คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ม. 14 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4184/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการที่ไม่เป็นธรรมในคดีผู้บริโภค: สิทธิในการฟ้องร้องต่อศาล
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ออกใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภคภายใต้หลักการให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับ สำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจําเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จําเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะ เช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญา ข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จําต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด คุ้มครองผู้บริโภค
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จำเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะเช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จำต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1670/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: การจำหน่ายคดีให้ไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีให้คู่ความไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์ขอให้เลขาธิการไอเอทีเอตั้งอนุญาโตตุลาการตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แม้จำเลยมีหนังสือถึงไอเอทีเอคัดค้านไม่ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ แต่จำเลยแก้ฎีกาว่า การปฏิเสธการอนุญาโตตุลาการเป็นการต่อสู้คดี จำเลยไม่มีเจตนาสละข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ การพิจารณาตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นอำนาจของเลขาธิการไอเอทีเอ ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนซึ่งมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ เมื่อจำเลยยื่นคำให้การและยื่นคำร้องขอให้ศาลจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการโดยให้ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดตามคำร้องและคำคัดค้าน เท่ากับจำเลยรับว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ศาลจึงต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง และหากเลขาธิการไอเอทีเอไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ โจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้ดำเนินการตั้งอนุญาโตตุลาการตามมาตรา 18 วรรคท้าย (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3894/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาช่วงและอนุญาโตตุลาการ: การบังคับใช้ข้อตกลงระงับข้อพิพาทตามสัญญาหลัก
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยตกลงให้นำสัญญาหลักระหว่างจำเลยกับบริษัท อ. เจ้าของงานมาใช้บังคับ สัญญาหลักมีข้อตกลงว่าหากมีกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัย จึงถือว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงระหว่างโจทก์กับจำเลยมีสัญญาอนุญาโตตุลาการแล้วตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคท้าย แม้ต่อมาโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกัน แต่ก็มิใช่กรณีมีเหตุที่ทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ด้วยเหตุประการอื่น หรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง โจทก์และจำเลยยังมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น
ส่วนกรณีสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงที่มีข้อกำหนดให้จำเลยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างช่วงนั้น หาได้ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ เพราะข้อวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย หากโจทก์ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ข้อพิพาทดังกล่าวย่อมต้องใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหลักอยู่ดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการให้ระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในคดีนี้ก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ศาลจำหน่ายคดีให้ไปดำเนินการตามสัญญา แม้ฟ้องว่าเป็นการละเมิด
สัญญากู้ยืมเงินกับสัญญาซื้อขายทองคำ มีข้อสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน จึงเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิเลือกที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ทำให้การระงับข้อพิพาทต้องใช้กระบวนการของอนุญาโตตุลาการตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญาอนุญาโตตุลาการ
เหตุบกพร่องของสัญญาที่โจทก์อ้างไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือกลฉ้อฉล หรือข้อตกลงที่จำเลยให้โจทก์ชำระหนี้เงินกู้ด้วยทองคำโดยกำหนดราคาทองคำที่แน่นอนไว้ล่วงหน้าซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม หรือการกระทำของจำเลยที่ใช้อำนาจต่อรองสูงกว่า จัดทำสัญญาเอาเปรียบโจทก์ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหา และความสมบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญาและการมีผลใช้บังคับของสัญญาซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญาหาใช่มูลละเมิด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอันเป็นเนื้อหาข้อพิพาทซึ่งต้องระงับโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11235/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ: ศาลสั่งจำหน่ายคดีให้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญา
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดก่อนเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาที่ตกลงกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจไม่ช้ากว่าวันยื่นคำให้การหรือภายในระยะเวลาที่มีสิทธิยื่นคำให้การตามกฎหมายให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ทำคำร้องยื่นต่อศาลให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีภายในกำหนดระยะเวลาตามความใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 แต่ได้ยื่นคำให้การโต้แย้งไว้แล้วว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่ดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการก่อน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุดังกล่าว และแม้คำให้การจำเลยที่ 1 จะปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ในเรื่องอื่น ๆ ด้วยและขอให้ยกฟ้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 สละข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5896/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพัน แม้ฟ้องคดีก่อนเสนอข้อพิพาทเข้าอนุญาโตตุลาการ ศาลสั่งจำหน่ายคดีได้
แม้ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายจะมีเพียง อ. กรรมการคนหนึ่งของจำเลยลงลายมือชื่อท้ายสัญญาโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยตามข้อบังคับของบริษัท ซึ่งปกติจะไม่มีผลผูกพันจำเลยแต่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์เองว่า หลังจากทำสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญากับจำเลยอย่างถูกต้องครบถ้วนตลอดมา นอกจากนี้ จำเลยรวมทั้งโจทก์ต่างถือเอาสัญญานี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของตน ถือว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. กรรมการผู้มีอำนาจของตนแล้ว สัญญานี้จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญา สัญญาตัวแทนจำหน่ายดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
ในสัญญาตัวแทนจำหน่ายมีข้อความระบุว่า ข้อพิพาททั้งปวงที่เกิดจากข้อสัญญานี้จะต้องตัดสินชี้ขาดภายใต้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับข้อสัญญาในเรื่องข้อมูลการค้าของโจทก์ จึงต้องตัดสินชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการด้วย ไม่ชอบที่โจทก์จะนำมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาล
ก่อนหน้าการใช้บังคับ พ.ร.บ.ความลับทางการค้าฯ สิทธิในความลับทางการค้าก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยสัญญาระหว่างคู่สัญญา และโดยหลักละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ 421 อยู่แล้ว จึงเป็นสิทธิทางแพ่งอย่างหนึ่งที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ โจทก์กับจำเลยจึงสามารถตกลงกันในเรื่องข้อมูลความลับทางการค้าลงในสัญญาดังกล่าวได้
เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในความลับทางการค้าเกี่ยวกับข้อมูลการค้าบุหรี่ของโจทก์ จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้ว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดตามข้อตกลงดังกล่าวก่อน เป็นการผิดสัญญาและกฎหมายอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คำให้การดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยประสงค์จะขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่โจทก์ไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาดก่อนที่จะฟ้องคดีต่อศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แล้ว การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ย่อมเป็นการยืนยันความต้องการดังกล่าวของจำเลย แม้จำเลยจะยื่นคำร้องช้ากว่าวันยื่นคำให้การ ก็ไม่เป็นเหตุทำให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการใช้บังคับไม่ได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้ศาลได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการเสียก่อนที่จะได้มีการพิจารณาคดีตามประเด็นข้อพิพาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีอนุญาโตตุลาการ: ศาลต้องให้โอกาสคู่ความคัดค้านก่อนมีคำสั่ง
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า คำขอดังกล่าวอาจทำได้แต่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้านก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพียงแต่หมายแจ้งวันนัดพร้อมไปยังโจทก์จึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้านคำร้องดังกล่าวของจำเลยได้ทันเพราะเพิ่งได้รับสำเนาคำร้องในวันนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนแล้วได้ความว่า ไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ: อำนาจฟ้อง, สิทธิในเครื่องหมายการค้า, ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ
หนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุมอบอำนาจให้ ว.ยื่นฟ้องต่อสู้คดีดำเนินการไปจนสำเร็จในศาลทั้งปวงแทนผู้รับมอบอำนาจ หาได้ระบุมอบอำนาจให้ ว.ฟ้องผู้คัดค้านเป็นการเฉพาะคดีแต่ประการใดไม่ ว.จึงมีอำนาจกระทำการแทนผู้รับมอบอำนาจในการยื่นฟ้องและดำเนินคดีในศาลได้ทุกคดีโดยไม่มีกำหนดเวลาจนกว่าผู้รับมอบอำนาจจะเพิกถอนการมอบอำนาจนั้น
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าผู้คัดค้านก็ได้มีคำชี้ขาดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อ 5 (1) โดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการตามความจำเป็นในการยกเลิกทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทหรือโอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทให้แก่ผู้ร้องแล้วแต่ผู้คัดค้านจะเลือก อันเป็นคำชี้ขาดให้คู่สัญญากระทำการตามสัญญาหรืองดเว้นจากการกระทำตามสัญญาต่อไป จึงไม่ใช่ข้อพิพาทที่ไม่อาจระงับได้โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ
ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกัน ข้อ 31, 32 ได้กำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไว้ เมื่อผู้คัดค้านเป็นฝ่ายนำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านจึงต้องตระหนักและผูกพันตามข้อบังคับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับที่ใช้แก่คู่สัญญาทั่วไปที่เข้าสู่กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสมาคมอนุญาโตตุลาการอเมริกันโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศหรือสัญชาติของคู่สัญญา