คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ม. 27

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 428/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ การกระทำความผิดกรรมเดียวแต่หลายบท และการแก้ไขปรับบทโทษ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานในการลงโทษจำเลย แต่เป็นการห้ามมิให้รับฟังเฉพาะคำรับสารภาพของจำเลยเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยนั้นเอง มิได้ห้ามรับฟังถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยอื่นด้วยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลย่อมนำถ้อยคำในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกที่พาดพิงว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกระทำความผิดด้วย มารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ และคำให้การในชั้นสอบสวนถือเป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอด แต่กฎหมายมิได้ห้ามรับฟังเสียทีเดียว หากมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานประกอบอื่นมาสนับสนุน ก็สามารถรับฟังลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 227/1
ป่าที่เกิดเหตุเป็นเขตอุทยานแห่งชาติและเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองจึงเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่งด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานนี้เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติกับความผิดฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานร่วมกันกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ และฐานร่วมกันยิงปืนในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญา: ข้อผิดพลาดในการอ้างบทกฎหมาย-ฐานความผิด ศาลมีอำนาจปรับบท-แก้ไขฐานความผิดได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเก็บหา นำออกไปและทำด้วยประการใด ๆ อันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 16 (2) (15) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และมีบทลงโทษตามมาตรา 24, 26 และ 27 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมี "อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด" ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเพียงแต่อ้างบทลงโทษตามมาตรา 24, 25 และ 27 โดยไม่ได้อ้างบทความผิดตามมาตรา 16 มาด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเกินคำขอเสียทีเดียวหรือเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้อง และไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ แต่อย่างใด เมื่อข้อหาความผิดหนึ่งต้องมีบทความผิดกับบทลงโทษประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่ในมาตราเดียวกันหรือแยกกันอยู่คนละมาตราก็ได้ การที่โจทก์เพียงอ้างมาตราในกฎหมายที่เป็นบทความผิดหรือบทลงโทษเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานความผิดนั้นสมตามฟ้อง ทั้งบทลงโทษที่บัญญัติไว้ก็เชื่อมโยงไปถึงบทความผิด อันเห็นได้ถึงบทมาตราที่ถูกต้องครบถ้วน และการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายเช่นใด ก็อยู่ในขั้นตอนปรับบทกฎหมายอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของศาล ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องนี้ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคห้า
ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ "เลื่อยโซ่ยนต์" หมายความว่า "(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว" อันเป็นการกำหนดไว้เฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่าเลื่อยโซ่ยนต์คดีนี้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิพากษายกฟ้องความผิดข้อนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งจ่ายสินบนนำจับในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และการรอการลงโทษจำคุกสำหรับความผิดฐานเก็บหาของป่า
ที่ศาลล่างทั้งสองจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับในความผิดฐานเก็บหาของป่าหวงห้ามในเขตอุทยานแห่งชาติตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ นั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้ให้อำนาจศาลที่จะสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับได้ดังเช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินสาธารณะ - เจตนา - ความสุจริต - การอนุญาตที่ไม่ชอบ - การนำสืบพยาน
พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังได้ไม่แน่ชัดว่าจำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครอง ที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ จำเลยจึงขาดเจตนา ในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ
พ. รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ทำขึ้นสำเนาเอกสารที่ พ. ซึ่งเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ในภายหลังได้ส่งมาตามหมายเรียกของศาล โดยมีนักวิชาการป่าไม้ 6 กองอุทยานแห่งชาติรับรองสำเนาถูกต้องจึงอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคสอง แม้ พ. มิได้มาเบิกความก็ตาม
จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า พ. ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นมีอำนาจโดยชอบในการที่จะอนุญาตให้สร้างบังกะโลบนเกาะเสม็ดได้จำเลยจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจำเลยจึงไม่มีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามฟ้อง
ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณา คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด