คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 103

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบสั่งจ้างไม่ใช่สัญญาจ้างทำของที่ต้องเสียอากรแสตมป์ หากเป็นเพียงหลักฐานการทำนิติกรรม
ใบสั่งจ้างมีข้อความในตอนต้นของกระดาษว่าคือใบสั่งจ้าง และเอกสารดังกล่าวก็มีข้อความสำคัญเพียงว่า บริษัท ว. ผู้สั่งจ้าง โจทก์ผู้รับจ้าง วันที่ เลขที่ใบสั่งจ้าง รหัสสินค้า รายการสินค้า จำนวน ราคาต่อหน่วย และจำนวนเงิน แม้จะมีการลงชื่อผู้ว่าจ้างและโจทก์ผู้รับจ้างด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อสัญญาจ้างทำของนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือมิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะ ประกอบกับลักษณะในการประกอบกิจการของโจทก์ที่จะรอคำสั่งจ้างจากผู้ว่าจ้างเป็นลักษณะรายครั้ง เมื่อผู้ว่าจ้างต้องการสั่งจ้างผลิตครั้งใดก็จะมีใบสั่งจ้างทีละครั้ง ทำให้ช่วงเวลาที่โจทก์ผลิตสินค้าเดือนมกราคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 86 ฉบับ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีใบสั่งจ้าง 18 ฉบับ เดือนมีนาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 70 ฉบับ เดือนเมษายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 36 ฉบับ เดือนพฤษภาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 7 ฉบับ เดือนมิถุนายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 9 ฉบับ เดือนกรกฎาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 8 ฉบับ เดือนสิงหาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 11 ฉบับ เดือนกันยายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 9 ฉบับ เดือนตุลาคม 2557 มีใบสั่งจ้าง 10 ฉบับ และเดือนพฤศจิกายน 2557 มีใบสั่งจ้าง 6 ฉบับ อันแสดงให้เห็นว่าใบสั่งจ้างดังกล่าวเป็นเพียงหลักฐานแห่งการทำนิติกรรม ไม่ใช่หนังสือสัญญาจ้างทำของอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 4 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด และสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5951/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินรวม และการครอบครองปรปักษ์: การปิดแสตมป์หนังสือมอบอำนาจ & การพิสูจน์การครอบครอง
การใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินที่บุคคลหลายคนถือกรรมสิทธิ์รวม เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ย่อมใช้สิทธิฟ้องคดีได้เพียงลำพังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 หาใช่เป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกันไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมิได้เป็นผู้มีอำนาจร่วมกันในการฟ้องคดี หากแต่เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างใช้สิทธิของตน การมอบอำนาจให้ ส. ฟ้องและดำเนินคดีแทน จึงเป็นกรณีที่ผู้มอบอำนาจมีหลายคนแล้วมอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกัน ต้องคิดตามรายตัวผู้มอบคนหนึ่งเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องปิดแสตมป์ 60 บาท มิใช่เพียง 30 บาท
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว การปิดแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจจึงสามารถกระทำในระหว่างพิจารณาคดีหรือสืบพยานได้ หาใช่ต้องปิดแสตมป์ในขณะที่ยื่นฟ้องไม่ เช่นนี้ แม้ขณะฟ้องโจทก์ทั้งสองปิดแสตมป์หนังสือมอบอำนาจเพียง 30 บาท แต่เมื่อในการสืบพยาน โจทก์ทั้งสองปิดแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นจำนวน 60 บาท ครบถ้วน จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีว่าโจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ ส. ฟ้องและดำเนินคดีแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21819/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนังสือค้ำประกัน, การบอกกล่าวบังคับจำนอง, และดอกเบี้ยที่ชอบด้วยกฎหมาย
หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น อันเป็นเอกสารมหาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้และถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 ที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร
จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์หากโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความในข้อ 1 ระบุว่า ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันต่อบุคคลหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะออกหนังสือค้ำประกันฉบับเดียวหรือหลายฉบับในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า... เป็นเงินรวมกันไม่เกิน 14,700,000 บาท ซึ่งถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ขอให้โจทก์ค้ำประกัน และโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ...จำเลยที่ 5 ตกลงยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่โจทก์ได้ชดใช้แทนไปนั้น คำว่า ในเวลานี้ในสัญญาดังกล่าว ย่อมหมายถึง การที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนี้ สัญญาที่จำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์ดังกล่าวจึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกันด้วย มิใช่จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น แม้คำขอให้ออกหนังสือรับรองและค้ำประกันได้ระบุหลักประกันอื่นโดยมิได้ระบุถึงจำเลยที่ 5 ไว้ก็มิได้ทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย
