คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไมตรี ศรีอรุณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 266 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11774/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนรับขนของทางทะเล ความรับผิดของผู้ขนส่ง การจำกัดความรับผิด และการพิสูจน์ความประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 3 ในเรื่องการจองระวางเรือ การรับสินค้า และการชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของ ซ. แทนจำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าทำสัญญารับขนของทางทะเลพิพาทกับ ซ. แทนจำเลยที่ 3 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดเป็นส่วนตัวตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งการสูญหายไปเช่นนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเสียสิทธิในการจำกัดความรับผิดก็ต่อเมื่อโจทก์พิสูจน์ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการโดยการละเลยไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในทางนำสืบของโจทก์ ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงอื่นพอที่ศาลจะอนุมานเอาจากพฤติการณ์ทั้งปวงได้ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการการละเลยหรือไม่เอาใจใส่จนเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทสูญหายไปตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เสียสิทธิที่จะจำกัดความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10775/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: รัฐวิสาหกิจต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีก่อนฟ้อง หากไม่พอใจคำชี้ขาด
โจทก์ที่ 1 อ้างเหตุผลในคำฟ้องว่า การเข้าตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยไม่ชอบ การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้ขาดให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในแต่ละปี โดยคำนวณจากค่าเช่าช่วงและผลประโยชน์อย่างอื่นที่ผู้เช่าช่วงต้องชำระ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินมากเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดให้จำเลยคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินไปคืนแก่โจทก์ที่ 1 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจคำชี้ขาด เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควรตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ที่ 1 ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด การที่โจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเช่า โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่พิพาทเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสูงเกินสมควร เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปี โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8917/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสก่อนและหลังใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 และสิทธิในมรดกของคู่สมรส
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และ จ. หรือไม่ และหากเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ทั้งสองและจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียงใด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นสินสมรสและบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 ส่วนแบ่งในสินสมรสว่าต้องแบ่งตามกฎหมายฉบับใดและควรจะเป็นเท่าใดตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้ได้
ส. และ จ. อยู่กินเป็นสามีภริยาก่อนปี 2478 จึงเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยู่กินกันก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 พ.ศ.2477 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477 การแบ่งสินสมรสของ ส. และ จ. จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 แม้ ส. จะได้ที่ดินพิพาทมาหลังจากใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 แล้ว คือ ส. ได้ 2 ใน 3 ส่วน จ. ได้ 1 ใน 3 ส่วน โดยทรัพย์ส่วนของ จ. เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของ จ. ซึ่งรวมโจทก์ทั้งสองด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีผู้ซื้อชำระภาษีแทนผู้ขายตามสัญญาซื้อขายจากการบังคับคดี
ป.รัษฎากร มาตรา 91/7 และมาตรา 91/11 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น มิอาจตีความขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีไปด้วย โจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุให้ผู้ซื้อต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร และในหนังสือขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อระบุให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรจากผู้ซื้อ โดยโจทก์และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นผู้ชำระเงินค่าภาษีตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อในช่วงเวลาที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้ง 21 แปลง อยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 488) พ.ศ.2552 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ตามความใน ป.รัษฎากร มาตรา 91/6 (3) ลงเหลืออัตราร้อยละ 0.11 ซึ่งเป็นอัตราที่รวมภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่เป็นรายได้ของท้องถิ่น ท. จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่กฎหมายกำหนดให้ลดอัตราลงและจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีในส่วนที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าว การฟ้องขอคืนค่าภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร และมิได้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินภาษีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7933-7934/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกตามพินัยกรรม: ศาลต้องวินิจฉัยประเด็นความแท้จริงของพินัยกรรมก่อนพิจารณาผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องที่ 1 ขอจัดการมรดกตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านอ้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่ รับฟังเป็นยุติไม่ได้ว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นโดยตรงที่ศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัย เพราะหากฟังได้ว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้ร้องที่ 1 ก็มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องที่ 1 มีหน้าที่นำสืบ ส่วนผู้คัดค้านย่อมนำสืบหักล้างความมีอยู่ของพินัยกรรม การที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้ผู้คัดค้านสืบพยาน จึงเป็นการมิชอบ เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6828/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประมูลอากรเก็บรังนกอีแอ่นมีผลผูกพัน แม้มีกฎหมายใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
