที่ดินและค่าบริการจำนวน 160,000 บาท เป็นราคาเงินสด และสัญญาข้อ 2ก็ระบุว่าผ่อนชำระค่าที่ดินและค่าบริการ เมื่อโจทก์เลือกผ่อนชำระราคาดังกล่าว ต้องมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8461/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายแร่ดีบุก: การหักเงินภาษีอากรในการคำนวณราคาซื้อขาย การคิดดอกเบี้ย และอายุความ
ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในการรับซื้อแร่ดีบุก ข้อ 6ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาซื้อแร่ดีบุกสุทธิไว้ว่า(ก)ให้หักค่าถลุงจากราคาซื้อแร่ดีบุกเบื้องต้น(ข) หักค่ามลทินสกปรก(ค) หักออกเป็นเงินบาทมีจำนวนค่าเท่ากับภาษีทั้งมวล (ไม่รวมภาษีเงินได้และภาษีบำรุงท้องที่)และอากรทั้งมวลที่บริษัทผู้ถลุงหรือผู้ซื้อต้องเสียให้แก่รัฐบาลไทย หรือหน่วยราชการใด ๆ โดยเหตุเนื่องในการซื้อแร่ดีบุกในการถลุงโลหะดีบุกจากแร่ดีบุกและในการขายและส่งออกนอกประเทศไทย ซึ่งโลหะดีบุกที่ผลิตได้จากแร่ดีบุกและ (ง) ราคาซื้อเบื้องต้นสำหรับแร่ดีบุกเมื่อหักรายการต่าง ๆที่คิดหักตามข้อ 6(ก)(ข)และ(ค) แล้ว ก็เป็นราคาซื้อสิทธิดังนี้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่จะนำเงินภาษีอากรมาหักเพื่อคำนวณราคาซื้อสุทธิตามข้อ 6(ค) นั้นคือเงินที่ผู้ซื้อต้องเสียให้แก่รัฐบาลไทยหรือหน่วยราชการเนื่องในการซื้อแร่ดีบุกซึ่งมิได้กำหนดไว้ตายตัวแน่นอน แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าคือจำนวนที่รัฐบาลไทยหรือหน่วยราชการเรียกเก็บอยู่ในขณะที่มีการซื้อขายกัน มิฉะนั้นเงินภาษีที่จะนำมาหักได้จึงต้องเป็นเงินที่ผู้ซื้อจำเป็นต้องเสียตามจำนวนที่แท้จริงเมื่อมีประกาศกระทรวงการคลังลดค่าภาษีการค้าลงร้อยละ 2ของค่าภาษีที่ต้องเสีย จำนวนที่ลดลงนี้ผู้ซื้อจึงไม่ต้องชำระจะนำมาหักออกจากราคาซื้อเบื้องต้นไม่ได้ ข้อกำหนดและเงื่อนไขนี้ชัดแจ้งอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงหรือเจตนารมณ์ของคู่สัญญามาประกอบการตีความ จำเลยในฐานะผู้ซื้อจึงต้องรับผิดชำระเงินค่าแร่ดีบุกในส่วนที่ได้รับการลดภาษีร้อยละ 2 ของค่าภาษีการค้าคืนให้แก่โจทก์ เมื่อกรณีเป็นการโต้เถียงเกี่ยวกับการคำนวณหาราคาแร่ดีบุกสุทธิที่ซื้อขายกันอยู่ว่าตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาควรเป็นอย่างไร ก่อนฟ้องจำเลยย่อมไม่ทราบราคาที่ต้องคืนว่ามีจำนวนแน่นอนเป็นเท่าใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนตั้งแต่เมื่อใดอันจะถือได้ว่าจำเลยผิดนัด ต้องถือว่าโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินนับแต่วันฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ซื้อปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกโดยให้ชำระเงินที่รับเกินไปซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2300/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาขายลดเช็ค: ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเมื่อโจทก์รับซื้อเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเอง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งตามข้อตกลง
คำขอเป็นลูกค้าประเภทขายลดเช็คของจำเลยที่ 1 ที่มีข้อความว่าลูกค้า (จำเลยที่ 1) ทราบดีว่าบริษัท (โจทก์) จะรับซื้อลดเช็คเฉพาะเช็คที่ลูกค้าได้มาจากการชำระหนี้ทางการค้าเท่านั้นถ้าลูกค้าจะนำเช็คอื่น ๆ นอกจากเช็คที่ลูกค้าได้มาจากการชำระหนี้ทางการค้ามาขายลดแก่บริษัทลูกค้ามีหน้าที่ต้องแถลงความจริงเป็นหนังสือให้บริษัททราบก่อน นั้น เป็นคำขอที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์จะรับซื้อลดเช็คที่จำเลยที่ 1ได้มาจากการชำระหนี้ทางการค้า แต่มิได้หมายความว่า โจทก์จะรับซื้อลดเช็คหรือจำเลยที่ 1 จะขายลดเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเองมิได้เพียงแต่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบก่อนเพื่อโจทก์จะได้ใช้ดุลพินิจว่า สมควรรับซื้อลดเช็คที่จำเลยที่ 1เป็นผู้ออกเองหรือไม่ การที่โจทก์รับซื้อลดเช็คที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเอง จึงไม่ขัดต่อเจตนาของจำเลยที่ 1 ตามคำขอดังกล่าวและเกิดเป็นสัญญาขายลดเช็คขึ้น เมื่อโจทก์นำเช็คที่รับซื้อลดจากจำเลยที่ 1 ไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารไม่ได้ จำเลยที่ 4ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยกเว้นความรับผิดในสัญญาประกันภัยกรณีระเบิดจากเครื่องจักร: ประกันภัยไม่คุ้มครอง
กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า จำเลยจะต้องรับผิดในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในกรณีที่ทรัพย์สินต้องสูญเสียหรือเสียหายเนื่องจากเพลิงไหม้ (ไม่ว่าจะเกิดจากการระเบิดหรือไม่ก็ตาม) หรือ ฟ้าผ่าหรือการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่างหรือประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยเท่านั้น แต่สำหรับกรณีวินาศภัยที่เกิดจากการระเบิดมีข้อยกเว้น เหตุแห่งการสูญเสียและการเสียหายซึ่งไม่รวมอยู่ในการประกันภัย คือ การระเบิดทุกชนิด (ไม่ว่าการระเบิดจะเกิดจากเพลิงไหม้หรือไม่ก็ตาม) เว้นแต่ส่วนที่ระบุในสัญญาว่าให้คุ้มครองเงื่อนไขที่เป็นที่ยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องรับผิดในเหตุแห่งการสูญเสียและการเสียหายจากการระเบิดจึงมีความหมายถึงการระเบิดที่เกิดจากเพลิงไหม้ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเครื่องจักรตีแป้งที่เอาประกันภัยไว้กำลังทำงาน ชิ้นส่วนโลหะภายในเครื่องเกิดหลุดหรือหักออกทำให้ชิ้นส่วนโลหะดังกล่าวกระทบกันเกิดเป็นประกายไฟลุกติดกับผงละอองแป้งภายในเครื่องตีแป้งแล้วลุกเป็นไฟลามไปตามท่อจนถึงถังรองรับไซโคลน ทำให้มีการเผาไหม้ภายในถังรองรับไซโคลน เกิดแรงอัดสูงสุดจนระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้สินค้าแป้งข้าวจ้าวและเครื่องจักรที่โจทก์เอาประกันภัยไว้สูญเสียหรือเสียหาย ความสูญเสียหรือเสียหายจึงมีสาเหตุโดยตรงมาจากการระเบิดในถังรองรับไซโคลน การสูญเสียหรือเสียหายของทรัพย์สินโจทก์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย เพราะได้รับการยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือมอบอำนาจครอบคลุมอำนาจการแต่งตั้งทนายความเพื่อทำคำให้การได้
จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้ จ.ฟ้องโจทก์ทั้งในฐานะส่วนตัวและผู้จัดการมรดกของ ข. กับ ล. อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของบุคคลทั้งสองและให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาตลอดทั้งแต่งตั้งทนายความเข้าดำเนินคดี ดังนี้ ตามข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวย่อมมีความหมายรวมถึงให้ตั้งทนายความแก้ต่างคดีและทำคำให้การแก้คดีได้ด้วย จ.จึงอาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแต่งตั้งให้ทนายความทำคำให้การต่อสู้คดีในคดีที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลย อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ล. ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตีความเอกสารประกวดราคา: เจตนาของผู้เสนอราคาและผู้รับซองสำคัญกว่าถ้อยคำ
เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้เป็น 2 นัยนัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล และในการตีความแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อตามประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องการประกวดราคาเช่าสะพานท่าเทียบเรือวางเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ยื่นซองจะต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น และโจทก์จำเลยทั้งสามต่างก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้เสนอราคามาโดยตลอดดังนั้น ข้อความในใบเสนอการประกวดราคาที่ระบุว่า "ข้าพเจ้าบ. ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงน้ำแข็งเฉลิมพล... ขอเสนอการประกวดราคาการเช่าสะพานท่าเทียบเรือ..." จึงต้องถือว่าบ. เสนอราคาในนามของโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มิใช่เสนอราคาในฐานะส่วนตัว เพราะหากถือว่า บ. เสนอราคาในฐานะส่วนตัว ย่อมทำให้การเสนอราคาไร้ผลและขัดเจตนาของคู่กรณี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตีความนัยของเอกสารประกวดราคา: การเสนอราคาในนามนิติบุคคล แม้ข้อความระบุชื่อผู้จัดการ