การที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวโดยมีข้อความระบุไว้ในข้อ 8 ว่า เพื่อประกันการชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมด จำเลยที่ 5 ตกลงจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 447 ไว้กับโจทก์ โดยระบุในสัญญาจำนองว่า เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับผู้รับจำนอง ในวงเงิน 11,800,000 บาท ก็เป็นการที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงินไม่เกิน 14,700,000 บาท เท่านั้น มิใช่ต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองรวมกันแต่อย่างใด
สำหรับความรับผิดตามสัญญาจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนั้น เมื่อสัญญาจำนองฉบับนี้ระบุว่า จำนองเป็นประกันหนี้ที่ผู้จำนองและหรือจำเลยที่ 1 มีอยู่กับผู้รับจำนองทุกลักษณะในเวลานี้หรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้า ทั้งนี้ให้รวมถึงหนี้ที่จะก่อให้เกิดขึ้นใหม่ทุกลักษณะเป็นจำนวน 14,000,000 บาท ดังนั้น คำว่า ประกันหนี้ในเวลานี้ จึงมีความหมายว่า เป็นประกันหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารโจทก์อยู่แล้วในขณะทำสัญญา ดังนั้นสัญญาจำนองหนี้เบิกเงินเกินบัญชีนี้จึงครอบคลุมถึงหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาจำนอง จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ก่อนทำสัญญาจำนองด้วย และจำเลยที่ 5 คงต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่จำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น เพราะจำเลยที่ 5 จำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 39209 โดยจำกัดวงเงินไม่เกิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและหนี้อุปกรณ์เท่านั้น แม้จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า การกำหนดต้นเงินตามสัญญาจำนองไม่เป็นการตัดสิทธิผู้รับจำนองที่จะบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินตามสัญญาจำนองไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นั้นเป็นข้อตกลงที่ทำให้สัญญาจำนองไม่มีจำนวนเงินที่แน่นอน หรือไม่มีจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์จำนองตราไว้เป็นประกัน จึงฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 708 และเป็นช่องทางให้หลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนอง จึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองสำหรับต้นเงินที่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีมีดอกเบี้ยหรือหนี้อุปกรณ์รวมกันเกินวงเงินจำนองเท่านั้น จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้จำนองประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวงเงิน 14,000,000 บาท จึงต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจำนองดังกล่าว ในวงเงิน 14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งห้าทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งห้าแต่ฝ่ายเดียวต่างลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เบิกเงินบัญชีและผู้ค้ำประกันเท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118
การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลผู้ซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อการแสดงเจตนาส่งไปถึงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 5 แล้ว แม้จะไม่มีผู้รับ ก็ถือว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์โดยไม่ลงวันที่ ยังใช้เป็นหลักฐานได้ และเจ้าอาวาสมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 103 ให้ความหมายของคำว่า "ขีดฆ่า" หมายความว่า "การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลงวัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย..." การระบุวัน เดือน ปี พร้อมขีดฆ่าอากรแสตมป์ ก็เพียงมุ่งหมายให้ทราบว่าได้มีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใดเท่านั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์มิให้นำไปใช้ได้อีก เมื่อหนังสือมอบอำนาจได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันที่ เดือน ปี กำกับด้วย ก็ถือว่าหนังสือมอบอำนาจรับฟังพยานหลักฐานได้ ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
โจทก์เป็นนิติบุคคล โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการทั่วไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 แม้กฎกระทรวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 จะมิได้กำหนดวิธีจัดการศาสนสมบัติของวัดเกี่ยวกับการฟ้องคดีไว้ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบแล้วว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยระงับลงโดยโจทก์แจ้งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับจำเลย อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 40 วรรคสาม ว่าด้วยการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในเรื่องการเช่าแล้ว และเมื่อสัญญาเช่าที่ดินเลิกกัน โจทก์ในฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการทั่วไป ผู้แทนของโจทก์ย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการใด ๆ อันเกี่ยวกับการจัดการศาสนสมบัติของวัดแทนโจทก์ได้ การจัดการทรัพย์สินของวัดซึ่งรวมทั้งการฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัดโจทก์ที่จะดำเนินการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22089/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ไม่สมบูรณ์ และเช็คพิพาทโอนได้โดยส่งมอบ ผู้ทรงมีสิทธิเรียกร้อง
