คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 887

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 375 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัย: นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้ละเมิด ไม่ใช่วันที่ผู้รับประกันภัยรู้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยรถยนต์: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนแม้ผู้ขับขี่เมาสุรา ผู้เอาประกันภัยต้องชดใช้คืน
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบ บุคคลภายนอกมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เมื่อจำเลยผู้เอาประกันภัยทำละเมิดและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ท. และ จ. บุคคลภายนอก โจทก์ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ ว. ท. และ จ. ตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว โจทก์ไม่อาจนำข้อยกเว้นความรับผิด เนื่องจากขณะขับขี่จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ข้อ 7.6 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับจำเลยผู้เอาประกันภัยไปใช้เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวได้ โจทก์ยังต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เพียงแต่เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์ใช้ไปนั้นคืนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9162/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทจำกัดตามคำฟ้อง การอุทธรณ์นอกประเด็น และการนำสืบพยานนอกประเด็น
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสองกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายหรือไม่ ก็มีความหมายเพียงว่าลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยทั้งสองกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ได้ตรวจดูบัตรจอดรถที่ออกให้แก่ ช. ซึ่งขับรถยนต์คันดังกล่าวเข้าไปจอดบริเวณที่จอดรถของห้างสรรพสินค้า เป็นเหตุให้คนร้ายลักรถยนต์คันนั้นไปเท่านั้น มิได้มีความหมายรวมถึงเหตุที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหาย เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ไม่จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตรวจบริเวณลานจอดรถที่โจทก์มิได้อ้างเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามฟ้องแต่อย่างใดไม่ และแม้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นจะมีการสืบพยานกล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าวก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นการไม่ชอบ เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์นั้นเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างคนละเหตุกับคำฟ้องของโจทก์ จึงถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของบริษัทประกันภัยต่อความเสียหายจากผู้ขับขี่ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย
ตารางกรมธรรม์และสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ในส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดสำหรับความผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยเองด้วยนั้น เป็นเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยทั่วไปซึ่งกรมการประกันภัยพิจารณาให้บริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์ประกันภัยเช่นนั้น หากกรมธรรม์ประกันภัยของจำเลยที่ 3 มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นแตกต่างจากแบบของกรมการประกันภัย จำเลยที่ 3 ก็น่าที่จะนำสืบเข้ามาเพราะตามปกติกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ย่อมมีอยู่ที่จำเลยที่ 3 ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่คุ้มครองความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขับ จำเลยที่ 3 น่าจะนำสืบเข้ามาเพราะนำสืบได้ง่ายและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้อ้างส่งต่อศาล กลับอ้างตามคำแก้ฎีกาว่าเป็นหน้าที่โจทก์ที่จะนำสืบ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การจำเลยที่ 3 และพฤติกรรมของจำเลยที่ 3 ดังวินิจฉัยมาเป็นเช่นนี้ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดสำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 นั้น ชอบด้วยความเป็นธรรมตามรูปคดีนี้แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยทางรถยนต์ กรณีลูกจ้างประมาทชนบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญา
แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับ น. ในฐานะนายจ้าง แต่โจทก์มิได้ฟ้องโดยยืนยันว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์เพียงแต่ฟ้องว่า น. ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 1 ไว้ในขณะเกิดเหตุ และกรมธรรม์ยังคุ้มครองอยู่ในขณะเกิดเหตุ โดยกรมธรรม์มีเงื่อนไขสำคัญว่า หากรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 จะรับผิดต่อบุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยแทนผู้เอาประกันภัย เป็นการฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดได้โดยไม่จำต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุจาก น. และข้อเท็จจริงได้ความว่า น. ขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุชนรถที่โจทก์รับประกันภัยโดยละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12506/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยค้ำจุน: ความรับผิดของประกันภัยต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุในการขนถ่ายสินค้า
ข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยกรณีความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ว่า จำเลยร่วมตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใด ๆ นั้น มีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยร่วมตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 เมื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 กระทำด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าพิพาทตกลงจากรถยกสินค้า และสินค้าพิพาทได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบในความเสียหายดังกล่าว จำเลยร่วมย่อมต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 3 เพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่สินค้าพิพาทตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
ส่วนข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลใดๆ ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.2.1 หมายถึง ทรัพย์สินที่เสียหายเป็นทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของ หรือทรัพย์สินที่ผู้เอาประกันภัยนำมาใช้ปฏิบัติงานของผู้เอาประกันภัย ข้อ 1.2.2 หมายถึง ทรัพย์สินที่ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยนำมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อผู้เอาประกันภัยในระหว่างทางการที่จ้าง หาใช่ว่าเมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากการขนถ่ายโดยลูกจ้างของจำเลยที่ 3 จะเป็นกรณีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยเพราะสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 3 หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ไม่ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างที่กระทำละเมิดในทางการที่จ้างให้รับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ถูกทำละเมิด ส่วนจำเลยที่ 3 ขอให้เรียกจำเลยร่วมในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดของจำเลยที่ 3 เข้ามาเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยร่วมจึงต้องเข้ามาร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในลักษณะลูกหนี้ร่วม โดยโจทก์สามารถบังคับชำระหนี้ละเมิดได้ทั้งจากจำเลยที่ 3 และจำเลยร่วม และหากจำเลยที่ 3 ถูกบังคับชำระหนี้ไปก่อน ก็ต้องใช้สิทธิไล่เบี้ยตามกฎหมายต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยค้ำจุน: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดเมื่อผู้ขับขี่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย
จำเลยที่ 4 ไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงยอมรับทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันนี้กับจำเลยที่ 3 ทั้งๆ ที่น่าจะทราบดีว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 4 โดยไม่เปิดเผยชื่อตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำให้แทนตนก็ได้ สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีผลบังคับใช้ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์นำรถยนต์คันนี้ไปใช้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้ว และตามสัญญาประกันภัย หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 2.6 ระบุว่าการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดแต่จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์กำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิดเมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และขอบเขตความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
แม้ตามคำฟ้องจะเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ใดเป็นผู้เอาประกันภัย และผู้ทำละเมิดเกี่ยวข้องกับผู้เอาประกันภัยอย่างไร อันจะทำให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนถือเป็นสาระสำคัญในเรื่องการบรรยายฟ้องก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในชั้นยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 ให้การรับว่าได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้จริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้รวมถึงการอ้างเหตุสุดวิสัย ตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวยังระบุด้วยว่าจำเลยที่ 3 จะเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในชั้นพิจารณา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ครอบครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ว-3766 กรุงเทพมหานคร ไว้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับสำเนาคำฟ้องจากโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงสามารถนำกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวมาตรวจสอบ และสามารถทราบได้ทันทีว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายที่นาย ก. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวก่อขึ้น กรณีจึงหาทำให้จำเลยที่ 3 หลงข้อต่อสู้ไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม
ข้อที่ว่านาย ก. ขับรถยนต์ในขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้หรือไม่ จำเลยที่ 3 มีภาระการพิสูจน์ ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 มีเพียงผลการตรวจเลือดนาย ก. ว่า ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือด 0.183 กรัมเปอร์เซ็นต์ และมีนาย อ. ผู้จัดการศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 3 เบิกความสนับสนุนว่า ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ กรมการประกันภัยกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่จะไม่ต้องรับผิดไว้จำนวน 0.150 กรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนาย ก. อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดไม่สามารถควบคุมรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังเกิดเหตุบริษัท ก. ซึ่งรับประกันภัยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางด่วนขั้นที่ 2 ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 464,893 บาท และต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 3 โดยมีการตั้งอนุญาโตตุลาการและร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ชำระให้แก่บริษัทดังกล่าวไปตามคำพิพากษาในคดีอนุญาโตตุลาการแล้วจำนวน 691,190 บาท โดยเป็นต้นเงินจำนวน 499,958 บาท จำเลยที่ 3 ซึ่งรับประกันภัยในความเสียหายต่อทรัพย์สินต่อหนึ่งครั้งเป็นเงินไม่เกิน 1,000,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินเพียง 500,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเท่านั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจให้การต่อสู้ในคำให้การได้เนื่องจากศาลชั้นต้นในคดีที่ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวก่อนที่จะอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ แต่ปัญหาเรื่องที่คำพิพากษาสองสำนวนในเหตุละเมิดครั้งเดียวกันจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 3 มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7230/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักชดใช้ค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยในคดีความรับผิดจากรถยนต์ การคำนวณค่าเสียหายที่ถูกต้อง
ค่าเสียหายจำนวน 222,056 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ทำละเมิดได้ชดใช้แก่โจทก์หลังฟ้อง ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ชอบที่จะนำไปหักจากค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 655,602 บาท ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดและการประกันภัย: สัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้รับประกันภัยไม่กระทบความรับผิดของผู้ทำละเมิด
เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายทำละเมิดโดยขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์โดยประมาท จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จนเต็มจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการเอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับไว้หรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์เกิดเหตุไว้กับบริษัท ส. ในลักษณะประกันภัยค้ำจุนก็เพื่อให้บริษัท ส. ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแทนจำเลยที่ 2 ภายในวงเงินประกันภัย ซึ่งโจทก์ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง การที่โจทก์เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการกรมการประกันภัย ก็เพื่อให้ระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยและที่โจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนดังกล่าวก็เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวงเงินที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัย ไม่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด แม้ในบันทึกข้อความเรื่องจ่ายค่าสินไหมทดแทน มีข้อความเพิ่มเติมว่า "เมื่อผู้เสนอข้อพิพาทได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วจะไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ จากบริษัทหรือผู้อื่นใดอีกต่อไป" คำว่า "ผู้อื่น" ในที่นี้ก็ไม่ชัดแจ้งว่าหมายถึงจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจตีความว่าหมายถึงจำเลยทั้งสองซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตกลงประนีประนอมยอมความได้ ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับผู้รับประกันภัยดังกล่าวจึงไม่มีผลทำให้มูลละเมิดตามฟ้องระงับสิ้นไป
of 38