คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไมตรี ศรีอรุณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 266 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10625/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี, การมอบอำนาจ, ดอกเบี้ยผิดสัญญา, และการบังคับจำนอง: ข้อจำกัดและผลกระทบต่อการเรียกร้อง
ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสี่ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ย่อมเป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาปรับแก่คดีแล้วเห็นว่าไม่สมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนเฉพาะกิจการของโจทก์สาขาย่อยนวนครหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า "...กรรมการผู้มีอำนาจของธนาคารได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้ ส. ผู้จัดการสาขาย่อยนวนคร ซึ่งได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหนังสือนี้เป็นตัวแทนของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมายในอันที่จะกระทำแทนธนาคารในกิจการของสาขาที่กล่าวข้างต้น... รวมทั้งให้มีอำนาจ ดังนี้ 6. ...ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่ง ...เพื่อป้องกันและรักษาทรัพย์สิน ผลประโยชน์หรือสิทธิต่าง ๆ ของธนาคาร..." ย่อมหมายความว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ในฐานะผู้จัดการสาขาย่อยนวนครดำเนินคดีแทนโจทก์ในกิจการของสาขาย่อยนวนครของโจทก์เท่านั้น ส. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับหนี้ของโจทก์สาขาอื่น ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์เฉพาะหนี้เงินกู้ที่โอนจากสาขาเพชรบุรีตัดใหม่ไปยังสาขาย่อยนวนคร
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ประกอบประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์ไม่อาจทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้โจทก์แล้วโจทก์นำไปหักชำระหนี้ตามจำนวนที่คิดคำนวณเอง โดยโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้จำเลยที่ 1 เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้อง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์เป็นโมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
แม้ผู้บอกกล่าวบังคับจำนองจะมิใช่ผู้รับจำนองและไม่ได้รับมอบอำนาจจากผู้รับจำนอง แต่โจทก์ผู้รับจำนองยอมรับเอาการกระทำของผู้บอกกล่าวบังคับจำนองที่ได้กระทำไปในนามของโจทก์โดยการฟ้องคดีนี้ ถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การบอกกล่าวบังคับจำนองนั้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9241/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดต่างกรรมกันในหลายข้อหา: เครื่องหมายการค้า, ยาสูบ, และการเข้าออกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
การที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างจากความผิดฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบอันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และเป็นพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน จึงสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตกับฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน และกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการลงโทษจากการกระทำที่ต่างกัน โดยแยกการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9082/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอุทธรณ์ของผู้รับรองหลักทรัพย์สัญญาประกัน และเหตุลดค่าปรับ
ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่เห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาประกันภัยในฐานะผู้เอาประกันกับผู้รับประกัน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หนังสือรับรองของผู้ร้องเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หนังสือรับรองดังกล่าวระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน และศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกัน ผู้ร้องตกลงชำระค่าปรับตามสัญญาประกันถือได้ว่าผู้ร้องเกี่ยวข้องกับสัญญาประกันในฐานะผู้รับรองหลักทรัพย์ตามสัญญาประกัน ผู้ร้องจึงเป็นฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้น และมีอำนาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญาประกันไม่มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้น เป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในเนื้อหาของการลดค่าปรับตามสัญญาประกัน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่เป็นที่สุด
จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 และวันที่ 21 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ส่งศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือในการจับกุมจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ขวนขวายติดตามจับตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาล การที่ศาลชั้นต้นไม่ลดค่าปรับให้แก่ผู้ร้องจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปให้เสร็จในคราวเดียวกันโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดราคาขายสุราตามประกาศกรมสรรพสามิต ต้องพิจารณาจากราคาตลาดปกติ ไม่ใช่ราคาต้นทุน+กำไรที่แจ้ง
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลพิจารณาสั่งให้มีการปรับปรุงกระบวนพิจารณาให้เหมาะสมกับการพิจารณาคดีในศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลภาษีอากรกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยคำนึงถึงประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
