คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 172

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,914 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน – การผ่อนเวลาชำระหนี้ – การเวนคืนหนังสือค้ำประกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,791,081 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าอะไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร เมื่อใดและครบกำหนดชำระหนี้เมื่อใด อีกทั้งมิได้แนบเอกสารที่แสดงรายละเอียดมาท้ายคำฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาเกินกว่าสองหมื่นบาท กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อซึ่งได้รับมอบสินค้าจากโจทก์ผู้ขายแล้วผิดนัด ขอให้บังคับชำระค่าสินค้า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายหรือไม่
สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย
จำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ค้ำประกัน อันเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยที่ 2 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และจำเลยที่ 2 คืนหลักประกันไป จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701
การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13043/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยรถยนต์: เจตนาทุจริตในการเช่ารถเพื่อฉ้อโกง ไม่เข้าข้อยกเว้นการคุ้มครองความสูญหาย
กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นความรับผิดไม่คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เมื่อ ส. ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน และ ส. เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่กลับแจ้งออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ส. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 มอบการครอบครองรถยนต์ให้ไป การกระทำของ ส. จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1
แม้โจทก์ที่ 1 จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้ค่าขาดประโยชน์อย่างไร ทั้งไม่ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ จึงไม่กำหนดให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8712/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมผู้ค้ำประกัน: ยอดหนี้ฟ้องชอบแล้ว แม้มีการชำระหนี้จากหลักประกัน ยึดถือหนี้เดิมที่จำเลยต้องรับผิดชอบ
มูลหนี้ที่บริษัท ง. ฟ้อง ป. กับมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ ป. โดยจำเลยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เป็นมูลหนี้อันเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยระบุยอดหนี้ชัดเจนและแน่นอน โดยคิดถึงวันฟ้องตามมูลหนี้ที่แท้จริงที่ ป. ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการถูกต้องแล้ว แม้หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วโจทก์จะได้รับการชำระหนี้จากหลักประกันของ ป. ผู้กู้อันเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีผลทำให้ยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบแล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้าง จึงต้องฟังว่าจำเลยยังค้างชำระหนี้ตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องนำสืบถึงจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้หลังจากฟ้องเป็นคดีนี้แล้ว เพราะเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี การบังคับชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นในคดีที่ ป. ผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้อง และในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นนี้เป็นขั้นตอนการปฏิบัติในการบังคับคดี
ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ป. ผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยตามสัญญากู้เพียงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงไปกว่าที่ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องชำระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหย่าจากความผิดของคู่สมรส การเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพ และการพิจารณาความสามารถของผู้ให้/ผู้รับ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า "ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้..." คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า "จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู" แต่มีคำว่า "ค่าขาดรายได้" เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้เงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่ได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14086/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งหลังมีคำพิพากษาคดีอาญาหมิ่นประมาท และการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสม
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่จะได้ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม
เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 และโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีนี้จำเลยรับข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีอยู่ของคำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำรับของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตาม ตาราง 2 ท้าย ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะฟ้องคดีนี้อีก
ผลของคดีอาญาทำให้โจทก์ได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบเลยว่าความเสียหายของโจทก์จากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงมีเพียงใด และเมื่อคำนึงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเหตุกับฐานะของโจทก์และจำเลยที่เป็นมูลเหตุให้มีการกล่าวหมิ่นประมาทแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้เพียง 30,000 บาท
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ฟังได้ว่ามีความเสียหายแก่ชื่อเสียงเพียงใดนั้น เห็นว่า การนำสืบฟังได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันทำละเมิดซึ่งเกินคำขอ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13955/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์: การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแม้ยังไม่ได้จดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบ
แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน ค. ในการขายรถยนต์พิพาท โจทก์ก็นำสืบเรื่องดังกล่าวได้เพราะเป็นการสืบข้อเท็จจริงในรายละเอียด เนื่องจากในการติดต่อทำสัญญาซื้อขายกันอาจทำได้โดยตนเองหรือมีตัวแทนติดต่อทำสัญญาซื้อขายแทนกันก็ได้
ข้อความในสัญญาเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีแม้ยังไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์พิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทเป็นการไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนรถยนต์พิพาทตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13387/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง: การพิจารณาจากสภาพแห่งข้อหาในคำฟ้อง ไม่ใช่ชื่อคู่ความ หากฟ้องหน่วยงานที่ไม่มีสถานะนิติบุคคล ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
การจะพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถูกฟ้องในสถานะใด มิใช่ดูเพียงชื่อในช่องคู่ความของคำฟ้องเท่านั้น ข้อสำคัญต้องพิจารณาจากเนื้อหาตามคำบรรยายฟ้องที่เป็นสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสองมุ่งประสงค์จะฟ้องและมีคำขอให้บังคับนั้นคือผู้ใด โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นส่วนราชการสังกัดหน่วยงานของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนและสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 มีผู้บริหารเรียกว่า ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี เป็นผู้กระทำการแทน ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นส่วนราชการสังกัดหน่วยงานของจำเลยที่ 3 ชื่อว่า ธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรี เป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 3 โดยมี ธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรีกระทำการแทน และบรรยายฟ้องตอนหนึ่งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองตามฟ้องไม่ใช่ที่ราชพัสดุอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ เป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงสถานะจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่า เป็นส่วนราชการ คำฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงมุ่งประสงค์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะเป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับ หาใช่ฟ้องตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการของจำเลยที่ 2 และที่ 4 แต่อย่างใด เมื่อฎีกาของโจทก์ทั้งสองยอมรับว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงไม่อาจถูกฟ้องได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4
การที่ศาลนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องมาวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี จึงชอบที่จะยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2), 172 วรรคสาม ไม่ใช่มีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความเช็ค, การยินยอมลงวันที่เช็ค, และความรับผิดตามเช็คพิพาท
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ โดยบรรยายรายละเอียดของเช็คพิพาท และแนบสำเนาภาพถ่ายเช็คพิพาทและใบคืนเช็คมาท้ายฟ้อง พร้อมทั้งคำขอบังคับให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยมาครบถ้วน จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ เพื่อแลกเงินสดไปจากโจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่ออกเช็คได้เอง โจทก์จึงมีสิทธิลงวันที่ในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับได้ เมื่อโจทก์ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 ในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002 จึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2548 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนขนส่งสินค้า กรณีสินค้าเสียหายจากน้ำท่วมขณะอยู่ในความดูแลรักษา
การที่กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ว. เป็นทนายโจทก์และ ว. ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
ปัญหาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องใน คดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงิน 846,110 บาท ส่วนจะคำนวณอย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นเป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย การเปิดตู้ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่ง รับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้เสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปในภายตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
คำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้อง นำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบแล้ว
of 292