คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประทีป เฉลิมภัทรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 458 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9904/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความตั๋วสัญญาใช้เงินเริ่มนับจากวันทวงถาม ไม่ใช่วันออกตั๋ว
เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินระบุว่าให้ใช้เงินเมื่อทวงถาม เช่นนี้ วันถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวคือ วันที่ทวงถามให้ใช้เงิน ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 913 (3) หาใช่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ เพราะวันดังกล่าวเป็นเพียงวันที่อาจใช้สิทธิทวงถามได้เท่านั้น เมื่อยังไม่ใช้สิทธิทวงถามก็ยังไม่ถึงวันกำหนดใช้เงิน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ เพราะอายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งก็คือวันถึงกำหนดใช้เงิน
หนังสือทวงถามกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยที่ 1 รับหนังสือทวงถามวันที่ 20 มกราคม 2547 ครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในวันดังกล่าวย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วสัญญาใช้เงินได้นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไป อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ดังกล่าว เมื่อนับถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2547 อันเป็นวันฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน และยังไม่พ้นกำหนด 3 ปี ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1001 ตามลำดับ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9554-9555/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเจ้าหนี้ต่อผู้ครอบครองทรัพย์มรดก: จำเลยต้องเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายชำระเงินตามเช็คที่ผู้ตายลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ โดยมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ทั้งทางนำสืบโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ไม่มีภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีเพียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเป็นทายาทคนเดียว จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นทายาทผู้รับมรดกของผู้ตาย การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหนี้สินจากผู้ตายนั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1734 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น และมาตรา 1737 บัญญัติว่า เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย บทกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิเจ้าหนี้ที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทหรือผู้จัดการมรดกเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่ายชำระหนี้ค่าแชร์ให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขัดขวางการจับกุมและช่วยเหลือผู้ถูกจับกุม ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน
ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. แต่งกายในเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ พกพาอาวุธปืนสั้นแบบเปิดเผย กำลังมอบหมายให้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดำเนินการจับกุม ส. โดยทำการใส่กุญแจมือ ส. ได้เพียงข้างเดียว แล้ว ส. ดิ้นรนขัดขืน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใครเห็นก็ต้องทราบดีว่า ส. กำลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทราบว่า ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาอะไร เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. กำลังเข้าจับกุม ส. อยู่ จำเลยเข้ามาช่วย ส. โดยช่วยดึงแขนดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. จนเป็นเหตุให้ดาบตำรวจ บ. หกล้ม อาวุธปืนสั้นหล่นลงที่พื้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสองแล้ว แต่เจ้าพนักงานตำรวจและ อ. ยังไม่สามารถจับกุม ส. ได้ จึงฟังไม่ได้ว่า ส. ถูกคุมขังอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 191

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5989/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับบำบัดผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ แม้ผู้ต้องหาปฏิเสธ การไม่ดำเนินการถือเป็นความไม่ชอบ
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 และมาตรา 21 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยการบังคับ มิใช่ให้ผู้ที่ติดยาเสพติดเลือกที่จะเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ได้ เพราะบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความระบุไว้ที่ใดเลยว่าให้ตรวจพิสูจน์เฉพาะผู้ที่ให้การรับสารภาพเท่านั้น จึงต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เต็มใจและไม่เต็มใจเข้ารับการฟื้นฟู เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครไม่จัดการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดจำเลยซึ่งให้การปฏิเสธ จึงเป็นการไม่ชอบ และมีหน้าที่ที่จะต้องนำตัวจำเลยกลับไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: อำนาจฟ้องของโจทก์เมื่อคณะอนุกรรมการยุติการฟื้นฟูโดยไม่ครบถ้วน
ผู้ที่จะถูกส่งตัวเข้าไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพคือบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไม่ว่าผู้นั้นจะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้รับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้น ต้องจัดให้มีแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 จำเลยเป็นผู้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวให้รับการบำบัดฟื้นฟูในสถานพยาบาลใกล้บ้านแบบผู้ป่วยนอก และให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ การที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูและขาดการรายงานตัวโดยหลบหนีไปไม่สามารถติดตามตัวได้ เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผน และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 โดยในมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีแก่ผู้รับการฟื้นฟู หากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง ด่วนมีคำสั่งว่า "ปัจจุบันไม่ทราบที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวมาเข้ารับการฟื้นฟู และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการดำเนินคดีอาญา: โจทก์มีอำนาจฟ้องหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
จำเลยกระทำผิดข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยภูมิ ได้ประชุมและมีคำวินิจฉัยผลการตรวจพิสูจน์จำเลยว่า เป็นผู้เสพยาเสพติด และให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง และจำเลยได้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาหกเดือน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดแล้ว เพียงแต่จำเลยผิดนัดไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติครั้งสุดท้ายในโปรแกรมกลับสู่สังคม จึงเป็นเหตุให้พนักงานคุมประพฤติรายงานไปยังคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยภูมิ ว่า ขาดการรายงานตัว 1 ครั้ง และผลการประเมินของจำเลยไม่ผ่านการประเมิน ทั้งมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยยังไม่เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูตามนัยมาตรา 25 จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง และตามพฤติการณ์แห่งคดีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยภูมิจึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป ตามมาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
จำเลยประกอบอาชีพค้าขายขับรถส่งของช่วยมารดาชำระหนี้สินที่มีอยู่มาก โดยไม่นับวันเวลาจนลืมวันนัด กรณีมีเหตุสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีในสังคม จึงให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2902/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อต่อสู้ของตัวแทนต่อผู้ทรงเช็คพิพาท ไม่ขัดต่อมาตรา 916 ป.พ.พ. และการพิสูจน์การผิดสัญญา
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศและค่าติดตั้งแทนบริษัท ค. จึงเป็นการยอมรับว่าจำเลยกระทำในฐานะตัวแทนของบริษัท ค. มิใช่การกระทำในฐานะส่วนตัว ดังนั้นบริษัท ค. ซึ่งเป็นตัวการมีข้อต่อสู้อย่างไรต่อโจทก์ จำเลยในฐานะตัวแทนย่อมยกข้อต่อสู้นั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ได้เช่นกัน กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อต่อสู้ระหว่างจำเลยผู้ถูกฟ้องกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนปัจจุบันโดยตรง หาใช่เป็นข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16243/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดตามเช็ค: การลงลายมือชื่อสั่งจ่ายโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำการแทนผู้อื่น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บุคคลผู้ลงลายมือชื่อในเช็คต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็ค และบุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คจะปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 901
การที่เช็คพิพาทมีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสามเป็นผู้สั่งจ่ายโดยมีชื่อกองทุนสวัสดิการฯ ไว้ แต่ไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำการแทนกองทุนสวัสดิการฯ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามสั่งจ่ายเช็คพิพาทแทนกองทุนสวัสดิการฯ จำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้ประดู่ในที่ดินส่วนตัว: การครอบครองไม้ที่ตัดจากที่ดินของตนเองไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
ไม้ประดู่แปรรูปของกลางตัดมาจากต้นประดู่ในที่ดินของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จะมีไม้ประดู่แปรรูปซึ่งเป็นของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไว้ในครอบครองก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางตาม พ.ร.บ.แร่: หน้าที่การพิสูจน์ของเจ้าของทรัพย์สินในการป้องกันการกระทำผิด
ผู้ร้องขอให้ริบรถของกลางตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 154 ซึ่งมาตราดังกล่าววรรคท้าย บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านผู้ขอคืนของกลาง ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าผู้คัดค้านไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดและจะมีการนำทรัพย์สินของกลางดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด อีกทั้งผู้คัดค้านได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ศาลจึงจะไม่ริบของกลาง แต่ทางนำสืบของผู้คัดค้านได้ความเพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางดังกล่าวและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่อันเป็นข้อนำสืบตาม ป.อ. มาตรา 36 ซึ่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 154 วรรคท้าย มิให้นำมาใช้บังคับ เมื่อผู้คัดค้านไม่สามารถพิสูจน์ข้ออ้างตามพระราชบัญญัติแร่ฯ ดังกล่าวได้ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่เพียงพอที่จะให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินของกลางแก่ผู้คัดค้าน
of 46