พบผลลัพธ์ทั้งหมด 458 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15179/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประกาศเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ การพิสูจน์ทราบประกาศไม่ใช่องค์ประกอบความผิด
มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่กำหนดให้คัดสำเนาประกาศรัฐมนตรีซึ่งกำหนดขึ้นตามบทแห่งกฎหมายดังกล่าวประกาศไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นเป็นแต่เพียงการกำหนดวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่กระทำในการประกาศให้ทราบถึงประกาศรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่บทบังคับอันเป็นองค์ประกอบความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกับพวกมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 โดยประกาศดังกล่าวได้มีการคัดสำเนาประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบโดยทั่วกัน และจำเลยกับพวกได้ทราบแล้ว ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่า ได้มีการคัดสำเนาประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการประรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15144/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 กรณีศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษจำคุกไม่เกินสองปี และประเด็นคดีไม่เลิกกันเนื่องจากหนี้ยังไม่ครบชำระ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดดังกล่าว คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 4 การที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ร่วม จึงเป็นการออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยพิจารณาจากหนังสือสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเพียงฉบับเดียว และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่หยิบยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งที่โจทก์ร่วมไม่ได้อ้างพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานในชั้นสอบสวน จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยออกเช็คพิพาทแก่โจทก์ร่วมโดยไม่มีหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสือ จึงมิใช่เป็นการออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายและจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักรับฟังได้เพียงใด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
คดีนี้ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อปรากฏว่าหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ชำระหนี้ให้ครบถ้วน จึงถือไม่ได้ว่าหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันเป็นเหตุให้ถือว่าคดีเลิกกัน คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ มาตรา 7
คดีนี้ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อปรากฏว่าหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมยังไม่ได้ชำระหนี้ให้ครบถ้วน จึงถือไม่ได้ว่าหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันเป็นเหตุให้ถือว่าคดีเลิกกัน คดีจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ มาตรา 7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10629/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภาระการพิสูจน์ในคดีแพ่ง: พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือแม้ฝ่ายตรงข้ามไม่นำสืบ ย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากโจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้มากรอกข้อความโดยไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่โจทก์ที่ต้องนำสืบให้ได้ความตามประเด็นที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง
การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งมิได้หมายความว่าจะต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอันเกิดจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสมอไป หากปรากฏว่าฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์แต่พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือหรือนำสืบไม่สมข้ออ้าง แม้เป็นการนำสืบฝ่ายเดียวโดยคู่ความอีกฝ่ายไม่มีพยานมาสืบก็ต้องแพ้คดี
การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีแพ่งมิได้หมายความว่าจะต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอันเกิดจากการนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายเสมอไป หากปรากฏว่าฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์แต่พยานหลักฐานไม่น่าเชื่อถือหรือนำสืบไม่สมข้ออ้าง แม้เป็นการนำสืบฝ่ายเดียวโดยคู่ความอีกฝ่ายไม่มีพยานมาสืบก็ต้องแพ้คดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10595/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนเช็คของผู้ถือโดยสุจริต ผู้สั่งจ่ายมีหน้าที่ผูกพันแม้ไม่มีนิติสัมพันธ์กับผู้รับโอน