ตามประกาศของจังหวัด เรื่อง ประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น ระบุว่า ผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุญาตให้เป็นผู้ชนะการประมูลจะต้องมาทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นกับโจทก์ที่ 2 เมื่อได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากโจทก์ที่ 2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยมีเจตนาตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเป็นหนังสือ โจทก์ที่ 1 อนุญาตให้จำเลยเข้าดูแลรักษาเกาะรังนกท้องที่จังหวัดตรังในช่วงปลอดสัญญาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจำเลยได้ตามที่จำเลยขอ และจำเลยให้การยอมรับว่าการที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูแลเกาะรังนกอีแอ่นในระหว่างปลอดสัญญาเป็นการเข้าไปเพื่อสำรวจเส้นทางที่ตั้งของเกาะและจุดที่ตั้งของถ้ำที่มีรังนกอีแอ่น มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 มีสัญญาอนุญาตจัดเก็บรังนกต่อกันกับจำเลยแล้วหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยยังไม่มีความรับผิดตามสัญญาหลักคือสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น เนื่องจากสัญญาดังกล่าวยังไม่เกิดจนกว่าโจทก์ที่ 1 ให้ความเห็นชอบ และจำเลยไปทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่นเป็นหนังสือกับโจทก์ที่ 2 แต่ประกาศของจังหวัด เรื่อง ประมูลอากรรังนกอีแอ่น และเอกสารแนบท้ายมีความชัดเจนเพียงพอ เมื่อโจทก์ที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยเป็นผู้ประมูลสูงสุดและแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจึงมีผลผูกพันโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยโดยจำเลยต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาประกวดราคา เมื่อจำเลยไม่ยอมไปทำสัญญาอนุญาตเก็บรังนกอีแอ่น โจทก์ที่ 1 ผู้มีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ.2482 และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นย่อมเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกวดราคาย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการโต้แย้งคำสั่งรับอุทธรณ์: จำเลยต้องใช้สิทธิผ่านคำแก้อุทธรณ์ ไม่ใช่คำร้องต่อศาลชั้นต้น
ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับเพื่อส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ หากเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อรวมสำนวนส่งขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้อุทธรณ์ที่จะคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นโดยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงหน้าที่ของศาลชั้นต้นและสิทธิของผู้อุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ
เมื่อศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์อันมีผลเท่ากับได้วินิจฉัยแล้วว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปจนกว่าคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หากจำเลยเห็นว่าอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใดก็มีสิทธิที่จะทำคำแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไปเสียทีเดียวว่าเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ การที่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์จึงเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดและไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5022/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมยอมดำเนินคดีอาญาโดยไม่สุจริต ไม่ระงับสิทธิฟ้องของโจทก์
การสมยอมกันดำเนินคดีโดยไม่สุจริตเพื่อให้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง ไม่มีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4068/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีใหม่ การแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาด และการหลีกเลี่ยงภาษี กรณีเงินได้จากการเลี้ยงไก่ไข่และเช็ค
ตาม ป.รัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดใหม่ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการประเมินใหม่โดยยกเลิกการประเมินครั้งก่อน แม้การประเมินที่ผิดพลาดดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกการประเมินและเจ้าพนักงานประเมินได้ยกเลิกการประเมินครั้งแรกแล้ว ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการประเมินและในการประเมินครั้งใหม่ เจ้าพนักงานประเมินก็มิได้ประเมินในเรื่องอื่นนอกเหนือไปจากการประเมินครั้งแรก แต่เป็นการคำนวณเงินได้สุทธิ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มของโจทก์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อการประเมินครั้งใหม่ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียงครั้งเดียว จึงไม่เป็นการประเมินซ้ำซ้อนหรือทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซ้ำซ้อนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าชุด การใช้เครื่องหมายแต่ละเครื่องหมายเป็นอิสระ การเพิกถอนเครื่องหมายจากการไม่ใช้
การแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 ย่อมทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษรโรมัน SM แต่อักษรโรมัน SM ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ตามที่โจทก์จดทะเบียนไว้
การพิจารณาว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ๆ หรือไม่ยังต้องพิจารณาทั้งเครื่องหมาย ไม่ใช่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใด ดังนั้น แม้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว หรือ VITANA - EZ ที่อยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน แต่เมื่อไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ก็ถือไม่ได้ว่า การใช้เครื่องหมายการค้า VITARAL S.M. ไวตารอล เอส.เอ็ม. หรือ VITANA - EZ เป็นการใช้เครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ไปด้วยเพราะต่างเครื่องหมายกัน การใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้าใดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 63 จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือไม่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนไว้ ไม่อาจอ้างการใช้เครื่องหมายการค้าอื่นกับสินค้าที่จดทะเบียนไว้มาเป็นการใช้เครื่องหมายการค้านั้นได้
การที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 50 บัญญัติว่า "เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เป็นเครื่องหมายชุดนั้นจะโอนหรือรับมรดกกันได้ ต่อเมื่อเป็นการโอนหรือรับมรดกกันทั้งชุด" นั้น เป็นเรื่องการโอนหรือสืบสิทธิในเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่โอนหรือตกทอดกันทางมรดกได้ ไม่ได้มีผลทำให้เครื่องหมายการค้าทั้งหมดของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกัน และไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนตามกฎหมายเนื่องจากการไม่ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อให้สิทธิและความคุ้มครองแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนที่มีการใช้เครื่องหมายนั้นกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ไม่ใช่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้เพียงเพื่อกีดกันผู้อื่น การจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดจึงไม่มีผลทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่จำต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายสำหรับเครื่องหมายการค้าแต่ละเครื่องหมาย
แม้ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดจะใช้ข้อความสรุปว่าขอร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) เช่นกันก็ตาม แต่ตามเนื้อหาของคำร้องสอดอ้างเหตุผลว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่สั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า VITANA - SM ไวตานา - เอสเอ็ม ของโจทก์ตามคำร้องขอของผู้ร้องสอดชอบแล้ว อันเป็นกรณีร้องขอเข้ามาในคดีเพราะตนมีส่วนได้เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) มิใช่กรณีตามมาตรา 57 (1) แต่อย่างใด และเป็นเรื่องต้องถือตามเนื้อหาแห่งคำร้องสอดดังกล่าวมาเป็นสำคัญ ซึ่งย่อมมิใช่กรณีที่ร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
of 27