คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 90 เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7425/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับโจทก์ ซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้ก่อนแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
กรณีการระบุพยานเพิ่มเติมไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาเอกสารให้ก่อนวันสืบพยาน 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(เดิม) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เพิ่งจะยื่นคำร้องและได้รับอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติมวันที่ 19 มกราคม 2530 ซึ่งได้มีการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองในวันเดียวกันและได้นำสืบพยานเอกสารดังกล่าวในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ซึ่งเป็นการส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยทั้งสองก่อนวันสืบพยานโจทก์ที่เหลือต่อถึง 14 วันมิใช่เป็นกรณีเอาเปรียบจำเลยทั้งสองการที่ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เดินทางไปยังเมืองฮ่องกงเพื่อติดต่อธุรกิจการค้าก็ไปพบกุญแจตรา GOLDDOOR ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่าสวยดีและเป็นที่ประทับใจจึงนำตราดังกล่าวมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้กับกุญแจของจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR ขึ้นเองแต่ไปนำเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นมาจดทะเบียน โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า GOLDDOOR และอักษรจีนอ่านว่ากิมหมึ่งไป๊ กับเส้นลายประดิษฐ์ตัวอักษรโรมัน GD และได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลยทั้งสองโจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าจำเลยทั้งสอง แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แต่โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเครื่องหมายการค้านั้น จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองมีขนาดเท่ากันมีเครื่องหมายการค้าเป็นตัวอักษรโรมัน อักษรจีน ตัวเลข และสีสันเช่นเดียวกัน การวางตำแหน่งของตัวอักษร ตัวเลข เครื่องหมาย และรูปอักษรประดิษฐ์อยู่ในตำแหน่งเดียวกันทุกอย่าง คงแตกต่างกันเพียงว่าที่กล่องบรรจุสินค้าของโจทก์มีข้อความว่า MADEINCHINAซึ่งพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีดำอยู่บนพื้นสีแดงด้วย ส่วนกล่องบรรจุสินค้าของจำเลยทั้งสองไม่มีข้อความดังกล่าวซึ่งข้อความดังกล่าวพิมพ์ด้วยตัวอักษรเล็กมาก หากไม่พิจารณาโดยพินิจพิเคราะห์อย่างแท้จริงจะไม่มีทางทราบว่ากล่องใดเป็นสินค้าของโจทก์ กล่องใดเป็นสินค้าของจำเลยทั้งสอง โจทก์ส่งสินค้ากุญแจของโจทก์มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2524 จำเลยทั้งสองเพิ่งผลิตสินค้ากุญแจของจำเลยทั้งสองออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1ได้ไปพบเห็นสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่าGOLDDOOR ที่เมืองฮ่องกง แล้วจำเลยที่ 1 นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจดทะเบียนในประเทศไทย แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะลวงให้สาธารณชนหลงผิด เป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้น้อยลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะนำสืบไม่พอให้ฟังว่าโจทก์ได้รับความเสียหายถึงจำนวนที่อ้างในคำฟ้อง ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องหนี้สัญญา กู้ยืม และการรับฟังพยานหลักฐาน ศาลมีอำนาจรับฟังได้หากมีเหตุผลความจำเป็น
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้เงิน2 ฉบับ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2518 ไม่มีกำหนดเวลาชำระเงินคืนมีจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง จำเลยทั้งห้ายื่นคำให้การแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่2 มีนาคม 2532 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันชี้สองสถาน จำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพิ่มข้อต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปี ดังนี้เห็นได้ว่าวันที่โจทก์ยื่นฟ้องและวันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1กู้เงินโจทก์ปรากฏอยู่ในฟ้องแล้ว และจำเลยทั้งห้าทราบมาแต่แรกที่ได้รับสำเนาฟ้องแล้วว่าการกู้เงินตามที่กล่าวในฟ้องเป็นการกู้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระเงินคืน ซึ่งอายุความฟ้องร้องย่อมเริ่มนับทันทีที่โจทก์ให้กู้ไป จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพื่อเพิ่มเติมข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความได้ก่อนวันชี้สองสถาน แม้จำเลยทั้งห้าจะยังไม่ได้รับสำเนาสัญญากู้เงินจากโจทก์ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่จำเลยอาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความก็ปรากฏอยู่ในคำฟ้องก่อนวันชี้สองสถานแล้ว จำเลยทั้งห้าหาจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องจากสำเนาสัญญากู้แต่อย่างใดไม่ทั้งเรื่องที่ขอแก้ไขคำให้การนี้ก็ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การเพื่อให้มีข้อต่อสู้เกี่ยวกับอายุความภายหลังวันชี้สองสถาน จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง (เดิม) ตามฟ้องโจทก์ปรากฏอยู่แล้วว่า โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยทั้งห้าตามสัญญากู้เงิน 2 ฉบับ เป็นเงิน 544,600 บาท และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วคงค้างอยู่ในวันคิดบัญชีคือวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531เป็นต้นเงิน 