ผู้ทรงเช็คผู้ถือมีสิทธิโอนโดยการส่งมอบเช็คให้แก่โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยผู้สั่งจ่ายไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และเมื่อเช็คพิพาทตกมาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในฐานะผู้ถือโดยโจทก์อ้างว่ามีผู้นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ และจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รับโอนเช็คมาโดยไม่สุจริต จึงต้องฟังว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 904 และมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่งจำเลยไม่ได้ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบ มาตรา 989 วรรคหนึ่ง เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงมิให้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร และต่อมาได้มีการหักกลบลบหนี้กันระหว่างจำเลยกับ ช. แล้ว จึงไม่มีมูลหนี้ตามเช็คพิพาทอีกต่อไปแล้วนั้น เป็นการต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยกับ ช. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ในกรณีที่ ช. หรือผู้ทรงคนถัดไปโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยจึงยกข้อต่อสู้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงมิให้นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคาร และต่อมาได้มีการหักกลบลบหนี้กันระหว่างจำเลยกับ ช. แล้ว จึงไม่มีมูลหนี้ตามเช็คพิพาทอีกต่อไปแล้วนั้น เป็นการต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยกับ ช. ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อน ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ในกรณีที่ ช. หรือผู้ทรงคนถัดไปโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยจึงยกข้อต่อสู้ว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10077/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาห้ามอุทธรณ์ เหตุอ้างเหตุใหม่ในชั้นอุทธรณ์ หลังให้การในศาลชั้นต้นไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การยกเหตุแห่งการปฏิเสธในประเด็นฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่เพียงว่าโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยประกอบธุรกิจและมีผลประโยชน์ร่วมกัน มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งแยกกันได้เป็นคนละมูลหนี้ โจทก์ไม่สามารถนำมาฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้แบ่งแยกว่าหนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 1 หนี้ใดเป็นของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าใจว่าหนี้ดังกล่าวเป็นมูลหนี้อะไรตามสัญญาใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมกลับกล่าวอ้างว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าหนี้ที่ถึงกำหนดชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความงวดใดถึงกำหนดชำระ งวดใดยังไม่ถึงกำหนดชำระ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคนละเหตุกับที่ได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้น จึงถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8877/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม เหตุจำเลยไม่ยกประเด็นอำนาจฟ้องในชั้นอุทธรณ์ แม้เป็นปัญหาความสงบเรียบร้อย
แม้จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย แต่จำเลยที่ 1 คงแก้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้วหรือไม่ ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จำเลยที่ 1 สามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวต้องเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นหรือในชั้นอุทธรณ์ หาใช่ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องยุติไปแล้วไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7780/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้มีสัญญาซื้อขายแต่ไม่ดำเนินการแบ่งแยกโฉนด และที่ดินใช้เป็นสุสาน
แม้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตอนท้ายระบุว่า ผู้จะขายจะไปยื่นคำขอแบ่งขายให้แก่ผู้จะซื้อที่สำนักงานที่ดินภายในกำหนดสองปีนับแต่วันทำหนังสือก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 และ บ. กับจำเลยทั้งห้าปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานโดยมิได้ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกโฉนด แสดงว่าคู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ก่อนทำหนังสือสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งห้านำศพมารดาและบิดาไปฝังไว้ในบริเวณที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ 2 และ บ. นำศพญาติของโจทก์ทั้งสองจำนวน 15 ศพ ไปฝังไว้เป็นแนวเดียวกัน ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทข้อ 1 ระบุไว้ชัดว่าจำเลยทั้งห้าแบ่งขายที่ดินทางด้านทิศใต้ตามที่ทำฮวงซุ้ยไว้แล้วอยู่ตรงกลางใกล้กับทางด้านทิศตะวันตก (ไม่สุดแนวเขต) จำนวน 2 ไร่ถ้วน แสดงว่าก่อนหน้านี้จำเลยทั้งห้าใช้บริเวณที่ดินพิพาทเป็นสุสานฝังศพบิดามารดาจำเลยทั้งห้าอยู่แล้ว ทั้งตามลักษณะบริเวณที่ดินพิพาทซึ่งทำฮวงซุ้ยไว้แล้วนั้นเป็นที่ฝังศพเฉพาะคนตระกูลของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้า โดยฝังศพไว้ในลักษณะถาวร บนหลุมฝังศพมีการก่อปูนซีเมนต์ไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง เมื่อถึงวันเช็งเม้งอันเป็นวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ญาติผู้ตายคือฝ่ายโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าต่างไปเคารพศพทุกปี อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชาวจีนทั่วไปต้องปฏิบัติตลอดไป โดยสภาพย่อมไม่มีการขุดศพออกจากที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่อาจให้ความยินยอมหรืออนุญาตกันได้ เพราะหากเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมหรือไม่อนุญาตเมื่อใดก็จะต้องขุดศพออกจากที่ดินเมื่อนั้น ซึ่งจำเลยทั้งห้ารู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว การที่จำเลยทั้งห้ารับเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 และ บ. ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา และยินยอมให้โจทก์ที่ 2 และ บ. นำศพญาติของโจทก์ที่ 2 และ บ. ฝังไว้ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2506 ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าสละการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ 2 และ บ. โดยเด็ดขาด โจทก์ที่ 2 และ บ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้เป็นสุสานฝังศพหรือฮวงซุ้ยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7383/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลต้องพิจารณาครบทุกข้อหาในคำฟ้อง แม้โจทก์เน้นย้ำเฉพาะการไขข่าวแพร่หลาย มิใช่ถ้อยคำหยาบคาย
โจทก์บรรยายฟ้องโดยตอนแรกบรรยายถึงการที่จำเลยพูดกล่าวถ้อยคำซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการดูหมิ่นโจทก์ ส่วนตอนหลังบรรยายถึงการที่จำเลยนำความไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปเผยแพร่แล้วโจทก์สรุปว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความที่ทำให้โจทก์เสียหาย เห็นได้ว่าข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาละเมิดคือการไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความของจำเลยอันทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่การที่จำเลยพูดถ้อยคำหยาบคายต่อโจทก์ไม่ ทั้งทนายโจทก์ก็แถลงยืนยันต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องรวม 4 ครั้ง ซึ่งการกระทำละเมิดของจำเลยตามที่ทนายโจทก์แถลงไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวกับการพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยดังกล่าว การพูดถ้อยคำหยาบคายของจำเลยจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลต้องวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตอำนาจมอบอำนาจช่วง: การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแพ่งและอาญาต้องจำกัดเฉพาะกิจการเดียวตามหนังสือมอบอำนาจ
ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 โจทก์มอบอำนาจให้ บ. กระทำกิจการตามที่ได้ระบุไว้รวม 15 ข้อ โดยข้อ 15 ระบุว่า "กิจการที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจช่วงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของธนาคารคนใดเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนก็ได้ แต่การมอบอำนาจช่วงเช่นว่านี้จะทำได้ครั้งหนึ่งเฉพาะกิจการอย่างหนึ่งเท่านั้น จะมอบอำนาจให้กระทำการแทนโดยทั่วไปหรือในกิจการหลายอย่างในการมอบอำนาจช่วงครั้งหนึ่งๆ ไม่ได้" เช่นนี้ ผู้รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจช่วงให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์กระทำการแทนก็ได้แต่ครั้งหนึ่งเฉพาะกิจการอย่างหนึ่ง จะมอบอำนาจให้กระทำกิจการหลายอย่างในการมอบอำนาจช่วงครั้งหนึ่งๆ หรือกระทำกิจการเดียวโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งไม่ได้ หนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า บ. ผู้รับมอบอำนาจ... ขอมอบอำนาจช่วงให้ ป. และ/หรือ พ.... มีอำนาจดำเนินการในกิจการดังต่อไปนี้กับ ธ. และ ศ. เพื่อประโยชน์ของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จนเสร็จการ ข้อ 1 ให้มีอำนาจติดตามหนี้สิน... ข้อ 2 มีอำนาจในการดำเนินคดีทางแพ่ง ได้แก่ การออกหนังสือบอกกล่าวและทวงถาม การฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งและการอื่นใดที่เกี่ยวกับคดีจนเสร็จการ เช่น รับเงินและเอกสารต่างๆ จากศาล ข้อ 3 ให้มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญา ได้แก่ การแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ...ฯลฯ ดังนี้จะเห็นได้ว่าการมอบอำนาจเช่นว่านี้เป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนหลายอย่าง คือ ฟ้องคดีแพ่ง ฟ้องคดีอาญา ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีอาญาต่อจำเลยทั้งสองโดยไม่จำกัดว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับเรื่องใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาได้ทุกเรื่องโดยมิได้จำกัดให้ฟ้องคดีแพ่งหรือคดีอาญาได้เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว เป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนาของโจทก์ที่แสดงไว้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 การมอบอำนาจช่วงให้ฟ้องตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นการกระทำที่ผู้รับมอบอำนาจกระทำนอกเหนือขอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ผู้รับมอบอำนาจช่วงไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7190/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีสัญญาชดใช้ทุนข้าราชการ - จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและข้ออ้างเรื่องชดใช้ทุน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ หากจำเลยเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์อนุญาตให้จำเลยรับราชการที่หน่วยงานอื่นเพื่อชดใช้ทุนแก่โจทก์จนครบถ้วนแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้ให้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การเพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในขณะฟ้อง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยไม่อาจยกข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งโจทก์ยังโต้แย้งอยู่ขึ้นอ้างในชั้นบังคับคดีเพื่อไม่ต้องรับผิดตามคำพิพากษา กรณียังถือไม่ได้ว่าไม่มีหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องบังคับต่อไป ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (1) โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้