ประกาศของจำเลยที่ 1 เรื่องประกวดราคาเช่าสะพานท่าเทียบเรือวางเงื่อนไขไว้ว่า ผู้ยื่นซองจะต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้นคณะกรรมการรับซองของจำเลยที่ 1 ก็รับซองประกวดราคาไว้ว่าเป็นของโจทก์ แม้ใบเสนอการประกวดราคาจะกรอกข้อความว่า "ข้าพเจ้าบังเอียนโลหะคุปต์ ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงน้ำแข็งเฉลิมพล" ก็เป็นการกรอกข้อความไปตามแบบพิมพ์ บ.ไม่มีสิทธิยื่นซองในฐานะส่วนตัวเพราะขัดกับเงื่อนไขตามประกาศ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เข้ายื่นซองประกวดราคา จำเลยทั้งสามก็ไม่ได้ให้การโต้เถียงว่าเสนอราคาในนามของ บ. เป็นการส่วนตัว แต่กลับยอมรับว่าโจทก์ได้เข้าประกวดราคาและเสนอราคาสูงสุดจริง และจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญาแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมเข้าทำสัญญาเอง เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างก็ยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้เสนอราคาไม่เคยโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสนอราคา นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 10 เดิม และมาตรา 132 เดิมให้ตีความเอกสารตามนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ และให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรดังนั้นในกรณีนี้จึงต้องถือว่า บ. เสนอราคาในนามของโจทก์ มิใช่เสนอราคาในฐานะส่วนตัว เพราะหากถือว่า บ.เสนอราคาในฐานะส่วนตัวย่อมทำให้การเสนอราคาไร้ผล และขัดกับเจตนาของคู่กรณี การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ จำเลยทั้งสามฎีกา ดังนี้อุทธรณ์ของโจทก์และฎีกาของจำเลยทั้งสามต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงศาลละ 200 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4161/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดความรับผิดนายประกันตามกฎหมายเช็ค, เจตนาแท้จริงของตัวแทน, และขอบเขตความรับผิดของตัวแทน
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของ คณะปฏิวัติฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2515 เป็นบทบัญญัติ จำกัดอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการซึ่งมีอยู่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ในอันที่ จะกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรให้นายประกันชดใช้เมื่อ มีการผิดสัญญาประกัน ในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยให้พนักงานสอบสวนหรือ พนักงานอัยการกำหนดจำนวนเงินที่นายประกันจะต้องชดใช้เมื่อมี การผิดสัญญาประกันเพียงไม่เกินจำนวนเงินตามเช็ค ดังนั้นการที่พนักงานสอบสวนในคดีนี้สั่งปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดให้นายประกันใช้เงิน 600,000 บาท เมื่อมีการผิดสัญญาประกันซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็คซึ่งมีเพียง 500,000 บาท เป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวนจึงใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ คือเท่าจำนวนเงินในเช็ค มิใช่ตกเป็นโมฆะเสียทั้งหมด เพราะสัญญาประกันดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายแต่อย่างใด ตามหนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุว่า มอบให้จำเลยที่ 1เป็นผู้มีอำนาจจัดการประกันตัวผู้ต้องหา โดยนำโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นประกันและให้จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่าง ๆแก่เจ้าหน้าที่แทนด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะเข้าทำสัญญาประกันในนามตนเอง มิได้ระบุว่ากระทำการแทนจำเลยที่ 2 ก็ตามแต่ในการตีความแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 เดิม แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาขอประกันตัวผู้ต้องหาแทนจำเลยที่ 2ตามที่ได้รับมอบอำนาจมา หาได้กระทำการเป็นส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ ประกอบกับการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันผู้ต้องหารายนี้จะต้องมีหลักประกัน และจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญาประกันโดยมอบหลักประกันของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ยึดถือไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 จะขอประกันเป็นการส่วนตัวหาได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีหลักทรัพย์เป็นประกันย่อมถือได้ว่าสัญญาประกันรายนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนหาต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องได้ แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)