คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
มนูพงศ์ รุจิกัณหะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 259 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของสมาชิกหมู่บ้านจัดสรร: สิทธิในการตรวจสอบการบริหารจัดการนิติบุคคล vs. อำนาจบริหาร
นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร สวนแหลมทอง 2 จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนิติบุคคลเพื่อดำเนินการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ตามข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ข้อ 8 ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ดังนั้น แม้คณะกรรมการนิติบุคคลชุดที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกรรมการอยู่ด้วยจะครบวาระแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหารดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ และดำเนินกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการชุดนี้จึงยังคงมีอำนาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะหากถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีอำนาจบริหารกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ย่อมทำให้เกิดปัญหาขัดข้องในการดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ได้
ส่วนการที่คณะกรรมการชุดนี้ไม่จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่นั้น โจทก์ทั้งแปดสามารถรวบรวมสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนให้ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าเสนอวาระเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ต่อคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ซึ่งคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ จะต้องจัดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งแปดจะกระทำได้
โจทก์ทั้งแปดเป็นเพียงสมาชิกของหมู่บ้านจัดสรร สวนแหลมทอง 2 ไม่มีอำนาจบริหารกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่มีอำนาจใดที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ทั้งแปดได้ การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรฯ ไม่ได้เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งแปดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5654/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน จำเป็นต้องบรรยายฟ้องวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันตามกฎหมายล้มละลาย
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยในฐานะผู้รับจำนอง ทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มี จ. ทนายความโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ทรัพย์จำนองอันเป็นหลักประกัน ได้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 57826 และ 57827 ตำบลทุ่งครุ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้ถูกห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล พี.เอ็น.เทพเจริญ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 4009/2546 ของศาลแพ่งธนบุรีนำยึดไว้แล้ว และกรมบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมนำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินและหนังสือสัญญาจำนอง เมื่อโจทก์นำสืบเพียงนี้ แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง เช่นนี้ การจำนองในที่ดินโฉนดเลขที่ 57826 และ 57827 จึงไม่ระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (เดิม) ดังนั้น ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยในทางจำนอง โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยตามความใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 การฟ้องคดีของโจทก์ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) กล่าวคือ โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันตามมาตรา 10 (2) ดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาซื้อขาย, การลดเบี้ยปรับ, ดอกเบี้ยจากการชำระหนี้, สิทธิในการริบเงิน, หนี้ที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา
เมื่อสัญญาเลิกกันหนี้ตามสัญญาย่อมระงับลง เงินที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งเจ็ดเพื่อชำระหนี้บางส่วน ย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์จำเลยทั้งเจ็ดมีข้อตกลงกันให้ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินเมื่อไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วได้ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อศาลลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยทั้งเจ็ดคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 (วันที่โจทก์ยื่นคำขอบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน) นั้นไม่ เพราะการที่จำเลยทั้งเจ็ดริบเงินไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาโดยชอบ แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 22,000,000 บาท จำเลยทั้งเจ็ดมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นยุติแล้วว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3330/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำให้การหลังศาลวินิจฉัยคดีล้มละลายแล้ว ถือเป็นการประวิงคดี ศาลมีอำนาจเพิกถอนการรับคำให้การ
คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่รับคำให้การของจำเลยฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 มิใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดที่ยกเว้นให้อุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าคำสั่งดังกล่าวของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายวันที่ 11 สิงหาคม 2553 ในวันนัดพิจารณา จำเลยมาศาลและแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่ติดใจถามค้านและไม่ติดใจสืบพยาน ทั้งยังแถลงว่าอยู่ระหว่างตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่โจทก์คาดว่าจะตกลงกันได้ ขอระยะเวลา 4 เดือน หากนัดหน้าไม่สามารถตกลงกันได้จะไม่ขอเลื่อนคดีอีกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า คดีเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น จำเลยเป็นฝ่ายขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งรวม 5 ครั้ง เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปีเศษ อ้างว่าอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยได้อ้างส่งเอกสารที่แสดงว่าตนเป็นหนี้โจทก์จริงและประสงค์จะผ่อนชำระหนี้นั้น นอกจากนี้ จำเลยแถลงรับในคำร้องขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 8 ธันวาคม 2554 และฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ว่า อยู่ในระหว่างการเจรจาหนี้กับโจทก์ เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยได้ชำระหนี้คืนโจทก์ ขอศาลได้โปรดเลื่อนคดี ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 จำเลยกลับยื่นคำร้องรวม 3 ฉบับ คือ คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพยานเอกสาร คำร้องขอนำส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และคำร้องขออนุญาตต่อสู้คดีและยื่นคำให้การ ทั้งยังยื่นคำให้การคำแถลงระบุพยานจำเลย และบัญชีระบุพยานมาด้วย ศาลล้มละลายกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ว่า ได้สอบโจทก์แล้วแถลงคัดค้านเนื่องจากจำเลยมีเจตนาประวิงคดี แล้ววินิจฉัยว่าการพิจารณาคดีล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อจำเลยแถลงว่า การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ แต่จำเลยมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ ไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดี กับมีคำสั่งให้เลื่อนไปถามค้านและสืบพยานจำเลยวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ทั้งที่การพิจารณาคดีล้มละลายต้องดำเนินการติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดีให้ศาลล้มละลายรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง การกำหนดแนวทางการดำเนินคดีเพื่อระงับข้อพิพาทโดยวิธีอื่นโดยการไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีเสร็จไป ตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 ข้อ 14 (1) จึงกำหนดให้กระทำได้เมื่อก่อนมีการสืบพยาน เมื่อคดีนี้ได้มีการสืบพยานแล้วเสร็จและคดีเสร็จการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 การให้โอกาสแก่จำเลยในการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งออกไปเป็นเวลานานกว่า 1 ปีเศษ ซึ่งจำเลยมีระยะเวลาพอสมควรที่จะเจรจาหนี้นอกศาลกับโจทก์ แต่ไม่ปรากฏผลว่าสามารถเจรจาระงับข้อพิพาทนอกศาลกันได้สำเร็จโดยเร็ว โดยจำเลยเป็นฝ่ายแถลงต่อศาลในวันคดีเสร็จการพิจารณาเองว่า หากการเจรจาหนี้กับโจทก์ไม่สามารถตกลงกันได้จะไม่ขอเลื่อนคดีอีก แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขออนุญาตต่อสู้คดีและยื่นคำให้การความว่า การเจรจาหนี้กับโจทก์ไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งจำเลยใช้เวลานานเกินควรในการเจรจา และในคำร้องก็ระบุแต่เพียงว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในคำร้องว่า หากศาลไม่อนุญาตให้ต่อสู้คดีและยื่นคำให้การแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยส่อไปในทางประวิงคดี และการที่จำเลยยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ภายหลังจากสืบพยานในคดีเสร็จสิ้นและคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว จึงเป็นการยื่นคำให้การล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยมานั้น เป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องล้มละลาย: คำพิพากษาถึงที่สุดและการพิจารณาคดีใหม่
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 วันที่คำพิพากษาที่ถึงที่สุดนั้นต้องพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ในคดีดังกล่าวจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา กล่าวคือ คำขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดพิจารณา แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว คดีดังกล่าวศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลได้ส่งคำบังคับแก่จำเลยโดยปิดคำบังคับเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2545 ซึ่งมีผลใช้ได้เมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ต้องถือว่าการส่งคำบังคับมีผลในวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยมีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ภายในวันที่ 30 ตุลาคม 2545 เมื่อมิได้ขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คดีจึงเป็นที่สุดตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 30 ตุลาคม 2545 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, การบอกเลิกสัญญา, ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา, การปฏิบัติตามสัญญา, สัญญาบอกรับเป็นสมาชิก
สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดหรือจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกจำนวน 13 ข้อ แม้สัญญาดังกล่าวโจทก์สามารถเจรจาต่อรองขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงได้ แต่ก็เป็นการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน ข้อสัญญาส่วนใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญยังคงเดิมหรือเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ฝ่ายที่นำสัญญาดังกล่าวมาใช้ยืนยันว่าจะต้องมีข้อสัญญาเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นจะไม่ทำสัญญาด้วย ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะที่จะเลือกได้เพียงว่าจะเข้าทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น และสัญญาดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน ดังนั้น สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามนัยแห่งมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกข้อ 3 ระบุว่า "วันเริ่มต้นและระยะเวลาสัญญานี้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันมีผลบังคับ และให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด เว้นแต่จะถูกบอกเลิกโดย 3.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งบอกเลิกสัญญาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือ" แม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย มิใช่กำหนดให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าให้สัญญาเลิกหรือสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาระตามสัญญาของฝ่ายตนหนักขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกเลิกสัญญาเลย และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามีสิทธิเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ได้ แม้โจทก์มิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ฉะนั้นข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบโจทก์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (3) ข้อกำหนดสัญญาบอกรับสมาชิกข้อ 3. 3.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และกระทำการไม่สุจริตลักลอบนำสัญญายูบีซีของจำเลยที่ 1 ไปใช้และหรือจำหน่ายจ่ายแจก การบอกรับสมาชิกที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญจึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่ได้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง มิใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงประพฤติผิดสัญญาแต่งตั้งตัวแทนให้บริการจำหน่ายสัญญาณยูบีซี ประเภทโครงการและหน่วยงานราชการ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนด 10 ปี มิใช่เป็นการกระทำละเมิดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14870/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องล้มละลาย: การตีราคาหลักประกันต้องเหมาะสม เพื่อความเป็นธรรมต่อลูกหนี้ และเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้อง