การออกประกาศกรมสรรพสามิตฯ เป็นการกระทำของอธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งหน้าที่ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 5 ส่วนหนังสือของสำนักงานสรรพสามิตฯ เป็นเพียงหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบว่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเท่านั้นไม่ใช่คำสั่งที่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิหน้าที่ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์แต่อย่างใด จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง
ข้อความตามหนังสืออุทธรณ์ของโจทก์แสดงอยู่ในตัวว่าโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยออกประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าว รวมทั้งรายละเอียดและเหตุผลเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เหตุผลในการประกาศกำหนดราคาสุราตามประกาศกรมสรรพสามิตฯ โจทก์รู้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องระบุในประกาศกรมสรรพสามิตอันเป็นคำสั่งทางปกครองฉบับนี้อีก ต้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคสาม (2) มีผลให้ไม่ต้องนำบทบัญญัติที่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ดังนี้ แม้ประกาศกรมสรรพสามิตฯ ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ ก็ไม่เป็นเหตุให้เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ จึงเพิกถอนไม่ได้
เมื่อศาลชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบแล้ว คู่ความมีสิทธิคัดค้านได้ และเมื่อศาลชี้ขาดคำคัดค้านแล้วคำชี้ขาดดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 226 คดีนี้ ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้กำหนดประเด็นเพิ่มเติม ศาลภาษีอากรกลางไม่กำหนดให้ เป็นการชี้ขาดคำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ต้องโต้แย้งไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า ประกาศกรมสรรพสามิตฯ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.สุราฯ มาตรา 8 จัตวา (1) วรรคสาม ปัญหานี้ ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของคู่ความก่อนว่าราคาขาย ณ โรงงานปกติเป็นเท่าใด จากนั้นจึงวินิจฉัยข้อกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ข้อกฎหมายและไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อไม่มีประเด็ให้ต้องวินิจฉัยในศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 24 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8750/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงข้อหาจากยักยอกทรัพย์เป็นลักทรัพย์ และอำนาจฟ้องคดีอาญาแผ่นดิน แม้มีการถอนคำร้องทุกข์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 182 กระทง เป็นจำคุก 364 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 334 และมาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ส่วนกำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเฉพาะบทลงโทษเท่านั้น มิได้แก้ไขกำหนดโทษ ถือว่า เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 จำเลยฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเพียงคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) ประกอบมาตรา 83 แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่า ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับยักยอก มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกัน ลักทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 อันเป็นความผิด ยอมความได้ แต่เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตาม มาตรา 335 (7) ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หากตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ย่อมไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินแม้มีข้อพิพาท: การรบกวนการครอบครองที่ดินที่มีโฉนด แม้มีการเพิกถอนโฉนดยังไม่สิ้นสุด ถือเป็นความเสียหายฟ้องร้องได้
ที่ดินพิพาทมีชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ แม้สำนักงานธนารักษ์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าโฉนดออกในที่ราชพัสดุและมีการขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว แต่ขั้นตอนในการเพิกถอนโฉนดยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ และผลในการเพิกถอนยังไม่ปรากฏว่าจะเพิกถอนได้หรือไม่ เมื่อมีบุคคลมารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในการครอบครองที่ดินของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8732/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องทุกข์มีผลระงับสิทธิฟ้องคดีลิขสิทธิ์ และขอบเขตการถอนคำร้องทุกข์ครอบคลุมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ตามบันทึกถอนการร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.14 ระบุข้อความว่า "...ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับ ว. ผู้ต้องหา และผู้เกี่ยวข้องอื่นอีกต่อไป..." คำว่าผู้เกี่ยวข้องอื่น นั้น มีความหมายได้ว่า อาจเป็นตัวการร่วมกันหรือเป็นผู้จ้างวาน ใช้หรือเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวก็ได้ การถอนคำร้องทุกข์นั้นย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกคน ที่พยานโจทก์เบิกความว่า กรณีเป็นการถอนคำร้องทุกข์เฉพาะสำหรับ ว. ซึ่งเป็นเยาวชนเท่านั้น จึงขัดกับข้อความในบันทึกถอนการร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมรับฟังไม่ได้ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 66 ของ พระราชบัญญัติดังกล่าว การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาโดยรวม ไม่ตัดทิ้งคำที่แสดงเจตนาจะไม่ถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว
เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะเครื่องหมายและการประดิษฐ์ตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "California WOW WOMEN" กับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วคำว่า "WOW WORLD OF WOMEN" แล้ว เห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันมากทั้งรูปร่าง ลักษณะการวางตัวอักษร รวมทั้งเสียงเรียกขานก็แตกต่างกันชัดเจน ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการได้ การที่โจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวได้แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้คำ "California" "WOMEN" และ "WORLD OF WOMEN" ตามลำดับดังกล่าวนั้น ก็มีผลเพียงว่าโจทก์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการดังกล่าวไม่มีสิทธิที่จะห้ามมิให้บุคคลอื่นใช้คำดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการเท่านั้น การที่จะพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันจึงต้องนำคำดังกล่าวมาพิจารณาถึงลักษณะและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการด้วย ทั้งนี้จะต้องพิจารณาโดยรวมของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการทั้งหมดโดยไม่ถือว่าคำที่มีการแสดงปฏิเสธว่าจะไม่ขอถือสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้คำนั้นไม่ใช่สาระสำคัญที่จะต้องพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534-8535/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์เจตนาหลอกลวงในคดีฉ้อโกง จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทราบว่าเป็นเท็จหรือไม่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมเชื่อว่าบุตรชายของโจทก์ร่วมถูกผู้หญิงทำไสยศาสตร์เป็นเหตุให้ไม่กลับบ้านและมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 ทำพิธีแก้ไสยศาสตร์ตามคำแนะนำของจำเลยที่ 1 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเท่านั้น หาได้ฟังข้อเท็จจริงใด ๆ ต่อไปว่าในขณะที่แนะนำให้โจทก์ร่วมทำพิธีไสยศาสตร์ จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จหรือเหตุที่โจทก์ร่วมเชื่อเช่นนั้นเกิดจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญในคดีที่จะต้องประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย และมีผลโดยตรงในการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในสำนวนให้ครบถ้วนแล้วด่วนวินิจฉัยว่าการที่จำเลยทั้งสองพูดชักชวนโจทก์ร่วมให้ทำพิธีไสยศาสตร์แล้วจะทำให้บุตรชายกลับบ้าน ที่ดินโจทก์ร่วมจะขายได้และคนในครอบครัวจะไม่เจ็บป่วย เป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน การเข้าทำพิธีของโจทก์ร่วมจึงไม่ได้เป็นผลจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องไป จึงเป็นการไม่ชอบ ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปตามลำดับชั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151-8152/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สินค้าต่างประเภท แม้เสียงคล้ายกันแต่ไม่ทำให้สับสน ศาลอนุญาตจดทะเบียนได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า "HEXAXIM" ของโจทก์ขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกที่ 5 คือ ยา เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า "EXAZYM" ของ ค. แต่สินค้าของโจทก์เป็นวัคซีน ส่วนสินค้าของ ค. เป็นสารที่เตรียมขึ้นใช้ในการวินิจฉัยโรค ใช้ในทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับไวรัส แม้เป็นสินค้าจำพวกยาเหมือนกัน แต่มีลักษณะการใช้แตกต่างกัน โดยวัคซีนของโจทก์ใช้ฉีดสำหรับเด็กเพื่อป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน ฯลฯ ไม่ได้จำหน่ายแก่ร้านค้าหรือร้านขายยาทั่วไป แต่ขายให้แก่ตัวแทนจำหน่ายนำสินค้าไปกระจายให้แก่โรงพยาบาลหรือผู้มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ วัคซีนนี้ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น บนกล่องระบุชัดเจนว่าเป็นยาอันตราย ผู้ใช้คือแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ส่วนสินค้าเครื่องหมายการค้า "EXAZYM" ที่จดทะเบียนแล้วซึ่งเป็นสารที่เตรียมขึ้นใช้ในการวินิจฉัยโรคใช้ในทางการแพทย์นั้น กลุ่มผู้ใช้สินค้าคือนักเทคนิคการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยใช้สารในการวินิจฉัยโรคจากสิ่งที่ส่งตรวจ เช่น เลือด ปัสสาวะ เป็นต้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาและร้านค้าทั่วไป ต้องซื้อจากตัวแทนจำหน่ายของผู้ผลิต โดยตัวแทนจะติดต่อกับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์โดยตรงและมีราคาสูง ส่วนวัคซีนตัวแทนจำหน่ายจะติดต่อกับแพทย์ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เห็นได้ว่าผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "HEXAXIM" กับผู้ใช้สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "EXAZYM" เป็นคนละกลุ่มกัน และผู้ใช้สินค้าแต่ละกลุ่มต่างก็เป็นผู้มีวิชาชีพ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและความชำนาญเฉพาะทาง ย่อมสามารถแยกแยะสินค้าทั้งสองได้โดยไม่สับสนหรือหลงผิด นอกจากนั้น ช่องทางในการจำหน่ายสินค้าก็แตกต่างกัน ทั้งไม่ได้วางจำหน่ายในร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสองจะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าสับสนหรือหลงผิด
of 27