พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจมีกำหนดเวลา การเลิกจ้าง และสิทธิประโยชน์วันหยุดพักผ่อนประจำปี
สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาระหว่างรัฐวิสาหกิจกับพนักงานอาจมีได้และไม่อยู่ในบังคับแห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 ที่กำหนดเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ถูกเลิกจ้างไว้ในข้อ 45 วรรคหนึ่งโดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานในกรณีที่เลิกจ้าง ตามความในวรรคสามที่กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า"ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การจ้างพนักงานเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการซึ่งรัฐวิสาหกิจและพนักงานตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้และให้หมายความรวมถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จ หากรัฐวิสาหกิจและพนักงานจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีก ระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่ารัฐวิสาหกิจจำเลยประกอบธุรกิจและมีวัตถุประสงค์ในการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ให้แก่บุคคลทั่วไป จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำหน้าที่ขับรถยนต์ งานที่จำเลยให้โจทก์ทำไม่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2534 กำหนดไว้ในข้อ 8 วรรคหนึ่งว่า พนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ และข้อ 20 กำหนดว่า ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุดต่อไปนี้ (3) วันหยุดพักผ่อนประจำปี และข้อ 21กำหนดว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย ดังนี้ รัฐวิสาหกิจจึงมีหน้าที่ต้องกำหนดวันที่ที่จะให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าหรือจัดให้พนักงานได้หยุดพักผ่อนประจำปี ตามจำนวนวันที่กฎหมายกำหนดเมื่อรัฐวิสาหกิจมิได้กำหนดหรือจัดให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีต้องจ่ายเงินเดือนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่พนักงานที่ต้องไปทำงานโดยไม่ได้หยุดดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานผู้นั้นถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามข้อ 46รัฐวิสาหกิจไม่อาจอ้างได้ว่าพนักงานไม่ใช้สิทธิหยุดงานเองจึงไม่ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อการที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไปหรือไม่ต่อสัญญาจ้างมิใช่ผลของการสิ้นสุดแห่งสัญญา แต่เป็นการเลิกจ้าง และไม่ปรากฎว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีความผิดตามข้อ 46 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964-1965/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่เกษียณอายุ แม้ไม่ได้ร้องทุกข์ก่อนฟ้อง
ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่บังคับว่าเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปีหรือไม่ โจทก์จะต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เสียก่อนฟังคดี สำหรับมาตรา 18(2)ที่บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) พิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือของสมาคมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของ รัฐวิสาหกิจนั้นมีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์นั้นได้แต่ไม่ได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่กำหนดให้พนักงานซึ่งเกษียณอายุคือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นเพียงบทกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน การที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใด ตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 8 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 21
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างเกษียณอายุ ถือเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบสิทธิประโยชน์ และสิทธิการได้รับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี
พระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2434มาตรา 18(2) มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นพนักงาน รัฐวิสาหกิจได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่อง เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณา คำร้องทุกข์นั้นได้ แต่หาได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ทั้งหกไม่ได้ ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์แล้วโจทก์ทั้งหกจะนำคดีมาฟ้อง ศาลไม่ได้ ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของ สิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง บัญญัติว่า "การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่รัฐวิสาหกิจให้ ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่พนักงานไม่ได้ กระทำความผิดตามข้อ 46 ฯลฯ" ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษแก่กรณี ที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุขาดคุณสมบัติตาม พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯหรือเพราะเกษียณอายุแต่อย่างใด การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งหกออกจากงาน เมื่อโจทก์ทั้งหกมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์หรือเกษียณอายุ จึงต้องถือ ว่าเป็นการเลิกจ้างตาม ข้อ 45 วรรคสอง ดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ ทั้งหกไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้กำหนด ล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งหยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใดตามที่กำหนดใน ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิ ประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 8 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ทั้งหกไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการใช้สิทธิ โดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุด พักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 21 เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องโดยมิได้ อ้างเหตุผลความเห็นธรรมแก่คู่ความแต่ประการใด ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไข