พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2876/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องจำเลยที่ 4 (ผู้รับเหมาช่วง) ที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกฟ้องได้ตามกฎหมาย และการคำนวณค่าเสียหายที่ถูกต้อง
จำเลยทั้งสามไม่ได้ให้การยกเรื่องฟ้องของโจทก์ขาดอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เข้าทำสัญญาจ้างและรับเงิน แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับเงินให้โจทก์โดยจำเลยที่ 3ที่ 4 ลงชื่อในใบรับเงิน และจำเลยที่ 1 ยื่นรายการภาษีเงินได้ประจำปีระบุรายได้ว่าจากการรับเหมาก่อสร้างเป็นเงินที่ขาดทุนสุทธิตรงกับงบดุลของจำเลยที่ 1 และตามงบกำไรขาดทุนของจำเลยที่ 1ก็ระบุรายได้ไว้ในรายการแรกว่าได้จากการรับเหมาก่อสร้างจำนวนเงินตรงกับใบเสร็จรับเงินของจำเลยที่ 1 ที่รับเงินงวดที่ 1 ซึ่งออกให้แก่โจทก์ ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการได้ยอมเข้ารับเอาผลงานที่จำเลยที่ 4ได้กระทำไปเกินขอบอำนาจของตัวแทนถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการกระทำผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 4 ไม่ได้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 โจทก์ว่าจ้าง จ. ทำงานส่วนที่เหลือต่อจากจำเลยที่ 1ซึ่งทิ้งงาน โจทก์จึงต้องจ่ายเงินค่าจ้างงานทั้งหมดเป็นเงินเท่ากับเงินที่จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว 1 งวด จำนวน 149,800 บาทบวกด้วยเงินที่ต้องจ่ายให้แก่ จ. เป็นค่าจ้างในการทำงานส่วนที่เหลืออีก 782,965 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 932,765 บาทเพราะฉะนั้นโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นเงินเท่ากับเงินจำนวนดังกล่าวลบด้วยค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 หากทำงานแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างจำนวน 749,000 บาท ซึ่งคิดเป็นเงิน 183,765บาท จำนวนเงินดังกล่าวคือค่าเสียหายจริงที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น หลักประกันเป็นเงินสดที่ผู้รับจ้างมอบไว้แก่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างเป็นเงินประกันความเสียหาย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เมื่อโจทก์รับไปแล้วต้องนำไปหักออกจากค่าเสียหายในจำนวนทั้งหมดด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
หนี้ค่าซื้อสินค้าเชื่อของลูกหนี้ขาดอายุความแล้ว แต่ต่อมาลูกหนี้ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไว้จึงเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม ลูกหนี้ไม่อาจยกเหตุการขาดอายุความขึ้นอ้างเพื่อบอกปัดการชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคแรก เดิม เมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้อำนาจการจัดการหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้จะตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 แต่การจัดการหรือกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเป็นการกระทำแทนลูกหนี้ตามสิทธิของลูกหนี้ที่มีอยู่ เมื่อลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจยกเหตุแห่งการขาดอายุความขึ้นบอกปัดการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ ดังนั้นหนี้ของลูกหนี้จึงมิใช่หนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้