คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 172

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,914 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่ง, คำฟ้องไม่เคลือบคลุม, การเรียกร้องค่าเสียหายเกินคำขอ
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมี ก. เป็นกรรมการเพียงคนเดียวก. จึงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีและแม้ว่าวัตถุประสงค์ของโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินคดีแต่อำนาจในการฟ้องคดีแพ่งย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งโจทก์จึงชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้
โจทก์ระบุข้อหาหรือฐานความผิดว่าเอกเทศสัญญา และบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมีรายละเอียดว่าจำเลยมอบแม่พิมพ์ให้โจทก์ผลิตสินค้ากล่องพลาสติกรูปบ้าน รูปหุ่นยนต์ และรูปโทรศัพท์เป็นชุดโจทก์ผลิตสินค้าดังกล่าวให้จำเลยแล้ว และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแม่พิมพ์ให้จำเลย แต่จำเลยไม่ชำระค่าสินค้าและค่าซ่อมแม่พิมพ์ให้โจทก์ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้าและค่าซ่อมแม่พิมพ์ดังกล่าว ซึ่งจำเลยสามารถเข้าใจคำฟ้องของโจทก์และต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ส่วนจะเข้าลักษณะข้อหาหรือฐานความผิดใดนั้น ศาลสามารถวินิจฉัยได้เอง คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม่พิมพ์ที่จำเลยมอบให้โจทก์ผลิตสินค้ามีสภาพชำรุดบกพร่อง จำเลยยินยอมให้โจทก์นำช่างมาซ่อมได้เสียค่าซ่อมเป็นเงิน 103,000 บาท จำเลยชำระค่าซ่อมให้โจทก์แล้ว 87,500 บาท ค้างชำระอีก 15,500 บาท ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ แต่โจทก์เรียกร้องเงินในส่วนนี้เพียง 15,000 บาท ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าซ่อมแม่พิมพ์ที่ค้างเป็นเงิน 15,500 บาท จึงเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงใช้อำนาจตามมาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องรื้อถอนสิ่งรุกล้ำทางพิพาท แม้ฟ้องผิดฐาน ศาลปรับข้อเท็จจริงได้ หากพยานหลักฐานสนับสนุน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกัน โจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินของโจทก์มานานกว่า 10 ปี ไม่มีบุคคลใดคัดค้านทางดังกล่าวจึงเป็นทางภาระจำยอม ต่อมาจำเลยได้รื้อเสารั้วแนวเขตเดิมแล้วนำมาปักไว้ในทางพิพาท ทำให้ทางพิพาท แคบลงเป็นเหตุให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตามปกติ ขอให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไป แม้โจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดว่า เป็นทางภาระจำยอมก็ไม่ใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้คำฟ้องเสียไป ส่วนทางพิพาทที่ถูกต้องจะเป็นทางอะไรนั้น เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเองเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเป็นทางสาธารณะ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 624/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อละเมิดของลูกจ้าง และการระงับข้อพิพาทที่ไม่สมบูรณ์
คำฟ้องของโจทก์บรรยายไว้โดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบหรือหลงต่อสู้ จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีอย่างถูกต้อง ส่วนค่าเสียหาย ค่าแรงและค่าอะไหล่แต่ละรายการจำนวนเท่าใดล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบให้ปรากฏได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างซึ่งได้กระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก จึงเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิง แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สินเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 สำหรับกรณีของจำเลยก็เช่นเดียวกันถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมกับ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยหรือ ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดคนใดคนหนึ่งได้โดยลำพังเพียงคนเดียวโดยไม่ฟ้อง ธ. ลูกจ้างผู้ทำละเมิดเป็นจำเลยด้วยก็ย่อมทำได้ ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
หลังเกิดเหตุรถยนต์สองคันชนกัน ป. พนักงานของจำเลยและ ธ. พนักงานขับรถยนต์โดยสารสาธารณะคันเกิดเหตุได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดว่ารถยนต์ของจำเลยได้ชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยระบุความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ไว้แก่เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อนำไปตกลงค่าเสียหายต่อไป จึงเป็นเพียงหนังสือที่ออกให้เพื่อทราบความเสียหายและเพื่อแสดงความรับผิดชอบเบื้องต้นของจำเลยกับเจ้าของรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายที่ต้องชำระ วิธีชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก จึงมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 523/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด หากไม่เป็นไปตามแบบ สัญญาโอนหุ้นเป็นโมฆะ แม้มีการชำระเงินแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาขายหุ้นของจำเลยในบริษัทบ. ให้แก่โจทก์ 2,500 หุ้น ในราคา 2,500,000 บาท