คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 887

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 375 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยผู้รับประกันภัยมีหนี้โจทก์แยกจากสิทธิไล่เบี้ยจากผู้กระทำละเมิด หักกลบลบหนี้มิได้
จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์และรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ในความเสียหายที่โจทก์ได้รับตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และในฐานะที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกคือโจทก์ในความเสียหายที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 จึงมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองกรณีเพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 4 การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 และรับช่วงสิทธิจากโจทก์ไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ที่ทำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 4 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น หาได้ก่อให้เกิดภาระหนี้แก่โจทก์ไม่ เมื่อการใช้ค่าสินไหมทดแทนของจำเลยที่ 4 แก่โจทก์ยังไม่เพียงพอแก่ความเสียหายที่แท้จริง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายส่วนที่ขาดจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ทำละเมิด และยังเรียกให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 3 ภายในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้อีกด้วย จำเลยที่ 4 จึงตกเป็นหนี้โจทก์ที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนที่ขาดแก่โจทก์อีก เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่กรณีที่บุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระที่ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจนำเอาหนี้ค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วมาหักกลบลบกับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องส่วนที่ขาดอีกได้ ทั้งไม่ใช่เป็นกรณีที่สิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลเดียวกันอันจะทำให้หนี้รายนั้นระงับสิ้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 353

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมของลูกหนี้ร่วมทางละเมิดและการรับประกันภัยรถยนต์ โดยจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์
แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยค้ำจุน, ค่าเสียหายจากการทำละเมิด, สิทธิเรียกร้อง, สัญญาประนีประนอมยอมความ, การชดใช้ค่าเสียหาย
เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท. ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้น หากยังมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการกระทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6277/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยรถยนต์ กรณีผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขับเอง และการกำหนดดอกเบี้ยที่เหมาะสม
โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตามสัญญาประกันภัยในกรณีที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของ ม. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการที่โจทก์กระทำละเมิดขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยเฉี่ยวชนรถยนต์ของ ม. และ ส. ได้รับความเสียหาย ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ในนามของโจทก์จากจำเลยผู้รับประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 ส่วนที่โจทก์จะได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. และ ส. บุคคลภายนอกแล้วหรือไม่นั้น ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะมิใช่กรณีรับช่วงสิทธิ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่การที่จำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ เนื่องจากมีหลักฐานในเบื้องต้นว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดเหตุ และคนขับรถของโจทก์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นเงื่อนไขที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงเป็นการสู้ความโดยมีเหตุสมควร สมควรกำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยค้ำจุน: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบต่อผู้รับผลประโยชน์โดยตรง แม้ไม่มีระบุชื่อในสัญญา
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 1 โดยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก จึงเป็นการประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บริษัท ซ. ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าของบริษัท ซ. ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์โดยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัท ซ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท ซ. ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 3 โดยตรงตามมาตรา 887

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยค้ำจุน: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดต่อผู้รับประโยชน์แม้ไม่ได้ระบุชื่อโดยตรง หากความเสียหายอยู่ในวงเงินคุ้มครอง
จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก การประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นการประกันภัยค้ำจุน ดังนี้แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 และตามกรมธรรม์ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่เมื่อการประกันภัยดังกล่าวเป็นการประกันภัยค้ำจุนและความเสียหายนั้นมีจำนวนไม่เกินวงเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันกันย่อมต้องรับผิดในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บริษัท ซ. ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ทั้งบริษัทดังกล่าวบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตรควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยโดยตรง ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่ามีข้อตกลงพิเศษว่ากรมธรรม์นี้จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น กรณีทรัพย์สินที่บรรทุกนั้นมีกรมธรรม์ประกันภัยชนิดอื่นหรือประเภทอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาวินิจฉัย ถือได้ว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะได้บรรยายไว้ในคำให้การ แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 3 ข้อโต้แย้งเรื่องนี้ย่อมตกไป เมื่อศาลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จำเลยที่ 3 ก็มิได้ยกเรื่องนี้ข้อโต้แย้งอีก แสดงว่ายอมรับอำนาจศาลและไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจศาลอีกต่อไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่อาจส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4814/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูกิจการล้มละลายไม่กระทบสิทธิผู้รับประกันภัยต่อผู้รับประกันอื่น โจทก์มีอำนาจฟ้องได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/60 วรรคสอง บัญญัติว่า คำสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน... ดังนั้นการที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 จึงมีผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้ที่โจทก์อาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการ แต่คงมีผลเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น ที่โจทก์หมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ และหนี้นั้นหาได้ระงับหมดสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งอาจต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในมูลละเมิดต้องเป็นไปตามสัญญาประกันภัย และบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยเรื่องประกันภัยค้ำจุน การที่จำเลยที่ 1 หลุดพ้น ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์จึงอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ต่อไป จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มา 113,450 บาท เกินไป 113,250 บาทและจำเลยที่ 2 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 113,451 บาท เกินไป 113,251 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุม ประกันภัยค้ำจุน จำเลยไม่ต้องรับผิดหากคำฟ้องไม่ชัดเจนถึงลักษณะประกันภัย
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยไว้ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวอ้างหรือแสดงว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากจำเลยที่ 1 ในลักษณะประกันภัยค้ำจุน ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า ว. ผู้ขับรถยนต์มีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบในผลแห่งละเมิดของ ว. ด้วย ฟ้องโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นมูลที่จะให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด เท่ากับคำฟ้องโจทก์มิได้บรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะแก้ไขคำให้การว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่เกิดเหตุ ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ และศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 โดยไม่อาศัยคำฟ้องไม่ได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล: การจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีทุพพลภาพชั่วคราว มิได้มีข้อยกเว้นในสัญญา
ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้มีประกันภัยได้นำรถยนต์ซึ่งเอาประกันภัยไว้ไปประสบอุบัติเหตุจนได้รับอันตรายสาหัส ระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารผิดปกติมีอาการปวดท้องเป็นบางครั้งและไม่หาย เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงจนไม่อาจทำงานหนักที่โจทก์ที่ 2 ต้องทำเป็นประจำได้ บาดแผลภายในเกิดการอักเสบ โจทก์ที่ 2 ถูกตัดลำไส้บางส่วนออกไปประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ทุพพลภาพถาวร ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีประกันภัยคือ โจทก์ที่ 2 ผู้ได้รับอุบัติเหตุทุพพลภาพถาวรในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนดังกล่าวตามสัญญาในฐานะคู่สัญญาและในฐานะผู้รับประโยชน์ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บอย่างไรและมีอาการอย่างไร คำฟ้องโดยหลักเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ผู้มีประกันภัยทุพพลภาพถาวรนั้น เป็นความคิดเห็นของโจทก์ทั้งสองถึงลักษณะของบาดแผล อาการบาดเจ็บและผลที่เกิดขึ้น เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ทุพพลภาพถาวร แต่เป็นเรื่องทุพพลภาพชั่วคราว ศาลมีอำนาจพิพากษาได้เพราะคำฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายครอบคลุมถึงอยู่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยเหตุโจทก์ทุพพลภาพชั่วคราวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
สัญญาประกันภัยคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 4 ข้อ ข้อ 1 เสียชีวิต ข้อ 2 สูญเสียมือ เท้า สายตา ข้อ 3 ทุพพลภาพถาวร ข้อ 4 ทุพพลภาพชั่วคราว จำนวนเงินเอาประกันภัยต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีข้อสัญญาข้อใดระบุยกเว้นไว้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดกรณีทุพพลภาพชั่วคราว จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1802/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัยค้ำจุน: นับแต่วันเกิดเหตุวินาศภัย ตามมาตรา 882 มิใช่นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้สิทธิ
การประกันภัยค้ำจุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติแยกไว้ในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 อายุความฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 ซึ่งบัญญัติเป็นบทเบ็ดเสร็จทั่วไปในส่วนที่ 1 ของหมวดเดียวกัน อันเป็นกำหนดอายุความที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจเทียบได้กับกรณีประกันชีวิตซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดอื่นและไม่อาจนำอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่กรณีประกันภัยค้ำจุนได้
การเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดในค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง บัญญัติว่า "บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง...ฯลฯ" โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาก่อน ทั้งอายุความฟ้องร้องตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยก็เป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่าให้นับแต่วันเกิดวินาศภัย จึงไม่อาจนำหลักทั่วไปในการนับอายุความตามมาตรา 193/12 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้หรือนำมาตีความเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัยคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงขาดอายุความ
of 38