พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา สิ้นสุดสัญญาถือเป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชย เว้นแต่เป็นการจ้างงานลักษณะพิเศษ
ในกรณีที่มีการทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือโดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้และนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบกำหนดระยะเวลาการจ้างนั้น ถือเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของคำว่าเลิกจ้างในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ดังกล่าวแล้ว เพราะถ้าไม่หมายความเช่นนั้นคือถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้างแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ในกรณีทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ และได้กำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ เพราะเมื่อถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้างนายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างอยู่แล้วตามความในตอนต้นของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่ว่า "ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้ ฯลฯ"ซึ่งหมายความว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างก็เฉพาะกรณีที่มีการเลิกจ้างเท่านั้น ดังนี้ แม้การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนโดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการจ้างไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างและจำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทำงานต่อไป ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ในปัญหาว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่มีการจ้างให้ทำงานดังกล่าวโดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการจ้างไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องเป็นฝ่ายยกขึ้นต่อสู้คดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลแรงงานจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งเลิกจ้างย้อนหลังไม่ชอบ และสิทธิค่าจ้างช่วงพักงานยังคงมีอยู่
จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อรอฟังผลที่โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาเมื่อผลคดีอาญาศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยกลับมาอ้างเหตุว่าพฤติการณ์ของโจทก์ส่อไปในทางทุจริตแล้วบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์เช่นนี้ เป็นการขัดกับคำสั่งพักงานเดิม และขัดกับคำพิพากษาในคดีอาญา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ในระหว่างช่วงเวลาที่จำเลยสั่งให้โจทก์พักงานนั้นโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ สภาพการเป็นลูกจ้างและนายจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป การที่โจทก์ไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยก็เนื่องมาจากคำสั่งของจำเลยเอง และไม่มีระเบียบว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ เงินเดือนของโจทก์เป็นค่าจ้างที่คนงานเรียกเอาจากนายจ้างจึงมีอายุความ 2 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 165(9).