จำเลยได้รับเงินค่าหุ้นจากโจทก์ในวันทำสัญญา 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากการซื้อขายหุ้นมีปัญหาหรือโมฆะ จำเลยจะคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ แต่จำเลยไม่สามารถจัดการโอนหุ้นตามสัญญาให้แก่โจทก์โดยทางบริษัท บ. แจ้งว่า การโอนหุ้นขัดต่อข้อบังคับของบริษัทซึ่งกรรมการของบริษัทคัดค้านการโอนหุ้น และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ส่วนข้อบังคับของบริษัท บ. มีว่าอย่างไรการโอนหุ้นตามฟ้องขัดต่อข้อบังคับของบริษัทอย่างไร กรรมการบริษัทที่คัดค้านการโอนหุ้นคือใครตามมติที่ประชุมครั้งที่เท่าใดล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพยานได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หุ้นของบริษัท บ. เป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อแม้ยังไม่ได้ออกใบหุ้นแต่การโอนหุ้นก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง ซึ่งกำหนดแบบไว้ว่าถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญาโอนหุ้นในบริษัทดังกล่าวระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า-ภารจำยอม: ศาลเลื่อนพิจารณาจนกว่าคดีภารจำยอมถึงที่สุด จึงจะวินิจฉัยผิดสัญญาเช่าได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า เนื่องจากที่ดินที่เช่าถูกบุคคลภายนอกฟ้องร้องว่าตกอยู่ในภารจำยอม เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาว่าที่ดินที่เช่าตกอยู่ในภารจำยอม จึงเป็นประเด็นโดยตรงซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และศาลชั้นต้นในคดีซึ่งบุคคลภายนอกฟ้องโจทก์และจำเลยได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อรั้วคอนกรีตกั้นทางเดินที่อ้างว่าเป็นภารจำยอมออก แต่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันจริง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่ามีความหมายอยู่ในตัวว่า หากคดีดังกล่าวถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันก็ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า จึงเป็นกรณีที่ต้องอาศัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเอง จึงมีเหตุสมควรที่ต้องเลื่อนการพิจารณาต่อไปจนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 39 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาในสาระสำคัญว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงจะรับฟังได้หรือรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องรับฟังกันต่อไปในชั้นพิจารณา ฉะนั้นเมื่อคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการรับประกัน: โจทก์ขอสิ่งนอกเหนือจากที่จำเลยรับประกัน ศาลไม่อาจบังคับได้
ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่ารถยนต์ที่จำเลยขายให้โจทก์มีความชำรุดบกพร่องของระบบเกียร์อันเป็นวัสดุที่จำเลยรับประกันไว้ว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนให้ โจทก์จึงบังคับให้จำเลยซ่อมหรือเปลี่ยนเกียร์ให้โจทก์ใหม่เพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์กลับขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนเท่ากับราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ซื้อไปจากจำเลยหรือให้จำเลยนำรถยนต์คันใหม่ที่มีลักษณะเหมือนรถยนต์พิพาทและมีสภาพใช้งานได้ดีมาเปลี่ยนให้โจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากที่จำเลยได้รับประกันไว้ โจทก์ย่อมไม่อาจบังคับจำเลยโดยอาศัยข้อตกลงรับประกันดังกล่าวได้จึงเป็นคำขอที่ศาลไม่อาจบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 303/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดจากสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต ศาลฎีกาแก้เบี้ยปรับให้เป็นอัตราที่สมเหตุสมผล
ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต จำเลยยินยอมชำระเงินเมื่อมีการยื่นตั๋วแลกเงินของผู้รับประโยชน์พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารโจทก์นับแต่วันที่ออกตั๋วแลกเงินถึงวันชำระเงิน รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากไม่ปฏิบัติตาม ยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่กำหนดโดยธนาคารโจทก์นับจากวันที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงิน เมื่อสินค้าตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวเดินทางมาถึง จำเลยได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารการรับสินค้าไปก่อนโดยยังไม่ชำระเงิน โดยมีข้อสัญญาว่าจะชำระตามตั๋วแลกเงินภายในเวลาที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดไว้ สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายความว่า ถ้าจำเลยปฏิบัติตามสัญญาทรัสต์รีซีทก็ย่อมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตในอัตราที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ถ้าจำเลยผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารโจทก์กำหนดไว้นับแต่เวลาที่สินค้ามาถึงกรุงเทพมหานครถึงวันที่ชำระเงิน
