พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1637/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่ดินสาธารณสมบัติ: โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครอง-ฟ้องขับไล่ไม่ได้ แม้เคยให้เช่าก่อน
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยแต่ละคนรวม 47 สำนวน ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย โดยบรรยายฟ้องว่า ที่ดินที่จำเลยแต่ละสำนวนบุกรุกนั้นให้เช่าได้ไม่เกิน เดือนละ 5,000 บาท จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ และมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีทั้ง 47 สำนวน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ทั้งสามยื่นฎีกาที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและได้ครอบครองตลอดมา โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์หรือผู้ใดก็หามีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่ แม้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และท. จะได้ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนแล้วให้ ก. เช่าก็จะถือว่าโจทก์ทั้งสามมอบให้ ก. ครอบครองแทนมิได้เพราะโจทก์ทั้งสามและ ท. ไม่มีสิทธิจะให้เช่าหรือมอบให้ผู้ใดครอบครองแทน การที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ท. ให้ ก.เช่าที่ดินพิพาททำประโยชน์ก็เท่ากับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ท. สละการครอบครองที่ดินที่ตนไม่มีสิทธินั้นให้แก่ ก.แล้ว ดังนั้นระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่ดินพิพาทอยู่โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ปัญหาข้อนี้จำเลยส่วนใหญ่ได้ให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสามแต่เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยบางคนจะไม่ได้ให้การต่อสู้ให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)