164,000 บาท และดอกเบี้ย 150,564.09 บาทดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายแจ้งชัดแล้วว่า หนี้ต้นเงินจำนวน164,600 บาท ที่ค้างชำระคิดมาจากยอดหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับดังกล่าว และการกล่าวถึงดอกเบี้ยก็เข้าใจได้อยู่แล้วว่าหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินที่ค้างชำระอยู่ดังกล่าวโดยนับถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2531 นั่นเองส่วนรายละเอียดในการคิดบัญชีนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วจึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ได้แสดงความจำนงอ้างสัญญากู้เป็นพยานโดยยื่นบัญชีระบุพยานตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคแรกแล้ว แต่ในการสืบพยาน โจทก์มิได้ส่งสำเนาสัญญากู้ดังกล่าวให้จำเลยทั้งห้าก่อนวันสืบพยานอย่างน้อย 3 วันดังที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว ก็ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารสัญญากู้ดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าแก้ไขคำให้การในข้อที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้วซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาในประเด็นเรื่องอายุความตามที่จำเลยทั้งห้าฎีกาขึ้นมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน แต่เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม
แม้โจทก์จะไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารทั้งหมดหรือบางส่วนโดยเฉพาะด้านหลังเช็คที่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 สลักหลังไว้ให้แก่จำเลยที่ 3 ก่อนวันสืบพยานตามที่ระบุไว้ในมาตรา 90(เดิม) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็ตาม แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับโดยเด็ดขาดตายตัว หากเอกสารที่อ้างนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวก็เป็นข้อแสดงให้เห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้จะฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(เดิม) ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุพยานเพิ่มเติมในคดีล้มละลาย: ศาลมีอำนาจรับฟังได้หากเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการ
จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเพื่อจะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างคำพยานโจทก์และให้เห็นว่าตนมีทรัพย์สินซึ่งมีราคาพอชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี และพยานหลักฐานดังกล่าวก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว ก็มีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ซึ่งในชั้นนี้และในกรณีนี้หมายถึงมีอำนาจอนุญาตให้ระบุพยานเพิ่มเติม และทำการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้เอง ส่วนการสืบพยานที่จะกระทำต่อไปนั้น คู่ความยังคงต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกระบวนพิจารณาที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 หรือมาตรา 89 เป็นต้นแล้วแต่กรณี วิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 การที่มาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483บัญญัติไว้ว่าในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้ ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 นั้น มิได้หมายความว่าศาลจำต้องรับฟังพยานหลักฐานที่นำสืบโดยวิธีที่มิชอบด้วยกฎหมาย เอกสารแสดงการตีราคาทรัพย์สินที่บริษัทเอกชนทำขึ้นซึ่งจำเลยนำมาเป็นพยานหลักฐานด้วยการถ่ายสำเนามาโดยไม่มีต้นฉบับมาแสดงและโจทก์จำเลยมิได้ตกลงกันว่าสำเนาเอกสารฉบับดังกล่าวถูกต้องแล้ว ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้นำสำเนามาสืบเนื่องจากต้นฉบับหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นและมิใช่สำเนาเอกสารที่อยู่ในความอารักขาของทางราชการที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรับรองตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 แต่อย่างใดยิ่งกว่านั้นการนำสืบเอกสารดังกล่าวของจำเลยเป็นการนำสืบเพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ในเวลาที่พยานโจทก์เบิกความ จำเลยหาได้นำเอกสารดังกล่าวมาถามค้านเพื่อให้พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายข้อความในเอกสารดังที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 กำหนดไว้ไม่ เอกสารดังกล่าวจึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยมิชอบด้วยกระบวนพิจารณาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้คัดค้านแล้วดังนั้น เอกสารและคำพยานที่เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว จึงเป็นเอกสารและคำพยานที่ต้องห้าม จะรับฟังหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน (ใบมรณบัตร) แม้มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 90 ว.พ.พ. หากโจทก์ไม่เสียเปรียบ
จำเลยยื่นบัญชีพยานระบุอ้างใบมรณบัตรเป็นพยานไว้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ทั้งได้ส่งเอกสารดังกล่าวประกอบการถามค้านพยานโจทก์ปากแรกด้วย โจทก์จึงย่อมทราบข้อความของเอกสารใบมรณบัตรก่อนสืบพยาน โจทก์เสร็จสิ้นและมีโอกาสนำพยานมาสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวได้ การที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 โดยมิได้ส่งสำเนาใบมรณบัตรให้แก่โจทก์ล่วงหน้าก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันนั้นจึงไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)