คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 172

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,914 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3883/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกป่าเพื่อสร้างวัด: ความรับผิดของวัดและเจ้าอาวาส
ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง พระเทพปัญญามุนีไม่ใช่ผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระลูกวัดและมีพรรษาอาวุโสสูงสุดของวัดจำเลยที่ 1 จึงต้องทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสคำฟ้องโจทก์ที่ระบุว่าฟ้องจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รักษาการแทนเจ้าอาวาส จึงเป็นคำฟ้องที่ถูกต้อง ทั้งการฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลยโดยมิได้ระบุชื่อผู้แทนของนิติบุคคลมาด้วยหรือระบุชื่อผู้แทนนิติบุคคลผิดตัว ก็ไม่ทำให้กลายเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องจำเลยผิดตัว
ขณะที่วัดจำเลยที่ 1 บุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อสร้างกุฏิ ศาลาและสิ่งปลูกสร้าง ในเขตอุทยานแห่งชาติ อันไม่ใช่เขตพื้นที่ของวัดจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนของวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีส่วนให้ความเห็นชอบหรือเป็นผู้กระทำการดังกล่าว เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของวัดจำเลยที่ 1 และก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรมป่าไม้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3534/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจองห้องพัก การบอกเลิกสัญญา สิทธิในการรับเงินคืน และการครอบครองปรปักษ์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าจองห้องพักโรงแรมให้จำเลยไปแล้ว ต่อมาโจทก์บอกเลิกการจองห้องพักให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันตามวิธีปฏิบัติของธุรกิจโรงแรมเกี่ยวกับการบอกเลิกการเข้าพักซึ่งจำเลยจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้ เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสองแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงว่าห้องพักแต่ละห้องราคาเท่าใด ค่าอาหารและค่าจัดเลี้ยงมีราคาเท่าใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่
โจทก์ทำคำเสนอขอจองห้องพักไปถึงจำเลยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2534 จำเลยทำคำสนองตอบรับการจองห้องพักในวันเดียวกัน สัญญาจึงเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2534 ไม่ใช่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าห้องพักให้จำเลย ส่วนวันที่ 6 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2535เป็นระยะเวลาเข้าพัก แต่ในวันที่สัญญาเกิดโจทก์ไม่ได้ชำระเงินแก่จำเลยเพิ่งจะโอนเงินงวดแรกให้จำเลยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2534 งวดที่สองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน2534 ส่วนอีกร้อยละ 30 จะชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดการพัก ดังนั้น เงินที่โจทก์โอนให้แก่จำเลยภายหลังจากวันที่สัญญาจองห้องพักเกิดขึ้นแล้วจึงไม่ใช่มัดจำที่จำเลยจะพึงริบเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(2) เพราะไม่ใช่เงินหรือสิ่งใดที่โจทก์ให้จำเลยไว้ในวันเข้าทำสัญญา ทั้งไม่ใช่หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาตามมาตรา 377 หากแต่เป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยเป็นงวด ๆ ตามข้อตกลงในสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกการจองห้องพักซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาโจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคแรก จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์
โจทก์บอกเลิกการจองห้องพักอันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์และจำเลยต้องกลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกันเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก ในเรื่องการคืนเงินอันเกิดจากการเลิกสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 193/30 จะนำอายุความ 1 ปี เรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 419 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขณะจำเลยรับเงินค่าห้องพักเป็นการรับไว้โดยชอบ มิใช่เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลจะอ้างกฎหมายได้
โจทก์ชำระเงินค่าจองห้องพักให้แก่จำเลย เงินดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่จำเลยทันทีเพราะเงินเป็นสังกมทรัพย์ เมื่อจำเลยได้รับเงินไว้เกิน 5 ปี แล้ว ต่อมาโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจำเลยมีหน้าที่และความรับผิดเกิดขึ้นใหม่ในอันที่จะต้องคืนค่าห้องพักที่รับไว้ให้แก่โจทก์ แต่ไม่จำต้องคืนเป็นเงินอันเดียวกับเงินที่โจทก์ชำระไว้ คงคืนให้ตามจำนวนที่จะต้องคืน กรณีจึงมิใช่จำเลยครอบครองปรปักษ์เงินค่าห้องพักที่รับไว้ จำเลยจะอ้างมาปัดความรับผิดในการชำระเงินคืนหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524-3525/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำที่ดินด้วยชายคา/กันสาด: ประเด็นความไม่ชัดเจนของฟ้อง และอายุความสิทธิเจ้าของที่ดิน
จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงลักษณะสภาพและขนาดของอาคาร ที่จำเลยฎีกาว่าตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2493 ให้ความหมายของคำว่า ชายคาและกันสาดแตกต่างกันอย่างชัดเจน การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายคำฟ้องยืนยันว่าจำเลยได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเฉพาะชายคาชั้นสองจึงเป็นคำบรรยายฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะสิ่งที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างนั้นโดยแท้จริงมีสภาพเป็นกันสาดคอนกรีตที่ยื่นออกไปกันน้ำฝนไหลย้อนผนังอาคารด้านหลัง ไม่ใช่ชายคาหรือหลังคาตามฟ้องนั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสี่ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนชายคาที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ จึงเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความและจะนำบทบัญญัติเรื่องฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองตามมาตรา 1374 มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะตามมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเรื่องสิทธิครอบครอง แต่โจทก์ทั้งสี่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ชายคาหรือกันสาดของจำเลยได้รุกล้ำเข้าไปคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3498/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุม, การสืบพยานนอกฟ้อง, และการใช้คำให้การในคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานหนี้
ปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องดังกล่าวทั้งมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ในคดีแพ่ง มิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
จำเลยเป็นหนี้เงินกู้และค่าทองรูปพรรณต่อโจทก์จำนวน 70,200 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า การนำสืบพยานโจทก์แตกต่างในข้อสาระสำคัญไปจากคำฟ้องเป็นการสืบพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับอ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้และค่าทองรูปพรรณต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องจำเลยได้ให้การและเบิกความว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้และทองรูปพรรณต่อโจทก์และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในคำให้การและคำเบิกความด้วยความสมัครใจ บันทึกคำให้การและบันทึกคำเบิกความดังกล่าวจึงใช้และรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งการกู้ยืมในคดีแพ่งได้ แม้จะมิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่จำเลยต้องหาก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2835/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาลวงในการจดทะเบียนโอนที่ดิน: ฟ้องไม่ตรงประเด็น, สิทธิในที่ดินยังคงเป็นของผู้ฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทคืนแก่โจทก์ โดยอ้างเหตุจำเลยปลอมหนังสือมอบอำนาจไปใช้ดำเนินการจดทะเบียน แต่ข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืนแก่โจทก์ในคดีนี้ได้เพราะนอกประเด็นตามคำฟ้อง แม้จะฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยและไม่ได้ขายที่ดินให้จำเลยเป็นการสมคบกันแสดงเจตนาลวงก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง การโต้แย้งต้องอาศัยประเด็นที่ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
ข้อที่ว่ากันมาแล้วหรือมิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การ และประเด็นข้อพิพาทในคดีเป็นสำคัญ ไม่ใช่พิจารณาจากข้อเท็จจริงและการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณา แม้จำเลยจะได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้โดยชัดแจ้ง แต่เมื่อไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าฟ้องโจทก์ไม่แจ้งชัดและเคลือบคลุมอย่างไร แต่กลับไปอ้างการนำสืบพยานของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องไม่ตรงกับฟ้องมาเป็นเหตุทำให้ฟ้องเคลือบคลุม เมื่อข้อเท็จจริงที่นำมาอ้างโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามอุทธรณ์ และการที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยแจ้งชัดว่าเอกสารท้ายฟ้องไม่ถูกต้องและเป็นเหตุให้ฟ้องโจทก์ไม่แจ้งชัดอย่างไร อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ฟ้องไม่เคลือบคลุม-การคำนวณหนี้-เอกสารประกอบพยาน-การส่งเอกสารต่อศาล
หนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจง ทั้งการฟ้องคดีก็มิได้ระบุตัวบุคคลผู้เป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่จะถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลใด ย่อมมีผลเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว โจทก์จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่มีจำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคล แม้โจทก์จะเคยใช้หนังสือมอบอำนาจฟ้องจำเลยมาแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินรวม1,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเรื่อยมา ระยะหลังจำเลยเบิกเงินจากบัญชีจำนวนมากแต่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีจำนวนน้อย โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์คำนวณหนี้คิดเพียงวันที่ 12 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์1,877,571.48 บาท ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนขั้นตอนของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือนและยอดสรุปของหนี้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้ในคดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ายอดหนี้สำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีคำนวณไม่ถูกต้องจึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีที่สองในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีรายเดียวกันอีก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องโดยคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ โจทก์ฟ้องและนำสืบในประเด็นเดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งคดีทั้งสองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งคดีนี้โจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในคดีก่อนแล้ว จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนชื่อบริษัทที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำเลยที่ 9 มีอำนาจหน้าที่ปฏิเสธการจดทะเบียน
คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยที่ 9 รับจดทะเบียนชื่อและดวงตรานิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2538 เป็นเรื่องพิมพ์ตัวเลข พ.ศ. ของระเบียบดังกล่าวผิดพลาดโดยพลั้งเผลอ เมื่อโจทก์ขอแก้ไขให้ถูกต้อง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้แก้ไขแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่าโจทก์กล่าวอ้างระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางฯ ฉบับ พ.ศ. 2535 ไม่เคลือบคลุม
ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า SONY และโซนี่ของโจทก์เป็นที่แพร่หลายรู้จักกันทั่วไป จำเลยที่ 1 ก็รู้ การที่จำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนคำว่าบริษัทโซนี่อิมเป็กซ์ จำกัด เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้คำภาษาอังกฤษว่า SONYIMPEXCO.,LTD. โดยไม่มีส่วนสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องหรือได้รับอนุญาตจากโจทก์ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงแพร่หลายของคำว่า SONY หรือโซนี่ โดยไม่สุจริต ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของโจทก์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชื่อนิติบุคคลคำว่า SONY และโซนี่จึงมีสิทธิเรียกให้ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และมีสิทธิขัดขวางจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า SONY หรือโซนี่ ของโจทก์เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534มาตรา 47
ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทเพราะอาจก่อให้เกิดการสำคัญผิดเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลักษณะ วัตถุที่ประสงค์ ฐานะของกิจการหรือโดยประการอื่นตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. 2535 ข้อ 21(5) จำเลยที่ 9 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับจดทะเบียนชื่อบริษัทจำเลยที่ 1ด้วยเหตุผลดังกล่าวแต่เมื่อรับจดทะเบียนไว้แล้ว ก็ต้องเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนนั้นเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชัดเจนของฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้รับประกันภัยรถยนต์ ความสมบูรณ์ของคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์กระบะ ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองจำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์รับประกันวินาศภัยและเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ ทำให้สินค้าของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ต่อจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์หาจำต้องบรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากใคร ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายทรัพย์สินของผู้เช่า: สิทธิของโจทก์ต้องอาศัยความเป็นตัวแทนเชิดที่พิสูจน์ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวดังกล่าวกับ อ. ในระหว่างอายุสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาท แต่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมเชิดให้ อ. เป็นผู้ทำสัญญาเช่าแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยมอบอำนาจให้ อ. ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ให้การตั้งประเด็นเรื่องตัวแทนเชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสืบว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมเชิดให้ อ. ทำสัญญาเช่าแทนตนได้ ฉะนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทจึงชอบที่จะโอนขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ ในเมื่อโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด
of 292