คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 161 เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถาม: กำหนดอายุความเริ่มนับจากวันที่ทวงถาม ไม่ใช่จากวันที่ออกตั๋ว
ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 สัญญาจะใช้เงินจำนวน 8,000,000 บาท แก่โจทก์เมื่อทวงถาม จึงเห็นได้ว่าวันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทหมายถึงวันที่โจทก์ทวงถามให้ใช้เงินตามความในตอนต้นของมาตรา 913(3) เท่านั้น ไม่มีทางที่จะแปลว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นแต่อย่างใด ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ใช้เงินเมื่อทวงถามมีความหมายและผลบังคับต่างกับตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อได้เห็น ฉะนั้นตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งระบุให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 944 ประกอบด้วยมาตรา 985 วรรคแรก ที่จะต้องนำตั๋วยื่นเพื่อให้ใช้เงินภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลงในตั๋ว ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อทวงถามวันที่โจทก์ทวงถามคือวันที่ 4 กันยายน 2528 จึงเป็นวันเริ่มต้นถึงกำหนดใช้เงิน เมื่อวันสุดท้ายแห่งอายุความเป็นวันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2531 ซึ่งเป็นวันหยุดก็ต้องนับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 161(เดิม) โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 5 กันยายน 2531 จึงยังไม่พ้นเวลาสามปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตาม มาตรา 1001 จำเลยฎีกาว่าตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทไม่มีมูลหนี้ แต่จำเลยทั้งสองให้การโดยมิได้ยกประเด็นข้อนี้เป็นข้อต่อสู้ ศาลชั้นต้นจึงไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นวินิจฉัย ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อต่อสู้ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์นอกกรอบ, การคิดดอกเบี้ยหลังบอกเลิกสัญญา, และการพิจารณาข้อตกลงดอกเบี้ยใหม่หลังผิดนัด
แม้ว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 17 กันยายน2533 เป็นวันสุดท้ายได้เพราะวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คือวันที่ 15 กันยายน 2533 ตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว การนับระยะเวลาก็ต้องนับติดต่อกันไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันสุดท้ายแห่งกำหนดระยะเวลาเดิมจะเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ คือเริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2533 เป็นวันเริ่มต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้ไว้ก็ตาม แต่เมื่อได้ความจากการวินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดจึงถือเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้อุทธรณ์นั่นเอง ปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีได้ โดยมีเงื่อนไขข้อตกลง เมื่อต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาที่ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้ เฉพาะเงินกู้งวดสุดท้าย จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ใหม่โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะชำระคืนให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นข้อตกลงใหม่ต่างหากจากข้อตกลงยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากเงินกู้งวดสุดท้ายนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128-129/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาขยายอุทธรณ์: เริ่มนับจากวันสุดท้ายเดิม แม้มีวันหยุดราชการ
วันสุดท้ายที่จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้คือวันที่ 12 เมษายน2533 เมื่อศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไป 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดจึงต้องนับต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมคือเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2533 มิใช่วันที่ 17 เมษายน 2533 แม้ว่าวันที่12 ถึง 15 เมษายน 2533 เป็นวันหยุดราชการ และก่อนที่ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 16 เมษายน2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ได้ก็ตาม