พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การนำเข้าสินค้า การคำนวณราคาฐานภาษี และอำนาจฟ้องเรียกคืนภาษีอากรที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ราคาของที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากรนั้น ต้องคิดจากราคาสินค้ารวมกับค่าประกันภัยและค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้าซึ่งเรียกว่าราคา ซี.ไอ.เอฟ. ค่าระวางหรือค่าขนส่งสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของราคาของ การที่โจทก์โต้แย้งเรื่องค่าขนส่งหรือค่าระวางสินค้าถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับราคาแห่งของเมื่อโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องขอคืนอากรขาเข้ารวมถึงค่าธรรมเนียมพิเศษที่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดระเบียบการเรียกเก็บและวิธีการชำระค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 แม้การที่เจ้าพนักงานประเมินได้มีคำสั่งประเมินภาษีอากรเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์สำแดงโดยเพิ่มค่าระวางขนส่งให้สูงขึ้นจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้วก็ตาม แต่ในกรณีเช่นนี้กฎหมายกำหนดขั้นตอนที่โจทก์จะต้องปฏิบัติก่อน เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนภาษีอากรดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2810/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินราคาศุลกากรที่ไม่ถูกต้อง และสิทธิในการฟ้องเรียกเงินคืน รวมถึงการอุทธรณ์ภาษีการค้า
คำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรที่ 47/2531 ที่ให้ใช้ราคานำเข้าสูงสุดก่อนรายที่พิจารณาไม่เกิน 1 เดือนนั้น เป็นเพียงระเบียบภายในของจำเลยในกรณีไม่อาจจะทราบราคาแท้จริงได้ตามกฎหมาย เมื่อทางโจทก์ได้เสนอหลักฐานให้ทราบแน่ชัดแล้วจึงไม่จำต้องอาศัยระเบียบดังกล่าวมาพิจารณา ประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรฉบับที่ 77(พ.ศ. 2533) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(4)และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 กำหนดให้สินค้าบางชนิดต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการนำเข้าในราชอาณาจักรในอัตราร้อยละ 0.5ของราคาตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และจำเลยได้ออกคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 25/2533 วางระเบียบเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวและนำส่งกระทรวงพาณิชย์ในภายหลัง การที่จำเลยเรียกเก็บเงินนี้ก็โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวข้างต้น แต่จำเลยเรียกเก็บเงินโดยที่จำเลยกำหนดราคาผิดไป ฉะนั้นเมื่อจำเลยทำผิดจำเลยก็ต้องมีหน้าที่คืนแก่โจทก์ต่างกับกรณีต้องคืนเงินอากรขาเข้าตามมาตรา 19 หรือมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 เพราะกรณีดังกล่าวเป็นกรณีเรียกไว้โดยชอบ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินค่าธรรมเนียมพิเศษจากจำเลยได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบราคาสินค้าของโจทก์แล้วมีความเห็นให้เพิ่มราคา และเรียกอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่ม โจทก์ก็ได้แก้ไขจำนวนเงินราคา ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลในใบขนสินค้าขาเข้าตามรายการสำแดงที่จำเลยขอเพิ่มแล้ว ถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87(2) แล้ว หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อน การที่โจทก์อุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคาซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ไม่เป็นการอุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลให้คืนเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลได้