คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไมตรี ศรีอรุณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 266 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5297/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของหมู่บ้านจัดสรรในการกำหนดระเบียบการก่อสร้างและการบังคับใช้กับสมาชิก
การที่บริษัท ท. ผู้จัดสรรที่ดินร่วมกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจดทะเบียนตั้งโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2511 แล้วโอนสิทธิและทรัพย์ส่วนกลางในโครงการให้โจทก์จัดการและดูแลรักษา โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ย่อมมีอำนาจหน้าที่กำหนดระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกโดยได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 44, 45, 46, 47, 48 และมาตรา 70 เมื่อโจทก์มีระเบียบข้อบังคับควบคุมการก่อสร้างในโครงการโดยห้ามก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างมีความสูงเกินกว่าที่ระเบียบกำหนดไว้ เพื่อบริหารจัดการชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสมแก่การอาศัยอยู่ร่วมกัน ระเบียบดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก จึงเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย หาได้มีลักษณะอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนที่จะทำให้ตกเป็นโมฆะไม่ แม้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับใบอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ก่อสร้างอาคาร แต่ก็เป็นการอนุญาตโดยมีเงื่อนไขให้ต้องขออนุญาตตามกฎหมายอื่นในส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของโจทก์ด้วย การที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารและรั้วพิพาทฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับของโจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นตัวแทนของสมาชิก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารและรั้วพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5081/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งห้ามชั่วคราวสิ้นผลเมื่อศาลพิพากษาถึงที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องบังคับคดีส่งมอบรถยนต์
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทที่ทำไว้แก่โจทก์เพื่อขอรับเอกสารไปรับสินค้ารถยนต์ที่สั่งซื้อไว้ โดยระหว่างพิจารณาโจทก์มีคำขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ห้ามจำเลยทั้งสองโอน ขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายรถยนต์พิพาท และให้นายทะเบียนกรมการขนส่งทางบกระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถยนต์คันพิพาทไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ต่อมาศาลทรัพย์สินฯ มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และคดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ในชั้นบังคับคดี ปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยถูกต้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวดังกล่าว กรณีเช่นนี้ แม้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) บัญญัติให้คำสั่งของศาลเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวยังมีผลใช้บังคับต่อไปก็ตาม แต่ก็ให้ใช้บังคับต่อไปเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเท่านั้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ ทั้งโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าว เมื่อศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ ย่อมไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติตามวิธีการชั่วคราวที่ห้ามจำเลยทั้งสองโอนขาย ยักย้าย หรือจำหน่ายรถยนต์ดังกล่าว เพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษานี้อีกแต่อย่างใด คำสั่งในวิธีการชั่วคราวดังกล่าวเป็นอันยกเลิกไปในตัวไม่มีผลใช้บังคับอีกต่อไป จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4861/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันในธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการละเมิด
คำว่า "เทวารัณย์" เป็นคำที่มีความหมายตามพจนานุกรมว่าสวนสวรรค์ จึงเป็นคำที่มีอยู่แล้วและใช้กันได้เป็นการทั่วไป ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันควรที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะถือสิทธิในการใช้คำนี้แต่ผู้เดียวโดยเด็ดขาด บุคคลอื่นย่อมยังสามารถใช้คำคำนี้ได้ เพียงแต่ต้องกระทำโดยสุจริตโดยไม่ทำให้เกิดความสับสนหลงผิดหรือเกิดความเสียหายแก่ผู้ที่ได้ใช้คำคำนี้เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการหรือชื่อทางการค้ามาก่อน
ก่อนที่จำเลยจะใช้ชื่อทางการค้าคำว่า "บ้านเทวารัณย์" และ "Baan Dhewaran" กับโครงการที่ดินและบ้านจัดสรรของจำเลย ในเดือนมกราคม 2547 นั้น แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการโดยใช้คำว่า "เทวารัณย์" และ "DEVARANA" แต่ก็เป็นการจดทะเบียนไว้สำหรับบริการประเภทอื่นคนละประเภทกับกิจการของจำเลย ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการสำหรับสินค้าและบริการที่จดทะเบียนไว้นั้นเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 จึงยังไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้จำเลยใช้คำว่า "เทวารัณย์" และ "Dhewaran" ในกิจการจัดสรรที่ดินและบ้านของจำเลยได้
โจทก์ใช้คำ "เทวารัณย์" และ "DEVARANA" ประกอบกับคำว่า "สปา" และ "SPA" ซึ่งช่วยสื่อความหมายถึงกิจการให้บริการด้านสุขภาพโดยวิธีธรรมชาติอันเป็นกิจการหลักของโจทก์ที่ดำเนินการอยู่ ส่วนจำเลยใช้คำว่า "บ้าน" และ "Baan" ประกอบกับคำว่า "เทวารัณย์" และ "Dhewaran" ซึ่งก็สื่อความหมายถึงการจัดสรรที่ดินและบ้านของจำเลยที่เป็นกิจการคนละประเภทกับโจทก์ จึงไม่มีเหตุผลที่ประชาชนที่สนใจใช้บริการของโจทก์หรือบริการของจำเลยจะสับสนหลงผิดว่ากิจการของจำเลยเป็นกิจการของโจทก์หรือเกี่ยวข้องกับโจทก์แต่อย่างใด
ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของโจทก์ บริษัทโจทก์มีทุนจดทะเบียน 8,000,000 บาท ส่วนตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของจำเลย จำเลยมีทุนจดทะเบียนมากถึง 90,000,000 บาท ลักษณะกิจการของจำเลยที่ปรากฏในเอกสารการโฆษณาที่จัดสรรที่ดินและบ้านขายในราคาสูงมาก แสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูงและเป็นกิจการขนาดใหญ่ ขณะที่กิจการของโจทก์กลับไม่ปรากฏพยานหลักฐานให้เห็นว่าเป็นกิจการขนาดใหญ่ดังเช่นกิจการของจำเลย ย่อมไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า จำเลยประกอบกิจการที่ใช้ชื่อโครงการหมู่บ้านของจำเลยโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงที่มีอยู่ในชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการดังที่โจทก์กล่าวอ้าง การที่จำเลยใช้ชื่อโครงการหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวย่อมไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์และไม่เป็นการทำให้เสียหายต่อการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์
เมื่อการใช้คำว่า "เทวารัณย์ สปา" และ "DEVARANA SPA" ของโจทก์กับการใช้คำว่า "บ้านเทวารัณย์" และ "Baan Dhewaran" ของจำเลยไม่ว่าจะใช้เป็นชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการในกิจการค้าของโจทก์และจำเลยแตกต่างกันและลักษณะคำที่ใช้ประกอบกันเป็นคำรวมดังกล่าวของแต่ละฝ่ายก็แตกต่างกัน จึงเชื่อได้ว่าการใช้ชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายบริการของแต่ละฝ่ายไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของกิจการของผู้ให้บริการแต่ละฝ่าย ก็ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีสิทธิในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ดีกว่าโจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4182/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้ครอบครองสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของตน
จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์โดยสำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของจำเลย ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3964/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันปล้นทรัพย์และการพยายามฆ่า: จำเลยที่ไม่ได้ใช้อาวุธไม่มีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ
ขณะจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดอันเป็นการแสดงว่าร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีจำเลยที่ 1 ยังใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอีก ถือเป็นการกระทำโดยลำพังของจำเลยที่ 1 ในการใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายในทันทีทันใด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูต้นทางในขณะที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนี้ไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่นและยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง
ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษให้หนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น มิใช่ว่าผู้ที่ร่วมปล้นทรัพย์จะต้องระวางโทษหนักขึ้นทุกคน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีหรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพยายามปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3617/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายที่ดินติดจำนอง ต้องประเมินราคาตามมูลค่าที่แท้จริงรวมภาระจำนอง
แม้หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ จะจัดให้มีเหตุผลของการประเมินไว้เพียงว่า โจทก์มีรายรับจากการขายที่ดินพิพาท โดยมิได้มีการยื่นแบบและชำระภาษีไว้ เจ้าพนักงานจึงประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย โดยมิได้จัดให้มีข้อกฎหมายที่อ้างอิง รวมทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเรื่องขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินซึ่งได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโจทก์ทั้งสามก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะชอบด้วยมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ จำเลยมิได้ให้เหตุผลในการนำคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 มาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยต้องใช้คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.57/2538 ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสามทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วน การที่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะระบุถึงคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ก็เป็นการอ้างเหตุผลในการประเมินไปตามคำสั่งฉบับนี้อันเป็นการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองที่ประเมินภาษีโจทก์ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่งแล้ว
พฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสามรับโอนที่ดินพิพาทมาจากบิดาแล้วโอนให้แก่บริษัท ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อหุ้นเพื่อนำไปประกอบกิจการอาคารชุด ทำการโอนภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เป็นการโอนไปเพื่อแสวงหากำไรทางการค้า จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือกำไร (ฉบับที่ 244) มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
ป.รัษฎากร มาตรา 91/5 ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) รายรับจากการประกอบกิจการคือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมาตรา 91/1 (1) บัญญัติความหมายของรายรับว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ และให้ความหมายของมูลค่าไว้ใน มาตรา 91/1 (2) ว่าหมายถึง ราคาตลาดของทรัพย์สินฯ ยังให้ความหมายของราคาตลาดไว้ใน มาตรา 91/1 (3) ว่าราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสามโอนที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ว. เป็นการโอนที่ดินพิพาทได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัทมีต่อบริษัท อ. เป็นการขายที่ดินโดยติดภาระจำนอง ภาระจำนองย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสองและโจทก์ทั้งสามไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานว่าที่ดินที่โอนไปมีราคาซื้อขายกันจริงในขณะโอนเป็นเงินเท่าใด มีเหตุเชื่อว่าผู้รับโอนคิดหักราคาที่ต้องชำระแก่ผู้โอนตามมูลค่าแห่งภาระจำนองที่ตนเองต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า ราคาที่ดินที่ควรซื้อขายกันจริงขณะนั้นสำหรับกรณีการขายใดติดจำนองมีราคาตามที่ผู้โอนกับผู้รับโอนชำระกันรวมกับจำนวนเงินอย่างน้อยตามวงเงินจำนองด้วย กรณีของโจทก์ทั้งสามไม่ต้องด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ
เมื่อโจทก์ทั้งสามเข้าชื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแล้วย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 วรรคสอง ที่ให้นำบทนิยามคำว่า คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 77/1 มาใช้บังคับ ซึ่งให้หมายความถึง กิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3610/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกายโดยใช้อาวุธปืนและมีด โดยมีเจตนาและร่วมกระทำความผิด
พยานโจทก์ที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงและใช้มีดฟันผู้เสียหายทั้งสี่ เบิกความมีรายละเอียดรวมทั้งอธิบายสาเหตุที่มีเรื่องทะเลาะวิวาท และเหตุการณ์ขณะผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิง ผู้ที่ยิง ผู้ที่ร่วมในเหตุการณ์ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสาม ว่ากระทำอะไรบ้างตรงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ พยานโจทก์อยู่หมู่บ้านเดียวกับจำเลยทั้งสามรู้จักกันมานานแล้ว โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 3 รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จำเลยทั้งสามเบิกความรับว่า ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์จะเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยทั้งสาม และตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุระบุว่า มีรอยเลือดตกอยู่เป็นจำนวนมากที่หน้าร้านอาหาร ห่างหน้าร้านเพียง 2 เมตร ที่หน้าร้านมีหลอดไฟฟ้าติดตั้งอยู่ 1 หลอด และจุดที่พบปลอกกระสุนปืนแม้จะมีหลายจุด แต่มีอยู่ 2 ปลอกที่พบบริเวณหน้าร้านใกล้กับบริเวณที่มีรอยเลือด แสดงว่าเหตุเกิดบริเวณหน้าร้านอาหาร เชื่อว่ามีแสงสว่างมองเห็นได้ พยานโจทก์จึงสามารถมองเห็นและจำจำเลยทั้งสามได้โดยไม่ผิดพลาด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง การอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยทั้งสามไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนและมีด ยิงและฟันผู้เสียหายทั้งสี่
ปืนเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถทำอันตรายต่อชีวิตได้ จำเลยที่ 1 ยิงผู้เสียหายที่ 1 บริเวณอวัยวะสำคัญ แสดงว่ามีเจตนาฆ่า แต่แพทย์รักษาไว้ทันท่วงที จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมมาในที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมจะเข้าร่วมกระทำความผิดและได้เข้าร่วมกระทำความผิด โดยจำเลยที่ 3 ส่งอาวุธปืนให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้มีดฟันที่ศีรษะผู้เสียหายที่ 2 ในขณะเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นตัวการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3568/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยไม่ถือเป็นบันดาลโทสะ เหตุจากการโต้เถียงเรื่องย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะ ศาลลดโทษจำเลย
เพียงแต่ผู้ตายเป็นผู้ดำเนินการย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ติดตั้งที่หน้าบ้านจำเลยไปติดตั้งที่ศาลารวมใจ และโต้เถียงกับจำเลยในเรื่องดังกล่าว แม้ผู้ตายจะด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายดังที่จำเลยอ้าง ก็หาใช่เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุ ไม่มีเหตุที่ผู้ตายจะข่มเหงจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงไม่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีป้ายซ้ำซ้อน ทำให้การประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ ศาลสั่งคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายซึ่งเป็นป้ายเดียวกันและปีภาษีเดียวกัน โดยยังไม่มีการยกเลิกการประเมินครั้งแรก ดังนั้น การประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในครั้งหลังจึงเป็นการประเมินซ้ำซ้อนให้โจทก์ต้องเสียภาษีสองครั้งในป้ายรายการเดียวกัน จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบและเป็นเหตุให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ครั้งที่สองที่ให้ยืนตามการประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมไม่ชอบไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อและภาพถ่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเรียกค่าเสียหายได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโจทก์และนามแฝง "หนู มิเตอร์" ของโจทก์มาพิมพ์ลงในแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและซีดีเพลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า การเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะไม่ได้ทำความเสียหายแก่โจทก์ โดยไม่ได้ปฏิเสธว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะ เท่ากับจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเอานามแฝงและภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะแล้ว
แม้โจทก์จะเป็นนักร้องและนักดนตรีซึ่งร้องและเล่นดนตรีตามบทดนตรีกรรมอันถือเป็นนักแสดงตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงของโจทก์และนำภาพถ่ายโจทก์มาพิมพ์ลงบนปกซีดีและวีซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์มิใช่การกระทำต่อการแสดงสดของโจทก์โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดงสดนั้น หรือบันทึกการแสดงของโจทก์และมิใช่การทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 53 อันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 44 จึงไม่ใช่การละเมิดสิทธิของโจทก์ผู้เป็นนักแสดงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 44 แต่การที่จำเลยทั้งสองกระทำการดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยประชาชนทั่วไปและแฟนเพลงของโจทก์เกิดความเข้าใจผิดว่ามีการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะโดยใช้นามแฝงว่า "หนู มิเตอร์" และมีการถ่ายรูปในการออกซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสองใช้นามแฝงของโจทก์โดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420
of 27