เมื่อปรากฏว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในแต่ละช่วงเวลาของโจทก์แตกต่างกันตามประกาศของโจทก์แต่ละฉบับ จำเลยก็ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศไว้ในช่วงเวลาที่ผิดนัดสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ กรณีไม่ใช่เรื่องที่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยและจะต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องถึงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาไว้ให้ชัดเจน แต่ในคำฟ้องได้มีการคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดของหนี้แต่ละจำนวนถึงวันฟ้อง โดยแนบสำเนาประกาศธนาคารโจทก์ เรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดขั้นสูงสุดมาด้วยและในชั้นพิจารณาโจทก์ก็นำสืบโดยอ้างส่งสำเนาประกาศดังกล่าวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตรงกันกับช่วงเวลาที่โจทก์คิดคำนวณมาในฟ้อง ดังนั้น คำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์จึงชัดเจนเพียงพอที่จะกำหนดดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดได้
สัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไม่ได้ระบุจำกัดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในวันที่มีการผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น กรณีจึงหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่มีได้หลายอัตราตลอดช่วงเวลาที่จำเลยยังไม่ชำระหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีเจตนาให้คิดดอกเบี้ยปรับเปลี่ยนลอยตัวได้ แต่เนื่องจากเงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้เดิมเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 383 โดยกำหนดให้เป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของโจทก์บวก 0.25 และปรับเปลี่ยนขึ้นลงแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่เรียกจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศของโจทก์ที่ประกาศไว้แล้วและที่จะประกาศต่อไปหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดและไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีและการย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาปัญหาที่ศาลล่างยังไม่ได้วินิจฉัย
ปัญหาข้อเท็จจริงตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อใดนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2536 โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้าน ว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงเป็นอันยุติ
อายุความไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา โจทก์จึงไม่จำต้องกล่าวมาในคำฟ้องว่าคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะเหตุใด
ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยในปัญหาตามฎีกาของโจทก์และคดีต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในข้อเท็จจริงและข้อที่มิได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์, อายุความมิใช่สภาพแห่งข้อหา
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2536 เมื่อโจทก์อุทธรณ์โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่อย่างไร ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อใดจึงเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์เพิ่งทราบถึงการตายของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 นอกจากจะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามแล้วยังเป็นฎีกาในข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง อีกด้วย
อายุความไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา โจทก์จึงไม่ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะเหตุใด ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ขาดอายุความจึงมิใช่เรื่องฎีกานอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9594/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีขัดทรัพย์: คำร้องขอของผู้ร้องมีลักษณะคล้ายฟ้อง ต้องชัดเจนในรายละเอียดทรัพย์สินและอำนาจฟ้อง
ในการพิจารณาคดีร้องขัดทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 288 วรรคสอง กำหนดว่าศาลต้องพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเหมือนอย่างคดีธรรมดา ผู้ร้องขัดทรัพย์จึงมีฐานะเสมือนเป็นโจทก์ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา(โจทก์เดิม) มีฐานะเสมือนจำเลย ดังนั้น คำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์จึงเปรียบเสมือนคำฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้รายการใดเป็นของผู้ร้อง จึงเป็นคำฟ้องของผู้ร้องขัดทรัพย์ที่ไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่ฟ้องเคลือบคลุมในคดีแพ่งก็ไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจะยกขึ้นพิจารณาเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยจะต้องต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ทั้งจะต้องให้การโดยชัดแจ้งด้วยว่าฟ้องเคลือบคลุมอย่างไร มิฉะนั้น ไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึง และในคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเสมือนจำเลยก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่าคำร้องขอของผู้ร้องขัดทรัพย์เคลือบคลุมแต่อย่างใดการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำร้องขอของผู้ร้องเป็นคำร้องขอที่ขาดสาระสำคัญในเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ถูกต้องศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
of 292