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสองและเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งคัดค้านในชั้นฎีกา แต่ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.รัษฎากร มาตรา 103 นิยามคำว่า ขีดฆ่า หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยมีเจตนารมณ์เพื่อมิให้นำแสตมป์นั้นมาใช้อีกอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าอากร เมื่อปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่ามีการขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์แล้ว แม้จะไม่ได้ลงวันเดือนปีที่ขีดเส้นคร่อมฆ่าอากรแสตมป์ และไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้บนอากรแสตมป์นั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการขีดฆ่าที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้ว จึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
เช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ย่อมโอนไปด้วยการส่งมอบให้แก่กันตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมา จึงเป็นผู้ถือย่อมเป็นผู้ทรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทไม่อาจต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารกู้ยืมที่ไม่ติดอากรแสตมป์รับฟังได้เป็นพยานหลักฐาน แต่ยังต้องวินิจฉัยประเด็นข้อเท็จจริงอื่นอีก
แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
ใบตอบรับการสมัครสินเชื่อเงินสดควิกแคชพร้อมสัญญาให้สินเชื่อเงินสดระบุข้อความว่า จำเลยขอรับบริการสินเชื่อเงินสดควิกแคชในวงเงิน 500,000 บาท ในอัตราค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินร้อยละ 1.15 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนเฉพาะเดือนแรกเท่านั้น ค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ร้อยละ 0.5 ของยอดเงินกู้และจำเลยได้ลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้เป็นสำคัญ โดยไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แม้เอกสารดังกล่าวจะมีข้อความว่าเป็นสัญญาให้สินเชื่อเงินสดระหว่างโจทก์กับจำเลย เอกสารดังกล่าวก็มิใช่ตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 103, 104 และ 118 ดังนั้น เอกสารดังกล่าวที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยต้องรับผิดตามเอกสารดังกล่าวต่อโจทก์หรือไม่ และเป็นปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ข้อกฎหมายที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยได้ จึงจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาในคดีให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจำนองเป็นหลักฐานการกู้ยืม ไม่ใช่สัญญากู้ยืมโดยตรง จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สัญญาจำนองเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เท่านั้น มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลย อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องเสียอากรโดยปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากรฯ มาตรา 103, 104 และ 118 แม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ เหตุผลเช่นว่านี้ได้กล่าวโดยชัดเจนและชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยซ้ำอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขีดฆ่าอากรแสตมป์หลังพิจารณาคดี, ผลของการจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา, และการแยกแยะนิติกรรมสัญญา
โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตทำการขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้หรือขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือสัญญากู้ดังกล่าว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในหนังสือสัญญากู้
การที่จำเลยทำสัญญาจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา คงมีผลเพียงว่า ภริยาจำเลยอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 แต่ตราบใดสัญญาจำนองยังไม่ถูกศาลเพิกถอน ย่อมยังคงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
สัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง เป็นนิติกรรมคนละประเภทที่สามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน เมื่อสัญญากู้เงินไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐาน ย่อมไม่อาจนำเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาจำนองมาบังคับการกู้เงินรายนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันที่ไม่ติดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามสัญญา
หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์มีจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103,104 และ 118 แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาชำระหนี้แทนบุคคลอื่น ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ หรือการแปลงหนี้ อายุความ 10 ปี
การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของ พ. แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ ทั้งในเอกสารดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของ พ. ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ และแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าหนังสือสัญญานั้นเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยสัญญาที่จำเลยทำให้โจทก์เป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ซึ่งหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และเมื่อสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญารับสภาพหนี้และสัญญาที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรฯ ซึ่งเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 108 ดังนั้น แม้เอกสารดังกล่าวจะไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานได้
of 5