ในการฟ้องคดีล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกัน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) บังคับให้โจทก์ต้องตีราคาหลักประกันมาในฟ้อง ซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท เนื่องจากเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันของลูกหนี้ที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่หลักประกันนั้นได้ก่อนเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งเมื่อนำราคาหลักประกันมาหักชำระหนี้แล้ว เงินยังขาดอยู่เท่าใด หนี้ส่วนที่เหลือย่อมเป็นหนี้ธรรมดาเฉกเช่นเดียวกันกับเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ฉะนั้น การตีราคาหลักประกันจึงต้องถูกต้องเหมาะสมด้วย หากตีราคาหลักประกันต่ำเกินสมควรเพียงเพื่อจะให้จำนวนหนี้อยู่ในหลักเกณฑ์ในการฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็จะไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบการตีราคาหลักประกันของโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14860/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนทรัพย์เพื่อการล้มละลาย: การสันนิษฐานการฉ้อฉลและการยกให้โดยเสน่หา
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 114 ถ้านิติกรรมที่ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 นั้น เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น หรือเป็นการทำให้โดยเสน่หาหรือเป็นการที่ลูกหนี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยเกินสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้และผู้ที่ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ จำเลยเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ตามคำพิพากษา ของศาลแพ่ง โดยก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแพ่งและก่อนโจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย จำเลยได้จดทะเบียนการให้โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลย การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่กระทำภายในระยะเวลา 1 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายและเป็นการทำให้โดยเสน่หา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นการกระทำที่ลูกหนี้จำเลยและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องเสียเปรียบ จำเลยและผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวตามมาตรา 114
การที่ผู้คัดค้านเป็นบุตรซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับจำเลยกล่าวอ้างว่า ก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทได้นำเงินมาชำระหนี้เจ้าหนี้อื่นแทนจำเลยมารดาของตนเพื่อปลดภาระจำนอง แสดงว่าผู้คัดค้านย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้และจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การที่บุตรชำระหนี้แทนมารดาเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมประการหนึ่ง ไม่มีสิทธิได้รับคืนทรัพย์แต่ประการใด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 408 (3) นิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านจึงเป็นการยกให้โดยเสน่หาตามที่ระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียน มิอาจรับฟังเป็นอื่นได้ ทั้งในชั้นพิจารณาทนายผู้คัดค้านแถลงไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวน จึงไม่มีข้อเท็จจริงใดนำมาหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ การที่จำเลยทำนิติกรรมยกกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านบุตรของจำเลยโดยเสน่หาในขณะที่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยไม่เพียงพอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยและผู้คัดค้านรู้อยู่ว่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทดังกล่าวเป็นทางให้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เสียเปรียบอันเป็นการกระทำโดยการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14002/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: ยึดทรัพย์เพิ่มเติมได้แม้ยังไม่ได้ขายทรัพย์จำนอง เพื่อป้องกันการเสียสิทธิเมื่อระยะเวลาใกล้หมด
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์สินจำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น แต่ในวันที่โจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 อีก ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 71474 ดังกล่าวที่พิพาท สืบเนื่องจากระยะเวลาการบังคับคดีใกล้สิ้นสุดลงแล้ว หากโจทก์ไม่ร้องขอให้ยึดทรัพย์สินที่พิพาททันที แต่ต้องรอให้มีการขายทรัพย์สินจำนองเสร็จก่อนถึงจะกลับมายึดทรัพย์สินที่พิพาทได้ก็จะเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา เป็นเหตุให้โจทก์อาจเสียสิทธิในการบังคับคดี ทั้ง ๆ ที่การขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์แต่อย่างใด อีกประการหนึ่งจากสภาพราคาทรัพย์สินที่จำนองเป็นที่เห็นได้ชัดว่าไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา การยึดทรัพย์สินที่พิพาทไว้ก่อน แต่ยังไม่นำออกขายจนกว่ามีการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองเสร็จสิ้นและได้เงินไม่พอชำระหนี้ จึงค่อยนำทรัพย์สินพิพาทออกขายก็ไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษาและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โจทก์จึงมีสิทธินำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 4 เพิ่มเติมได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้จำเลยทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในท้ายฎีกานั้น เห็นว่า คดีอยู่ในชั้นบังคับคดี กรณีคำขอดังกล่าวของโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาที่จะมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13105/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีซ้ำในประเด็นเขตที่ดินพระราชทาน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ และ ป.วิ.พ. มาตรา 144 ได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก ซึ่งเป็นหลักการตรวจสอบทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงนำเรื่องห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับในการดำเนินคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้โดยอนุโลม
โจทก์ร่วมเคยฟ้องจำเลยเรื่องบุกรุกที่เกิดเหตุสถานที่เดียวกันกับคดีนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทาน หากคดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า มีพยานหลักฐานใหม่มาพิสูจน์ได้ว่าที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน ศาลก็ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานหรือไม่ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานโดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงชอบแล้ว
of 26